วันเสาร์, กรกฎาคม 05, 2557

น้ำตาแม่อาย : หนังสั้น รางวัลชมเชย 10 หนังสั้นศาลปกครอง


https://www.youtube.com/watch?v=P2orf4acWCo&list=UU9WJdby7lHsIj9yub29odMQ

น้ำตาแม่อาย
เมื่อบุญต้องต่อสู้ พร้อมกับรอคอยกฏหมาย ให้เกิดความยุติธรรมของสังคมไทย จนกระทั่งวันพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ในการอ่านคำพิพากษา โดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ รู้สึกความปลื้มปีติยินดี จากผ่านความเศร้าโศกเสียใจกว่าจะได้รับควา­มยุติธรรม.

*10 หนังสั้นศาลปกครอง - รางวัลชมเชย
Published on Jun 11, 2014

เหตุไฟไหม้ที่ว่าการอำเภอแม่อาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกบัตรให้ได้ เนื่องจากอ้างว่าข้อมูลถูกไฟไหม้เสียหาย และต่อมาบุญ กับครอบครัว มีปัญหาจากไม่มีบัตรประชาชน ในเรื่องการทำงาน สิทธิรักษาพยาบาล จึงรวมตัวกับชาวบ้าน ยื่นหนังสือต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ และแล้ววันพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ในการอ่านคำพิพากษา โดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ รู้สึกความปลื้มปีติยินดี จากผ่านความเศร้าโศกเสียใจกว่าจะได้รับควา­มยุติธรรม.
*10 หนังสั้นศาลปกครอง - รางวัลชมเชย

เรื่องเกี่ยวข้อง...

คนทำงาน...เบื้องหลังชัยชนะ วันที่ "ชาวแม่อาย" ไม่สะอื้น
ที่มา ผู้จัดการ Online

รอฟังคำตัดสินที่จะกลับคืนมาเป็นคนไทยด้วยความหวัง
วินาที...ที่ศาลปกครองอ่านคำพิพากษาตัดสินให้มีการเพิกถอนประกาศอำเภอแม่อาย คืนความเป็น"ไทย" ให้กับคนไทย เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมิอาจลืมเลือน...ริ้วรอยของการต่อสู้ เฝ้ารอ และคราบน้ำตาของชาวบ้านแม่อาย บนความทุกข์ทนตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา วันนี้จึงแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาแห่งความปลี้มปีติ ยินดี

ความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากความสามัคคี ความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวบ้านแม่อายเองแล้ว ยังมีบุคคลอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็น ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย นายวินิจ ล้ำเหลือ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ ผู้ผลัดถิ่น แรงงานต่างด้าว สภาทนายความ กฤษฎา บุญราช อดีตนายอำเภอแม่อาย ในฐานะผู้แทนชาวบ้าน ที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านมาโดยตลอด รวมทั้งอีกหลายๆ คนที่อาจไม่ได้กล่าวไว้ ณ ที่นี้


แต่หากเอ่ยถึงผู้เป็น "มันสมอง" ที่ช่วยให้ขบวนการชาวบ้านได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า "อาจารย์แหวว" รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร...เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เรียกได้ว่า ทุ่มเททั้งพลังกาย พลังใจ บุกลงพื้นที่เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการ สอนกฎหมายให้แก่ชาวบ้าน โดยการหว่านเมล็ดพันธุ์ และบ่มเพาะพืชผล ลูกศิษย์อาจารย์แต่ละคนกลายเป็นกำลังหลักในการช่วยให้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นต่อสู้ด้วยสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะรู้จักกับอาจารย์แหวว เราย้อนไปทำความเข้าใจกับปัญหาของชาวบ้านแม่อายที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการจากวันนั้น...จนถึงวันนี้ก่อนดีกว่า

เส้นทางการต่อสู้ของ "คนแม่อาย"

หากจะทำความเข้าใจเรื่องราวของชาวแม่อายจะต้องเข้าใจก่อนว่า ชาวแม่อายเป็นคนไทย ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่แนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า และเป็นเขตทับซ้อนทางอธิปไตยระหว่างไทย-พม่า ด้วย

ตรงนี้ อาจารย์แหวว เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกชาวแม่อายอาศัยสบยอน ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำกกและแม่น้ำยอนมาชนกัน และเป็นกึ่งกลางชายแดนไทย-พม่าในการทำมาหากินมาโดยตลอด จนกระทั่ง อ.แม่อายเปิดให้มีการทำบัตรประชาชนครั้งแรก ในปี 2507 แต่ด้วยความห่างไกล และไม่รู้หนังสือ จึงทำให้มีชาวบ้านบางส่วนตกหล่น

"เป็นความผิดของชาวบ้านหรือ ที่ไม่รู้ความสำคัญของบัตรประชาชน ชาวบ้านสมัยนั้นอ่านหนังสือยังแทบจะไม่ออก ฉะนั้น เมื่อพูดถึงยายหล้า ที่เกิด พ.ศ.2453 เป็นคนไทยโดยกฎหมายจารีตประเพณี ถ้าชุมชน สังคมยอมรับว่าเป็นไทยก็คือคนไทย ดังนั้น ยายหล้าจึงเป็นบุคคลที่เกิดก่อนกฎหมายทะเบียนราษฎรต้องเข้าใจ ตอนนี้มีหลายอำเภอทางภาคเหนือที่ให้ผู้เกิดก่อนทะเบียนราษฎรมีสูติบัตร จึงเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครเกิดในโรงพยาบาล จึงไม่เคยมีหนังสือรับรอง เรียกร้องอะไรก็ไม่มี"

หลังจากนั้น ชาวบ้านจึงทยอยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร แต่ช่วงนั้นเกิดไฟไหม้อำเภอ เอกสารต่างๆ สูญหาย เมื่อชาวบ้านไปขอทำบัตรใหม่อำเภอก็ไม่ออกให้ ประกอบกับช่วงนั้นมีคนพม่าอพยพหนีตายจากสงครามเข้ามามากทำให้ชาวบ้านยิ่งลำบาก ช่วงปี 2519-2520 อ.แม่อายได้ออกบัตร "ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า" เมื่อชาวบ้านทราบก็ไม่ยอมรับ เป็นเหตุแห่งการถวายฎีกาพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว กระทั่งทรงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และทาง อ.ตรวจสอบ หลังจากนั้นชาวบ้านก็ได้ทำบัตรประชาชนไทย มีรายชื่อในทะเบียนราษฎร ได้รับการยืนยันว่ามีสัญชาติไทย โดยนายอำเภอกฤษฎา บุญราช และนายอำเภอ ชยันตร์

ไม่กี่ปีต่อมา ชาวบ้านแม่อาย 1,243 คนก็ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎร ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ชาวบ้านมาทราบก็ต่อเมื่อไปตรวจรายชื่อเพื่อใช้สิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน สุดท้ายชาวแม่อายต้องวิ่งโร่ไปร้องเรียนที่นั่น ที่นี่ รวมทั้งฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งถือเป็นที่พึ่งสุดท้าย โดยศาลปกครองชั้นต้น จ.เชียงใหม่ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ว่า คำสั่งของนายอำเภอที่จำหน่ายรายชื่อชาวบ้าน 1,243 คน ออกจากทะเบียนราษฎร(ทร.14) เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ม.30 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพราะไม่ประกาศให้ทราบ และไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พิสูจน์ตนเองก่อน

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548 ตุลาการผู้แถลงคดีของศาลปกครองสูงสุด ได้สรุปความเห็นโดยกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นว่า คำสั่งจำหน่ายรายชื่อชาวบ้านออกจาก ทร.14 ของนายอำเภอแม่อาย เป็นคำสั่งที่ถูกต้องแล้ว ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 เนื่องจากไม่กระทบต่อความมีสัญชาติไทย

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยชี้ขาดตามศาลปกตรองชั้นต้นเชียงใหม่ คืนสัญชาติไทยให้ "ชาวแม่อาย"

อาจารย์แหวว บอกว่า วันนี้สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมคือ เรื่องมันยังไม่จบ ความเสียหายยังไม่ได้รับการเยียวยา แล้วก็เป็นความเสียหายที่ชาวบ้านช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ต้องมีคนเข้ามาช่วย เช่น เรื่อง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)บอกเลิกสัญญา ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจน ทำให้ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ถ้าไม่ถูกอำเภอจำหน่ายชื่อออก ก็ยังสามารถใช้สิทธิของเกษตรกรกู้ยืมเงินได้ ดังนั้น การที่คุยกับ ธกส.ไม่ใช่ของง่าย ก็เหมือน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ต้องมีคณะกรรรมการเยียวยาความเสียหาย คณะกรรมการจะมีการจัดตั้งหรือไม่ กำลังสับสน เพราะทุกคนกำลังเฉลิมฉลองความสำเร็จกันหมด

คนทำงาน...เบื้องหลังความสำเร็จ

มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร... มีบทบาทสำคัญอย่างไรในชัยชนะของชาวแม่อาย "รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร"หรือ อาจารย์แหวว เป็นบุคคลที่คนในวงการนักกฎหมายคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมาย อาจารย์แหววเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ ได้คลุกคลีกับกับชุมชน ชาวป่า ชาวเขา เกี่ยวพันกับเรื่องสัญชาติมานานนับ 10 ปี

จุดเริ่มต้นที่ชักนำอาจารย์แหวว มาเกี่ยวพันกับชาวแม่อาย เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ อาจารย์แหวว เล่าว่า ช่วงปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงที่อำเภอแม่อายออกประกาศให้จำหน่ายบุคคลจำนวน 1,243 คน ออกจากฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎร (ทร.14)และบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ๆ โดยที่ตอนแรกตั้งใจจะเข้าไปคอยช่วยเหลือเท่านั้น เพราะเห็นว่ามีคนเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านมากอยู่แล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าเราเข้าไปเป็นแม่งานเสียเอง

"เรื่องแม่อายถือเป็นเรื่องใหญ่ได้มีการติดต่อประสานงานกันมาตลอดโดยสภาทนายความรับจัดการดูแลเรื่องกฎหมาย ขณะที่ตนเองก็เป็นอนุกรรมาธิการของเด็กไร้สัญชาติของ สว. จึงเสนอให้นำเรื่องนี้มาดูแล สว.ลงช่วยสำรวจชุมชน รวมทั้งเสนอไปยัง คุณหญิงอัมพร มีศุข คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มที่คณะกรรมการสิทธิฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยมีการลงไปพิสูจน์ชุมชน เพราะหากเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เราก็ไม่รู้ว่าจะไปอ้างกฎหมายยังไง มาช่วยพิสูจน์สิทธิ์ คุณหญิงอัมพรก็เห็นด้วยที่จะเข้าไปพิสูจน์สัญชาติชาวแม่อาย"

จากนั้นจึงผลักดันทีมงานที่พอจะทำงานได้ ฝึกฝนเด็กใหม่ๆ เพิ่ม เพื่อเตรียมลงชุมชน อาจารย์แหวว บอกว่า งานแรกที่ต้องทำ คือ งานทำความเข้าใจให้แก่ชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ซึ่งการที่เราต้องไปนั่งอธิบายให้เขาฟังว่า เขาจะต้องทำอย่างไรบ้าง ตั้งแต่การสืบเชื้อสาย เรียงลำดับญาติ ตระกูล ในมาตรฐานของการพิสูจน์สัญชาติไทยจะต้องมีพ่อแม่เป็นไทย หรือพ่อเป็นไทยแม่เป็นต่างด้าว ยกตัวอย่างกรณีแม่คำก็ต้อง พิสูจน์ว่าเกิดในประเทศไทย สืบหาคนทำคลอดเป็นเรื่องที่ต้องทำบันทึกมากมาย

"ช่วงแรกที่เข้าไปหาเขา ไปทำความเข้าใจกับเขา น้ำตามันตก ร้องไห้ หวาดกลัวมากมาย พอบอกว่าจริงๆ แล้วการพิสูจน์สัญชาติไทยจะต้องทำอย่างไรบ้าง ยังจำได้ไม่ลืม เขาร้องไห้กันทั้งวัน ช่วงนั้นทำให้เกิดความสนิทสนมกันจริงๆ เราสอนเขาแบบครูไหวใจร้าย ไม่ได้อย่างใจ ไม่เข้าใจก็ตำหนิ ดุเขา เราผ่านทั้งทุกข์และสุขมาด้วยกัน"

อาจารย์แหวว เล่าต่อว่า ช่วงที่ทำทีมลงไปสำรวจนี้เอง มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านเป็นเดือนๆ เราสังเกต สัมภาษณ์แล้วสุ่มเลือกมา 6 กรณี เพื่อศึกษาว่ากรณีใดเป็นผู้มีสัญชาติไทย เพื่อนำมาใช้เป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นๆ จนพบว่ามี 4 กลุ่ม แน่ๆ ที่มีสัญชาติไทย ด้วยการใช้มาตรฐานของการพิสูจน์พยานบุคคล พยานชุมชน ส่งผลให้ครั้งนั้นชาวแม่อาย 122 คน ได้รับสัญชาติคืน ร่วมกับวิธีการตรวจดีเอ็นเอ

ตอนนี้เรามีแกนนำชาวบ้านกว่า 10 คนแล้ว ถ้าไม่มี 6 คน นี้ จะไม่มีทางสำเร็จเลย อย่าง คน 2 คนแรกที่ลงไปสำรวจ ศริญญา กิจพะยูน และ ชุติ งามอุรุทเลิศ พวกเขานี่แหละที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จตัวจริง เขาได้ลงไปตรวจโรคไร้สัญชาติ เก็บข้อมูลทำทุกอย่างไม่ได้หลับได้นอน เรียกได้ว่า แทบจะรู้จัก 1,243 คน 370 ครอบครัวที่นั่น อีกทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มแกนนำ

"จริงๆ แล้วช่วงนั้นกรมการปกครองก็เข้าใจแล้วว่า ในกลุ่มชาวบ้านที่มีการถอนชื่อมีกลุ่มที่ทำพลาดน่าจะเช็กใหม่เพราะถ้าเช็กใหม่ก็จะจบ ซึ่งกว่าจะได้สัญชาติคืนกลับมาให้คนทั้ง 122 คนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน 122 คนต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีทีเดียว วันนี้จะต้องทำกับพันกว่าคนที่เหลือ ไม่รู้กี่ปี ดังนั้น จึงควรชดเชยความเสียหายให้เขาก่อน"

ยกที่ 2 เยียวยาความเสียหาย

อย่างไรก็ตามหลังคำพิพากษาของศาล ซึ่งชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะนั้น ความคิดที่ว่าต่อจากนี้ชาวบ้านจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของชาวแม่อายผุดขึ้นมา...สิ่งที่หลายคนคิดตรงกันคือชาวบ้านต้องได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปี

อาจารย์แหวว ย้ำว่า หลายคนคิดว่าแค่คืนบัตร คืนชื่อในทะเบียนราษฎรแล้วจบ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ชาวบ้านทุกคนต่างได้รับผลกระทบ เช่น แม่คำป่วยแต่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งๆ ที่ ผ่องศรี อินหลู่ ซึ่งเป็นลูก รับราชการมีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ หรือเขาต้องเสียสิทธิ์ในการทำมาหากิน สิทธิ์ในการสงเคราะห์เรื่องเล่าเรียน ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ดังนั้น จากนี้ไปเราคงต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจ ใครทำอะไรตรงไหน เพื่อให้ความช่วยเหลือกับชาวบ้านไม่เช่นนั้น ชาวบ้านคงไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร

"งานนี้ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร แต่คงต้องเรียกร้องให้ทุกคนกลับมาร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพ และขอให้ชาวแม่อายมีความเข้มแข็ง นางบุญ(ชาวบ้านแม่อาย) บอกว่า ยังไม่มีการเยียวยาอะไรเลย ซึ่งตรงจุดนี้รัฐเองก็คิดว่าประชาชนต้องไปร้องขอเอง ข้างฝ่ายประชาชนก็ลืมว่าเรียกค่าเสียหายได้ แล้วจริงๆ จำเป็นหรือไม่ที่ประชาชนจะต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อรัฐบาล ช่วยประชาชนโดยไม่ฟ้องได้ไหม เพราะถ้าฟ้องชาวบ้านก็ต้องลำบากอีก นี่เรากำลังจะไปคุยกับนายกรัฐมนตรี ผ่านบ้านพิษณุโลก เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเยียวยาความเสียหาย โดยไม่ต้องฟ้องทำยังไงให้ช่วยเหลือชาวบ้านได้"

