วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 28, 2557

“ประยุทธ์” ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี วันแรก อนุมัติงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท


ที่มา Thaipubica

26 สิงหาคม 2014

พ.อ.วินธัย สุวารี และ นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุม คสช. เพื่อการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 12/2557 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ว่า คณะ คสช. มีความเห็นว่าเรื่องเร่งด่วนของประเทศยังคงเป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและมาตรการระยะยาว การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร การแก้ปัญหายางพารา ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว และได้สั่งการให้เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะอย่างเป็นระบบ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เน้นการดำเนินการในรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน และขอให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งสั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาทางดูแลและแก้ไขปัญหาที่ประชาชนใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างไม่เหมาะสมด้วย

ทั้งนี้ ในการประชุม มีการอนุมัติโครงการแผนงานต่างๆ และอนุมัติงบประมาณ รวม 104,747.313 ล้านบาท ดังนี้

อนุมัติงบแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ 5 หมื่นล้านบาท

คสช. เห็นชอบแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2557 – ต.ค. 2567 วงเงินสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาท เป็นส่วนที่รัฐต้องชดเชยดอกเบี้ยและค่าบริหารจัดการรวม 5,938.25 ล้านบาท แยกเป็นโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราวงเงิน 5,000 ล้านบาทจาก ธ.ก.ส. และโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพาราวงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินสินเชื่อจากธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 โดยขอใช้งบกลางปี 2557 วงเงิน 977.75 ล้านบาท แบ่งเป็นการชดเชยดอกเบี้ยและค่าประกันวินาศภัยและบริหารโครงการในโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางวงเงินรวม 350 ล้านบาท ส่วนโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราในปี 2557 จะใช้งบกลางจากรัฐบาลสนับสนุนรวม 177.75 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพาราในปี 2557 จะใช้เงินชดเชยดอกเบี้ยและค่าบริหารจัดการจากรัฐบาลวงเงิน 450 ล้านบาท

ทั้งนี้ หัวหน้า คสช. มีความเป็นห่วงเรื่องราคายางพาราตกต่ำ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งการหาตลาดเพิ่ม และพยายามให้ระบบการรับซื้อยางพาราเป็นไปตามปกติ ไม่กดราคารับซื้อ ขณะที่ในระยะยาวต้องส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง โดยมีสถาบันการเงินให้สินเชื่อสนับสนุน และหาแนวทางนำยางพาราไปใช้ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพิจารณาตามหลักอุปสงค์อุปทาน ให้ปริมาณการผลิตเหมาะสมกับปริมาณความต้องการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนที่เป็นรูปธรรมต่อไป พร้อมทั้งให้พิจารณาจัดตั้งสถาบันวิจัยยางในอนาคตด้วย

อนุมัติงบ 677 ล้าน ฟื้นฟูมาบตาพุด

คสช. เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ.) เสนอ 4 เรื่อง คือ 1. เห็นชอบ 8 แผนงานเร่งด่วน เพื่อพัฒนาพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง มูลค่า 677.62 ล้านบาท โดยให้ใช้งบกลางปี 2557 2. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนน 3. การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะขยะรวมถึงมลพิษทางอากาศ และ 4. การแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก

คสช. สั่งการให้ สศช. ไปรวบรวมรายละเอียดการอนุมัติโครงการต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ตั้งแต่ปี 2555-2557 รวมกว่า 100 โครงการ และสั่งการให้ติดตามความคืบหน้าและสามารถดำเนินการตามที่ของบประมาณไว้

อนุมัติสร้างบ้านคนจน 3.4 หมื่นล้านบาท

คสช. อนุมัติให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปี 2557-2560 กรอบวงเงิน 34,198.475 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในปี 2557 จำนวน 38 โครงการ 16,446 ยูนิต งบประมาณ 9,577.752 ล้านบาท ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 1,249 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 7,1213.57 ล้านบาท และใช้รายได้ของการเคหะเอง จำนวน 1,214.224 ล้านบาท

อนุมัติเงินอุดหนุนองค์การปกครองท้องถิ่น 8,500 ล้านบาท

คสช. อนุมัติงบประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งละ 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งเสริมอาชีพ และส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คสช. ได้สั่งการว่าวงเงินส่วนนี้ห้ามนำไปใช้เพื่อดำเนินโครงการศึกษาดูงาน

อนุมัติงบเพิ่มเติมการประปาภูมิภาค 1 หมื่นล้านบาท

คสช. อนุมัติงบประมาณการลงทุนให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพิ่มเติม 4 โครงการ วงเงินรวม 10,831.218 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงและขยายการประปาภูมิภาครังสิต, เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ปทุมธานี ทั้งนี้ ในส่วนของเกาะสมุย ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอก่อน จึงจะเริ่มดำเนินโครงการได้

อนุมัติงบแก้ปัญหาขยะมูลฝอย 520 ล้านบาท

คสช. เห็นชอบตามที่ฝ่ายสังคมและจิตวิทยาเสนอ โครงการโรดแมปกำจัดขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในพื้นที่วิกฤติ วงเงิน 520 ล้านบาท จากรายการงบกลางกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน เพื่อกำจัดขยะในพื้นที่ จ.นครปฐม ลพบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ

คสช. สั่งการยุบกองทุนเงินหมุนเวียน 3 แห่ง

ในการประชุมครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 คสช. ได้อนุมัติให้ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียน 3 แห่ง ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนโรงงานฟอกหนัง เงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ และเงินทุนหมุนเวียนดำเนินการโครงการผลิตถ่านหินเป็นพลังงานทดแทน ภายในปีงบประมาณ 2557 พร้อมทั้งอนุมัติให้มีการช่วยเหลือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่บุคลากรของเงินทุนทั้ง 3 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนลูกจ้างประจำนั้นให้ได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 15 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ช่วยลูกจ้างชั่วคราวให้ได้รับเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยให้นับระยะเวลาการทำงานที่ลูกจ้างได้ทำงานกับเงินทุนทั้งหมด แต่กรณีลูกจ้างชั่วคราวของทุนหมุนเวียนฟอกหนังให้ได้รับเงินช่วยเหลือเท่าลูกจ้างประจำ ทั้งนี้ ลูกจ้างทั้งหมดจะได้รับค่าชดเชยที่อยู่อาศัยรายละ 35,000 บาท และค่าขนย้าย 10,000 บาท โดยทั้งหมดนี้ให้ใช้เงินจากทุนหมุนเวียนแต่ละแห่ง แต่หากไม่พอให้ใช้งบประมาณจากกระทรวงต้นสังกัด

ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องมีการยุบเลิกทั้ง 3 ทุนหมุนเวียนเนื่องจากอยู่ในฐานะขาดทุน บางกรณีไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยกองทุนฟอกหนังปัจจุบันมีเงินคงเหลือ 101 ล้านบาท, กองทุนข่าวสารพาณิชย์ ขาดทุน 3.7 ล้านบาท, กองทุนผลิตถ่านหินเพื่อพลังงานทดแทน เหลือเงิน 118 ล้านบาท

เห็นชอบแนวทางแก้หนี้นอกระบบ

เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาที่สาเหตุทั้งด้านสินเชื่อและศักยภาพการหารายได้ โดยให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นต้น พร้อมกำหนดให้ศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์และเรื่องร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนทั้งหมดเพื่อประสานกับกลไกการแก้ไขปัญหาฯที่กระทรวงการคลังวางไว้ ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ตั้งจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบให้ครบทุกสาขาทั่วประเทศ แล้ว

ธกส.ปล่อยกู้ 10,000ล้านปลดหนี้นอกระบบเกษตรกร

บอร์ด ธ.ก.ส. ไฟเขียวมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ อนุมัติงบ 10,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนรายละไม่เกิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ยต่ำเพียง 12% ต่อปี ผ่อนชำระนาน 10 ปี เตรียมจัดทำประกันสินเชื่อให้ฟรีพร้อมเติมหลักสูตรบริหารเงินและอาชีพ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่ ได้แถลงข่าว “โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน” นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. มีมติจัดทำโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน วงเงิน 10,000 ล้านบาท วงเงินนี้สามารถปรับเพิ่มได้หากมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยเริ่ม 1 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558

ข้อกำหนดของผู้เข้าร่วมโครงการคือ หนี้นอกระบบดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ที่มีต้นเงินและดอกเบี้ยรวมกันสุทธิหลังประนอมหนี้แล้วคงเหลือไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก รวมทั้งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 กันยายน 2557 และมีเอกสารหลักฐานการเป็นหนี้จริง ซึ่งการหากทำการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์หนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถอนุมัติจ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการภายใน 15 วัน

โดยวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี กรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ที่ถึงกำหนดทั้งหมดหรือบางส่วน โดยไม่มีเหตุอันสมควรผ่อนผัน ธนาคารจะคิดเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 ต่อปี

กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนไม่เกิน 10 ปี กรณีพิเศษไม่เกิน 12 ปี โดยสามารถใช้อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก การค้ำประกันกลุ่ม และ/หรือบุคคลค้ำประกันได้ รวมทั้งผ่อนปรนให้ข้าราชการจากกระทรวงต่างๆ สามารถมาเป็นผู้ค้ำประกันได้จำนวน 1 คน

นอกจากนี้มีโครงการช่วยเหลือลูกหลานเกษตรกรที่มาทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือโครงการ “สินเชื่ออุ่นใจคนไกลบ้าน” ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนไม่ว่าจะเป็นในด้านการประกอบอาชีพหรือในชีวิตประจำวัน ก็สามารถใช้สินเชื่อโครงการนี้ได้ในวงเงิน 100,000 บาท โดยคาดว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกษตรกรรวมทั้งลูกหลานก่อหนี้นอกระบบ

พร้อมกันนั้น ธ.ก.ส. ได้กำหนดให้ “ผู้กู้” ต้องเข้ารับการอบรมฟื้นฟูหลักสูตรบริหารทุนและหนี้ เพื่อปรับแนวคิดในการดำเนินชีวิต เช่น มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อเป็นแนวทางลดค่าใช้จ่ายและออมเงินเพื่อสร้างฐานะ รวมถึงสามารถชำระหนี้ได้ และหลักสูตรการสร้างรายได้เพื่อสนับสนุนให้ประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามภูมิสังคมและมีรายได้พอเพียง รวมถึงมีเงินเหลือออม โดย ธ.ก.ส. จะจัดอบรมให้สำหรับรายที่พิจารณาแล้วว่ามีปัญหาในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในครั้งนี้ มาตรการที่ทาง ธ.ก.ส. นำเสนอนั้นเป็นมาตรการสำหรับเกษตรกรที่มีหนี้นอกระบบเป็นภาระหนัก คือมียอดหนี้อยู่ในวงเงิน 100,000 บาท ส่วนหนี้นอกระบบที่เกินกว่า 100,000 บาทนั้น จะอยู่ในขอบข่ายของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) และกรณีหนี้นอกระบบที่ไม่อยู่ในเกินขอบข่ายที่ ธ.ก.ส. และ สป.กษ. อาจมีมาตรการในการเชิญทางเจ้าหนี้และลูกหนี้มาพูดคุย ก่อนที่จะมีการอนุมัติปล่อยสินเชื่อ แต่แนวทางนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา