วันจันทร์, กรกฎาคม 07, 2557

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกรณีการควบคุมตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 + บันทึกความทรงจำถึง ปุ๊ ธนาพล คนจริง


แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกรณีการควบคุมตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล ซ้ำเป็นครั้งที่ 2
อ้างโพสต์ข้อความออนไลน์ขัดเงื่อนไขการปล่อยตัว
เผยแพร่วันที่ 6 กรกฎาคม 2557

ที่มา มติชนออนไลน์

สืบเนื่องจากนายธนาพล อิ๋วสกุล เป็นผู้ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/ 2557 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาโดยต้องลงนามในเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบที่ 39/2557 เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่ยอมแจ้งชื่อและตำแหน่งได้ขอนัดหมายกับนายธนาพลฯ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 ในสถานที่สาธารณะแห่งหนึ่ง โดยนายธนพลฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี

แต่กลับปรากฏว่า นายธนาพลฯ ถูกควบคุมตัวและนำตัวไปค่ายทหารโดยรถยนต์ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นรถหรือยานพาหนะของราชการ อีกทั้งผู้ที่ทำการควบคุมตัวนายธนาพลฯ ก็ไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จับกุมตามกฎอัยการศึกแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ได้มีการนำตัวนายธนาพลฯ ไปยังกองบังคับการปราบปรามโดยยังไม่การแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่มีการอ้างถึงการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ของนายธนาพลฯ หลังการได้รับการปล่อยตัวว่าอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขของการได้รับการปล่อยตัวตามประกาศดังกล่าวข้างต้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวและกรณีอื่นซึ่งได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ดังต่อไปนี้

1. การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 39/2557 กรณีผู้ไปรายงานตัว และฉบับที่ 40/2557 กรณีผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ซึ่งให้ผู้ถูกปล่อยตัวระบุที่พักอาศัย ห้ามออกนอราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต และห้ามเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมืองใดๆ เป็นเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องเป็นกรณียกเว้นที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และต้องกระทำอย่างพอสมควรแก่เหตุ โดยต้องไม่เป็นการห้ามหรือจำกัดเสรีภาพไปเสียในทุกกรณีจนเป็นการทำลายเสรีภาพนั้นเสีย อีกทั้งยังต้องมีมาตรการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขท้ายประกาศดังกล่าวกลับกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพให้มีผลบังคับเป็นการทั่วไปในทุกกรณีและยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกปล่อยตัวโต้แย้งแสดงเหตุผลในการคัดค้านเงื่อนไขอันเป็นผลร้ายต่อบุคคล ไม่มีกำหนดระยะเวลา และหากไม่ลงนามก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัว การยินยอมลงนามท้ายเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นไปด้วยความสมัครใจ

2. การดำเนินการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลและดำเนินการตามอำนาจกฎอัยการศึกในลักษณะดังกล่าวไม่โปร่งใส่และขาดซึ่งกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อถือได้ อาจเป็นการล่วงเกินสิทธิเสรีภาพจนเกินขอบเขต เช่น การไม่แนะนำตัวและตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มีความมั่นคงและปลอดภัยในการดำเนินชีวิต เนื่องจากไม่ทราบว่าการถูกควบคุมตัวของตนนั้นกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรืออาชญากร

3. การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งยังไม่ปรากฎว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการยั่วยุให้นำไปสู่ความรุนแรง โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก นำไปสู่การกักตัวบุคคล เป็นการใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีเหตุอันควร เกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และถือเป็นการใช้อำนาจโดยอำเภอใจและส่งผลเป็นการละเมิดเสรีภาพของบุคคล

4. การอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อกำหนดเงื่อนไขของการปล่อยตัวโดยห้ามมิให้บุคคลแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงและเพื่อใช้ดุลพินิจควบคุมตัวบุคคลซ้ำอีก 7 วันเป็นครั้งที่สองในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลแบบเหวี่ยงแห (blanket derogation) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเพื่อจำกัดหรือส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งฝ่ายกฎหมายหมายจึงควรทบทวนเงื่อนไขและวิธีการที่ใช้บังคับตามกฎอัยการศึก

โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น การกักตัว การเรียกให้มารายงานตัว การติดตาม ติดต่อ การเยี่ยม การขอพบปะบุคคล ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางโดยปราศจากมาตรการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ และนำไปสู่การใช้อำนาจโดยอำเภอใจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้จะอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่ยังต้องอยู่ภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุ ความโปร่งใส และการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ

ด้วยเหตุดังกล่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติปล่อยตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล จากการควบคุมตัวโดยปราศจากเงื่อนไข และยืนยันข้อเสนอเดิมตามรายงาน 1 เดือนหลังรัฐประหารของศูนย์ทนายความฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. ให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีเหตุให้ใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไปแล้ว และให้ใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ

2. ให้ยุติการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยสงบหรือแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต รวมทั้งให้ยกเลิกประกาศห้ามชุมนุม

3. ให้ยกเลิกการบังคับให้บุคคลมารายงานตัว และการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยโดยอำเภอใจ

4. ให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารตามประกาศเรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจดำเนินคดีของศาลทหาร

ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ooo





บันทึกความทรงจำ จากเพื่อนถึงเพื่อน
ถึงนกพิราบที่ถูกกักขังอีกครั้ง
..................................................

"มิตรภาพเกือบสองทศวรรษกับ ปุ๊ ธนาพล คนจริง"


เรารู้จักกับพี่ปุ๊ ธนาพล ตั้งแต่เข้าปี 1 ปีนั้นทางนักศึกษาเตรียมจัดงานตุลาที่หอใหญ่ พี่ปุ๊จบไปแล้วแต่ยังวนเวียนอยู่ตึกกิจกรรมไม่ห่างหาย แกมาช่วยเป็นลูกมือจัดนิทรรศการอย่างแข็งขัน ทั้งที่ไอเดียแกบรรเจิดแต่แกไม่เคยครอบหรือสั่งการ ปล่อยให้พวกเราลองผิดลองถูกและแกวางตัวเป็นกองหนุน เราทำงานกันไม่หลับไม่นอน รู้สึกว่าพี่คนนี้แม่งอึดดีว่ะ แกเป็นคนที่ไม่เอาอาวุโสจริงๆ ไม่เคยเรียกแทนตัวเองว่า "พี่" กับใคร และไม่เคยไหว้รุ่นพี่หรืออาจารย์สักคน แกใช้แทนตัวเองว่า "เรา" กับน้องๆ พี่ๆ เสมอมาจนยี่สิบปีก็ยังเป็นอย่างนั้น

จนปีสองปีสาม เรายังคลุกฝุ่นอยู่ตึกกิจ มีห้องหับเล็กๆ ไว้ซุกหัวนอนตอนเขียนป้ายผ้าดึกๆ ดื่นๆ พี่ปุ๊จะเอาหนังสือหรือเอกสารซีร็อกซ์มาทิ้งไว้ให้ทุกครั้งที่แกแวะมา ระหว่างนั้นแกเป็นผู้ช่วยวิจัยอาจารย์และมักจะมาห้องสมุดปรีดีทุกวี่วัน

พี่ปุ๊แม่นเรื่องข้อมูล ไทม์ไลน์เหตุการณ์ ไม่แพ้นักวิชาการประวัติศาสตร์ แม้แต่นักวิชาการยังต้องพึ่งการค้นคว้าของแก ความทรงจำแกบรรจุด้วยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมาย รวมทั้งสามัญชนที่เป็นตัวละครสำคัญ แกไม่เคยพลาดเรื่องปี พ.ศ. เลยสักครั้ง และสามารถใช้วิทยายุทธ์ขุดเอกสารสำคัญที่น่าจะสาบสูญไปแล้วขึ้นมาได้

ยิ่งอยู่ใกล้พี่ปุ๊ บางทียิ่งรู้สึกว่าทำไมกูโง่จัง ทำไมเรื่องนี้กูไม่รู้ เอ อ่านอะไรไปทำไมจำไม่ได้เหมือนแก และเวลาแกจี้ประเด็นอะไรมักตอบไม่ค่อยได้ ยิ่งกดดันบางคนอาจยิ่งถอยห่างจากพี่ปุ๊ แต่เรากลับรู้สึกอยากเอาชนะพี่ปุ๊ แกอึดเลยต้องอึดกว่าแก ไม่รู้เหมือนกันว่านี่คือการจัดตั้งน้องในสไตล์ของแกรึเปล่า แต่แกไม่เคยยอมรับว่าตัวเองจัดตั้งใคร หรือใครจัดตั้งแก เพราะแกไม่เชื่อเรื่องจัดตั้ง อย่างหนึ่งที่แกเป็นมาแต่ไหนแต่ไรคือ แกเทคแคร์น้องๆ ที่ร่วมงานอย่างไม่มีเขียม ซัพพอร์ตเรื่องเนื้อหาประเด็น และไม่เคยเบรกน้อง (แค่ทำให้เสียเซลฟ์นิดหน่อยเอ๊ง) และถ้าคุณเชื่ออะไรก็ให้ลุยลูกเดียว ฮ่าๆๆ

เวลาได้ทำงานกับพี่ปุ๊ รู้เลยว่ามาตรฐานต้องมืออาชีพ มีปีหนึ่งครบรอบ 25 ปีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ทาง สนนท จัดงานใหญ่ที่หอเล็ก เรารับงานผลิตสไลด์ชาวนา ได้พี่ปุ๊เป็นที่ปรึกษาคอยบรี๊ฟประเด็น หาข้อมูลเก่าๆ มาให้อ่านๆๆๆ เสื้อสกรีน "คุณค่า/ฆ่าชาวนา" ก็ได้ไอเดียและภาพจากแก ตอนเขียนสคริปต์ แกจะช่วยคอมเม้นท์ และช่วยคิดเป็นภาพ คอยประสานติดต่อทีมเทคนิคมาซัพพอร์ต พวกมืออาชีพที่ชอบทำงานกับแกเพราะแกประเด็นคมมาก มีเวิร์ดดิ้งมีภาพในหัวที่ชัดจนคนต้องซูฮก

แกยังคอยซัพพอร์ตกลุ่มเราหลายเรื่อง เมื่อรู้ว่าพวกเราทำจุลสารในนามกลุ่มอิสระ ไม่มีงบมหาลัย แกยังให้มาใช้เครื่องโรเนียวที่ออฟฟิศ พอรู้ว่าเรากำลังทำเรื่องเขื่อน เรื่องชาวบ้าน ถึงจะไม่ใช่ฟิลด์แต่แกไม่เคยทิ้งน้อง ยังติดต่อผู้ใหญ่ให้พวกเราไปคุยเรื่องระดมเงินซื้อที่หัวงานเขื่อน คอยประสานติดต่อนักวิชาการเวลาเราจัดวงเสวนาต่างๆ

ตอนเราเรียนจบ ห่างหายไปสักพัก พอแกรู้ว่าเรามาทำงานต๊อกต๋อยในสำนักพิมพ์กะหลั่วๆ แห่งหนึ่ง แกเรียกไปคุยบอกกำลังตั้งสำนักพิมพ์ อยากชวนมาทำด้วยกัน เราตัดสินใจลาออกไปทำงานกับแก ตอนนั้นออฟฟิศยังอยู่คอนโด พี่ปุ๊ลงมาวิ่งสวนลุมทุกเช้า และแกมักจะเอากับข้าวที่บ้านหิ้วปิ่นโตมาแบ่งกันกิน ดึกๆ จะอาสาไปซื้อกับข้าวมาเลี้ยงน้อง ลึกๆ แล้วพี่ปุ๊มีอารมณ์ศิลปินในตัวสูงมาก แกรู้จักเพลงเก่าๆ แทบทุกเพลง เพื่อชีวิตนี่ร้องได้หมด บางครั้งแกจะฮัมเพลงขึ้นมา

ในสายตาคนนอกมักตั้งคำถามว่าฟ้าเดียวกันอยู่ได้ด้วยอะไร หากสำหรับคนที่ได้เห็นการทำงานของพี่ปุ๊ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก ความขยันรับงานและการบริหารจัดการเนื้องานตามสไตล์พี่ปุ๊ มันอาจขลุกขลักบ้าง แต่ในที่สุดมันเลี้ยงตัวเองได้โดยปราศจากข้อกังขาในสายตาเรา

เราทำงานที่นั่นได้เกือบปีก็สมัครเข้าเรียนต่อ มช. และ มธ. ผ่านสัมภาษณ์ทั้งสองที่ พี่ปุ๊รู้ข่าวนี้ก่อนใคร แกเป็นคนหูตากว้างไกล พอรู้ว่าเราจะเรียนต่อก็สนับสนุนเต็มที่ เราตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่ พี่ปุ๊ยังมอบหมายให้เขียนบางคอลัมน์รายงานจากวงวิชาการเชียงใหม่ส่งมาฟ้าเดียวกัน และบางโอกาสที่แกไปประชุมหรือสัมมนาเชียงใหม่ แกจะแวะมาหามาคุยงานเสมอ

พี่ปุ๊น่าจะรู้จักเราดีกว่าใครว่าเราคงเอาดีเป็นนักวิชาการไม่ได้ เมื่อเทคคอร์สเสร็จ 2 ปี กลับมา กทม แกเป็นคนเดียวที่รู้ก่อนใครอีกว่า เราไปสมัครงานไว้ที่นิตยสารฉบับหนึ่ง แกหูตารอบจัดจริงๆ เราได้เข้าทำงานกองบรรณาธิการนิตยสารฉบับนั้นตอนปี 48

ปีแรกในที่ทำงานใหม่ อยู่ดีๆ เราถูกตำรวจบุกถึงบ้านเชิญไปสอบปากคำเรื่องวารสารฉบับหนึ่ง ตำรวจ 4 นายมาถามหาชื่อเราถึงบ้าน แม่เราโวยวาย ส่วนพ่อเราขอนั่งรถไปด้วย

พอพี่ปุ๊รู้ข่าว แกบึ่งตามไปโรงพักทันที เพราะมีพี่ปุ๊มาเจรจากับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ว่ากันตามคดี อัยการยังไม่สั่งฟ้อง ราวบ่ายสามทุกคนถูกปล่อยกลับบ้าน นั่นคือช่วงเริ่มต้นของการใช้ กม.มาตรา 112 หลังจากนั้นไม่นาน การชุมนุมของ พธม. และมีการเผาหนังสือฟ้าเดียวกัน มีการข่มขู่จากผู้ชุมนุมว่าจะบุกมาออฟฟิศสำนักพิมพ์ คืนนั้นเราช่วยกันขนหนังสือกันอุตลุด ในขณะที่พี่ปุ๊คอยปรามทุกคนว่ามันไม่ควรต้องทำอะไรยุ่งยากอย่างนั้น ประเมินถึงที่สุดจะมาก็มา มาแล้วไง

พี่ปุ๊เชื่อมาตลอดว่าการเปิดหน้าสู้ย่อมชนะกว่าลงใต้ดิน แกไม่เคยประเมินอะไรสูงไปกว่าเหตุ พอกลัวกันเกินเหตุแกจะยักคิ้วยิ้มมุมปากเอ่ยว่า "เหย...พูดจริงๆ นะ ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีทางทำได้หรอก" แกบอกเสมอมาว่าเรื่องสถาบันต้องพูดกันอย่างเปิดเผย ต้องเอาขึ้นบนดิน คุณูปการของการทำงานตามหลักการนั้นเองถึงนำไปสู่ปรากฏการณ์ตาสว่าง

ในวันเวลาเหล่านั้น เรายังงมปลักอยู่กับการงานและห่างหายความสัมพันธ์กับพี่ปุ๊ไปนานปี หลังรัฐประหาร 49 ได้ไปเจอแกตามงานนิติราษฎร์ ได้ติดต่อสัมพันธ์ในแง่งาน ไปเจอกันตามที่ชุมนุม ฯลฯ จนปี 55 ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง พี่ปุ๊ยังคงจริงจังกับงานข้อมูลและการนำเสนออย่างเช่นเคย และยังกระตือรือร้นทุกครั้งเมื่อหนังสือออก



20 ปีที่รู้จักกันมา พี่ปุ๊ไม่เคยอ้างตัวเป็นคนดี แต่พี่ปุ๊ยืนหยัดหนักแน่นในหลักการ ไม่เคยโอนเอนตามอาวุโสบารมีผู้ใด หากสิ่งที่ทำมันผิดแกก็ว่าผิด ไม่เคยแถผิดเป็นถูก หากกระนั้นแกก็ไม่เคยแตกหักความสัมพันธ์ แกเป็นคนซื่อตรงหลักการแต่ประนีประนอมความสัมพันธ์ที่สุดแล้ว ลึกๆ แล้วแกไม่อยากเสียเพื่อนเลยสักคน แกทะเลาะกับคนมามาก คนทะเลาะกับแกก็มาก ใครจะตุปัดตุเป๋ไม้หลักปักขี้เลนก็ช่าง สุดท้ายท้ายสุด ความมั่นคงหลักการของพี่ปุ๊ทำให้แกยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด

วันที่พี่ปุ๊ถูกจับที่หอศิลปวันแรก พี่ปุ๊พูดคำหนึ่งว่า "ยังไงก็ต้องไปเป็นเพื่อนคนถูกจับ(คืออภิชาติ)" วันที่รู้ว่าอภิชาติถูกปล่อย เราเจอกันที่สถาบันปรีดี แกพูดคำหนึ่งว่า "ยังไงก็ต้องไปรับ ไปให้กำลังใจ"

เมื่อวานพี่ปุ๊มีนัดที่ร้านกาแฟ แกยังดุ่มๆ ไปคนเดียวอย่างบริสุทธิ์ใจ พี่ปุ๊ยังฝากหนังสือไว้บอกเราว่า "เย็นนี้เจอกัน" แถมยังพกหนังสือไปฝากคนที่นัดแกอีกด้วยซ้ำ แกเชื่อเสมอมาว่าถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่มีอะไรต้องกลัว

ไม่มีใครรู้แม้แต่ตัวแกว่า จุดเริ่มต้นที่ร้านกาแฟ เส้นทางหลังจากนั้นจะไปสิ้นสุดในห้องขังกองปราบ และตัวแกไม่ได้ออกมาอีกเลย นี่แหละพี่ปุ๊ โลกสวยตัวจริง

วันนี้ หลังลูกกรง ไม่มีผู้ชุมนุมต่อต้านคณะ คสช. หลงเหลืออีกแล้ว หลายคนถูกปล่อยตัวพร้อมเงื่อนไข หลายคนถูกดำเนินคดีขึ้นศาลทหาร หลายคนถูกส่งต่อเรือนจำด้วยคดีติดตัวไม่มีทางสู้ ในห้องขังมีเพียงชายฉกรรจ์ถูกจับด้วยข้อหาอื่นๆ มาอยู่รวมกัน

"ฝากพี่ชายด้วยนะคะ"...คำสุดท้ายที่เราร่ำลาก่อนจากมา

............................................................

หมายเหตุ: 5 ก.ค.2557 นายธนาพลถูกเจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์เรียกตัวไปพบที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งราวบ่ายโมง จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบได้ควบคุมตัวนายธนาพลด้วยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปยังกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (สนามเป้า) แล้วจึงนำตัวนายธนาพลส่งต่อไปยังกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกักตัวตามกฎอัยการศึกอีก 7 วัน

ทั้งนี้ นายธนาพลเคยถูกจับกุมจากเหตุการณ์ชุมนุมต้านรัฐประหารที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และภายหลังมีรายชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกเรียกให้มารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 5/2557 จนถูกควบคุมตัวครบ 7 วันตามกฎอัยการศึกก่อนที่จะปล่อยตัวออกมา โดย คสช. ได้กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง จนกระทั่งมาถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกเป็นครั้งที่สองในวันดังกล่าว

http://prachatai.org/journal/2014/07/54435