อาจารย์แหวว บอกอีกว่า อีกไม่นาน คณะกรรมการทั้ง 7 ชุดของกรมการปกครองก็จะลงไปตรวจพิสูจน์สถานะบุคคลของชาวบ้านเป็นรายบุคคล ดังนั้น การตรวจเช็กจึงจะต้องสร้างเกณฑ์ที่ชัดเจนอาจอิงพยานบุคคลและพยานแวดล้อม เพราะหากเกิดกรณี คนทำคลอดตาย ก็จะทำให้ขาดพยานบุคคล ซึ่งตามหลักนิติศาสตร์ควรจะกำหนดเกณฑ์ที่เป็นคุณกับบุคคล โดยไม่เอาความจริงไปผูกกับความเชื่อของคนใดคนหนึ่ง

"ก่อนที่จะคณะกรรมการทั้ง 7 ชุดลงไปตรวจสอบ ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการที่ชำระเกณฑ์ว่าใครเป็นไทยเป็นพม่าก่อน ไม่เช่นนั้นทีมที่ลงไปจะสะเปะสะปะ แล้วก็ช้าอยู่ดีเพราะไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากแต่ละกรณีจะค่อนข้างยาก อาจจะผิดหรือถูก เพราะครั้งแรกที่ไปมีคนพยายามบอกว่า สบยอนเป็นประเทศพม่า ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ยังไม่ปักปันเขตแดนชัดเจน คนที่เกิดสบยอนไม่ได้กลับมาทำบัตรประชาชนในปี 2507 เจ้าหน้าที่ก็เข้าไม่ถึง เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย"

อาจารย์แหวว บอกว่า สิ่งที่กรมการปกครองควรจะทำพร้อมกับการพิสูจน์ตัวบุคคล คือ ต้องสำรวจความเสียหาย ทั้ง 370 ครอบครัวด้วย โดยการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางมีความรู้เรื่องกฎหมาย รวมทั้งตั้งกรรมการประสานงาน เพราะเป็นคนก่อให้เกิดเรื่องขึ้น เมื่อวันนี้คนแม่อายยังได้สัญชาติคืนไม่ครบ แต่ถ้าเดินทาง แล้วถูกตำรวจจับได้มีการประสานงานกับตำรวจหรือยัง หรือ ถ้าป่วยแต่ยังไม่มีบัตร 30 บาท มีการประสานงานกับโรงพยาบาลหรือไม่ รวมทั้ง 3 ปี ที่เสียสิทธิประกันสังคม จะชดเชยอย่างไร ซึ่งความเสียหายในแต่ละครอบครัวจะต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคล

สำหรับปัญหาคนไร้สัญชาติในวันนี้ เป็นเรื่องเรื้อรังและจะรุนแรงหากเราไม่แก้ไข เยียวยา หากถามว่าปัญหานี้รุนแรง ยิ่งใหญ่แค่ไหน คนไร้สัญชาติ ไร้บ้าน มีทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ถือบัตรผู้ไร้สัญชาติในประเทศมี 2 ล้านคน สำหรับคนไร้สัญชาติแล้ว การต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ย่อมร้ายแรงเสมอ

ส่วนสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การต้องทุ่มเทลงไปผลักดัน ยุทธศาสตร์คนไร้สัญชาติ จับมาเขียนสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลยอมรับ คิดว่าทำสำเร็จได้แน่ ทำให้คนไร้สัญชาติเรียนรู้ รู้วิธีแก้ไข เอาสูตรตรงนี้ใส่มือชุมชน เพื่อให้เจ้าของปัญหารู้จักปัญหา รู้จักทางออกมากขึ้น เรียกได้ว่า ขณะนี้ปีๆ หนึ่งมีบุคคลไร้สัญชาติผ่านมืออาจารย์แหวว ไม่ต่ำกว่า 5,000 แม้ว่าจะช่วยได้บ้างไม่ได้บ้างก็ตามที

สุดท้าย อาจารย์แหวว บอกความในใจว่า จริงๆ แล้วไม่ได้อยากทำงานแบบนี้นัก คงไม่มีใครชอบเรื่องเครียดๆ แต่ก่อนถูกสั่งให้ทำก็ทำได้ แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้ถ้าเราไม่ทำก็ไม่สบายใจ ถ้าไม่ทำเราก็ต้องโทษตัวเอง ทำไมไม่ช่วยเขา มาถึงวันนี้ทำให้มีคนมาเป็นหมื่น เป็นพัน มาเป็นหมู่บ้าน ขอร้องให้ช่วย เราจะโยนเขาทิ้งไม่ได้ ดังนั้น ขอสารภาพเลยว่า เราไม่ได้ทำเพราะใจรักแต่มันมีความรู้สึกว่า ถ้าไม่ทำมันนอนตายตาไม่หลับ ทั้งชีวิตจึงต้องทุ่มให้กับงาน

"ที่ผ่านมาตลอด 3 ปี ที่ผูกพันกับชาวบ้านจากที่ไม่รู้จักใครสักคน กลายเป็นว่า เวลาเขาท้อ เวลาเขามีปัญหา เขาก็คิดถึงเรา โทรศัพท์มาหา ดังนั้น เมื่อชาวบ้านชนะ น้ำตาแห่งความดีใจย่อมหลั่งไหลออกมาเป็นธรรมดา แต่ทุกวันนี้ก็ยังนอนไม่หลับนะ เมื่อเห็นภาพของความเข้าใจมันจบลงแค่คืนบัตรคืนชื่อลงทะเบียนราษฎร แต่สิทธิและการเยียวยาที่ชาวบ้านควรได้รับถูกละเลย"

****

วันนี้...ที่ทุกคนต่างก็มีความสุข

"ขอบพระคุณสื่อมวลชน อาจารย์พันธุ์ทิพย์ ครูแดง นายอำเภอกฤษฎา สภาทนาย หลายต่อหลายคนที่ลงมาช่วยโดยที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกันมากมาย รวมทั้งความสามัคคีของพวกเราชาวบ้านทุกๆ คน" นาง บุญ พรหมมา วัย 40 ปี ชาวบ้านแม่อาย หนึ่งในชาวบ้าน 1,243 คน ที่ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฏรในปี 2545 เผยความรู้สึกในใจ

นางบุญ บอกอีกว่า รู้สึกดีใจมากที่ชาวบ้านชนะ เราไม่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว กลับมามีความสงบสุขในชีวิต มีสิทธิทุกอย่างเหมือนคนไทย เพราะเราเป็นคนไทย แต่ก็สวดภาวนาขออย่าให้ราชการมีความคิดที่จะถอนสัญชาติอีกเลย

บุญ บอกว่า ยินดีให้อำเภอเข้ามาตรวจสอบความเป็นไทยของพวกเรา ไม่เป็นห่วงเพราะมั่นใจ ส่วนการจะเยียวยาให้กับเรา ถามว่าเสียหายยังไงบ้างในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มันแทบประเมินค่าไม่ได้ ทุกคนเดือนร้อน ทุกข์กายทุกใจ เราอยากให้มีการตั้งกรรมการเยียวยาโดยตรวจความเสียหายของแต่ละคนแต่ละครอบครัว

ส่วน จันทราภา นนทวาสี ผู้ปฎิบัติงานลงพื้นที่อย่างมานะบากบั่น ในทีมของ ครูแดง สว.เชียงราย บอกว่า รู้สึกมีความสุขมากที่สุดในโลก ที่ผ่านมาเหนื่อยมาก เพราะชาวบ้านจะฝากความหวังไว้ที่เรา ชัยชนะวันนี้เป็นกำลังใจในการทำงานแก้ไขปัญหากับกลุ่มผู้ไร้สัญชาติที่มีอีกมากมาย

"มาถึงวันนี้ เคยตั้งคำถามกับตัวเองนะ งานเราจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เราก็รู้คำตอบว่ามันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก เรายังคงต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ แต่หากหมดวาระของ ส.ว.ชุดนี้ เราก็ต้องมุ่งหน้าทำงานด้านนี้แต่ช่วยด้วยช่องทางทางอื่นต่อไป"จันทราภาตอบอย่างมุ่งมั่น

เรื่อง/วรรณภา บูชา