วันจันทร์, สิงหาคม 04, 2557

กลุ่มสิทธิชี้เรื่องกริชสุดาต้องตรวจสอบ แนะสร้างมาตรฐานการควบคุมตัวใหม่

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ภาพจาก Deep South Watch
ตัวอย่างหัวข้อข่าวเรื่องกริชสุดา คุณะแสนในสื่อ
ที่มา เฟสบุ๊ค บีบีซีไทย

ข่าวนส.กริชสุดา คุณะแสนให้สัมภาษณ์ว่าถูกซ้อมทรมานในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ในกรณีเช่นนี้ซึ่งไม่มีพยานรู้เห็น การพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะทำได้อย่างไรในเมื่อจะมีเพียงคำพูดของผู้ถูกกล่าวหาคือเจ้าหน้าที่กับคำพูดของผู้กล่าวหาคือผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวเท่านั้น จะแสวงหาความจริงในกรณีเช่นนี้กันได้อย่างไร

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและทำงานรณรงค์ด้านปัญหาการซ้อมทรมานตลอดจนการสูญหายของบุคคลกล่าวว่า ในเรื่องของการพิสูจน์กรณีเช่นนี้มีตัวอย่างหลายครั้งในภาคใต้ของไทย และว่า ส่วนใหญ่การซ้อมทรมานมักจะไม่มีพยานผู้เห็นเหตุการณ์ที่เป็นบุคคลที่สามอยู่แล้ว การตรวจสอบส่วนใหญ่จึงต้องใช้พยานแวดล้อมรวมทั้งหลักฐานการแพทย์ที่อาจจะมีการพบแพทย์ที่ตรวจสอบทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจ นอกจากนี้ยังต้องดูด้วยว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะมีหลักฐานมายืนยันได้หรือไม่ว่าได้ทำตามระเบียบขั้นตอน เพื่อจะดูว่าจะมีช่องโหว่ที่ปล่อยให้มีการทำร้ายหรือซ้อมทรมานจริงได้หรือไม่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังได้ออกแถลงการณ์วันนี้ (3 สค.) เรียกร้องให้คสช.เปิดให้มีการตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวหากันอย่างเร่งด่วน รวมทั้งเสนอว่าอาจจะต้องให้มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษช่วยตรวจสอบผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างดังกล่าว และหากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง จะต้องมีการลงโทษไม่เช่นนั้นจะกระทบความน่าเชื่อถือของคสช.

แถลงการณ์ของมูลนิธิชี้ว่า จากข้อกล่าวหา มีหลายประเด็นที่ต้องการการตรวจสอบ นอกจากเรื่องการซ้อมทรมานแล้ว การควบคุมตัวเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นการควบคุมตัวในสถานที่ลับไม่มีการติดต่อกับญาติหรือทนาย และเป็นการควบคุมตัวที่เกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึกกำหนดไว้ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง เพราะล้วนเป็นเงื่อนไขให้เกิดการละเมิดสิทธิได้

มูลนิธิเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างโปร่งใสในการควบคุมตัวบุคคล ไม่ควบคุมตัวในสถานที่ลับ อนุญาตให้ติดต่อบุคคลภายนอกคือญาติและทนายได้ และเจ้าหน้าที่ควรทำรายงานการควบคุมตัวที่ญาติหรือทนายรับรองเพื่อไม่ให้มีประเด็นเรื่องการสูญหาย โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ควบคุมตัวบุคคลตามกฏอัยการศึกควรประกาศให้สาธารณะได้รับรู้

พรเพ็ญชี้ว่า จากประสบการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า กับปัญหาการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานที่มีมาโดยตลอด แต่มีเจ้าหน้าที่จัดทำรายงานเรื่องการควบคุมตัวบุคคลเพื่อการสอบปากคำน้อยมาก และส่วนใหญ่จะทำเฉพาะกรณีที่มีการร้องเรียนเท่านั้น

อีกด้านหนึ่ง องค์การนิรโทษกรรมสากลบอกว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จะออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย หลังจากที่ได้ส่งผู้แทนลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ระหว่าง 9-11 กค.ซึ่งได้พบกับผู้แทนของคสช.ด้วย นิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า ยินดีที่คสช.ได้ให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ในรายงานที่จะออกมาองค์กรระบุว่าจะมีข้อเสนอแนะเรื่องการป้องกันการละเมิดสิทธิด้วย

องค์การนิรโทษกรรมสากลเป็นหนึ่งในองค์กรที่นส.กริชสุดาระบุในการให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้ไปให้ข้อมูลกรณีที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังจากที่เดินทางออกนอกประเทศ

สำหรับนส.กริชสุดาถูกควบคุมตัวเมื่อ 28 พ.ค. 2557 ระหว่างการควบไม่มีการติดต่อกับญาติหรือเพื่อน ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย. คสช.มีคำสั่งเรียกให้ น.ส. กริชสุดาไปรายงานตัว และต่อมาวันที่ 20 มิ.ย. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกยอมรับว่ามีการควบคุมตัว น.ส.กริชสุดาจริง ต่อมานส.กริชสุดาให้สัมภาษณ์ว่าตนขออยู่ภายใต้การควบคุมของทหารต่อเองและได้รับการปฏิบัติอย่างดี อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 2 สค.ที่ผ่านมา นส.กริชสุดาให้สัมภาษณ์จากต่างประเทศว่าในระหว่างถูกควบคุมตัวนั้นถูกทำร้ายร่างกายอย่างหนัก ด้านโฆษกกองทัพบก พอ.วันธัยระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีเหตุผลใดที่จะทำร้ายนส.กริชสุดา