วันพุธ, สิงหาคม 06, 2557

บทวิเคราะห์:"ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ"


โดย กานต์ ยืนยง
ที่มา TCIJ
04 สิงหาคม 2557

"ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ

ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป

เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

ในห้วงเวลาสุกดิบก่อนเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ตามแผนที่นำทางหรือโร้ดแม็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อมีประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. จำนวน 200 คนไปเรียบร้อยแล้ว จำนวนสมาชิก สนช. กว่ากึ่งหนึ่งสังกัดอยู่ในกองทัพ มีนายทหารจากทั้งสามกองทัพจำนวน 105 คน นัยว่า ส่วนผู้ได้รับการเสนอชื่อต่างๆ ก็เป็นเครือข่ายที่มีความเกี่ยวพันกับ คสช. นั้นเอง คสช. คงต้องการให้มีการขับเคลื่อนสภาฯ ไปตามทิศทางที่ คสช. ชี้นำมาอย่างรวดเร็วและเสียเวลาถกเถียงให้น้อยที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เหตุผลในเรื่องนี้ในการแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจประจำสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เป็นเพราะ ‘สถานการณ์ไม่ปกติ’ เนื่องจากการทะเลาะเบาะแว้งของฝักฝ่ายต่างๆ จนเสี่ยงทำให้เกิดความรุนแรงและอาจพัฒนาจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

น่าสังเกตเหมือนกันว่า การแถลงทุกสัปดาห์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ต่างไปจากการหาเสียงทางโทรทัศน์ทุกช่อง ในขณะที่ปราศจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะด้วยเหตุผลเรื่อง ‘สถานการณ์ไม่ปกติ’ นี้เอง ทำให้ คสช. ใช้อำนาจควบคุมสื่อมวลชนมิให้ทำการวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนควบคุมตัวผู้ที่มีทัศนะ ‘ไม่สอดคล้องกับแนวทางของ คสช.’ มิให้ทำการแสดงความคิดเห็นในทิศทางตรงข้ามกับ คสช. แม้แต่น้อย

ภายใต้บรรยากาศอันปราศจากข้อวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ที่รับทราบข้อมูลจากสื่อมวลชน ซึ่งเพลาการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ลงไป และการที่ คสช. เอง ใช้โอกาสในช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นบริหารประเทศ ทำการออกนโยบายสาธารณะต่างๆ เพื่อเอาใจประชาชน เช่น การจัดให้มีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกฟรี การอนุมัติเงินจ่ายให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว การชะลอการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป ตลอดจนการออกข่าวว่าจะมีการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างการขนส่งพื้นฐานจำนวน 2.4 ล้านล้านบาท ประกอบกับการที่บรรยากาศการเมืองโดยรวมมีความสงบลง จากการใช้อำนาจอย่างเข้มงวดของ คสช. จึงไม่แปลกใจ ที่ผลการสำรวจความเห็นประชาชนจากสำนักโพลต่างๆ แสดงความเห็นไปในทางสนับสนุน คสช. และถึงกับออกความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ควบคู่กับตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไปด้วย ประชาชนจำนวนมากพากันเห็นว่า การใช้อำนาจเผด็จการยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ควบคุมสื่อมวลชน ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ อย่างรวดเร็ว เป็นผลดีกับประเทศชาติ

แต่ก็มีอยู่ 3 เหตุการณ์ที่อาจทำให้การเดินทางเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ตามแผนที่นำทางของ คสช. อาจไม่เป็นไปด้วยความราบรื่น

เหตุการณ์แรก คือการเผยแพร่คลิปที่คุณจอม เพชรประดับ ซึ่งทำการสัมภาษณ์คุณเปิ้ล-กริชสุดา คุณะเสน ซึ่งคำให้สัมภาษณ์ของคุณเปิ้ลกลับกันกับการออกข่าวโทรทัศน์ช่อง 5 ภายหลังมีข่าวว่าคุณเปิ้ลถูกควบคุมตัวและไม่ได้รับการติดต่อ ในเทปแรกนั้นคุณเปิ้ลให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า มีความเป็นอยู่สุขสบายดีและไม่ได้รับการคุกคามใดๆ พร้อมจะพักต่อที่สถานที่ควบคุมตัวเกินระยะเวลาที่กำหนดตามกฎอัยการศึกที่กำหนดไว้เป็นเวลา 7 วัน แต่ในคลิปสัมภาษณ์ชิ้นล่าสุดนั้น คุณเปิ้ล ซึ่งในขณะนี้ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศในแถบยุโรปเรียบร้อยแล้ว ได้เล่าให้ฟังว่า ในขณะที่เธอถูกทหารสังกัด มทบ.14 จังหวัดชลบุรี ควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม เวลา 19.00 น. ระหว่างที่ทหารเข้าตรวจค้นบ้านของนางมนัญชยา เกศแก้ว หรือ ‘เมย์ อียู’ กลุ่มคนเสื้อแดงในยุโรป ที่ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี นั้น เธอได้ถูกทำร้ายร่างกายโดยการทุบตีตามร่างกาย และถูกใช้ผ้าปิดตาตลอดเวลาการควบคุมตัว นอกจากนั้น ยังถูกมัดมือ และที่สำคัญ เธอยังอ้างว่าเธอถูกถุงพลาสติคคลุมศีรษะจนกระทั่งหมดสติไป

เหตุการณ์ที่ 2 เป็นการออกประกาศคำสั่งของ คสช. ฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2557 ทำการตีพิมพ์ข้อความอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ถือเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศของ คสช. จึงให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทำการดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบอาชีพ หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ได้ทำการตอบโต้ คสช. โดยการขึ้นปกสีดำ โดยไม่มีการตีพิมพ์ภาพหรือข้อความใดประกอบ (ยกเว้นชื่อหัวหนังสือ) เพื่อเป็นการประท้วง และใช้พื้นที่ในหนังสือของตนเองชี้แจงว่า บทความในหนังสือพิมพ์ที่ถูก คสช. ตักเตือนนั้น มิได้เป็นการละเมิดคำสั่ง คสช. ในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นก็มีการพาดหัวข่าวและการรายงานข่าวในทำนองเดียวกัน อาทิ คอลัมน์ ‘เส้นใต้บรรทัด’ ของ ‘จิตรกร บุษบา’ ก็พาดหัวว่า ‘ม.44=หัวหน้า คสช. พ่อทุกสถาบัน?’ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2557 ก็พาดหัวว่า ‘เหล่าทัพแบ่งเค้ก สนช. ประจินเผย "ทอ." ได้โควตา 20 คน/รัฐสภาแต่งห้องรอ’ เป็นต้น นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์ยังได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและยุติการตีพิมพ์หนังสือเป็นเวลา 1 เดือน ต่อมานายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความส่วนหนึ่งลงเฟสบุ๊คตอบรับจดหมายของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ว่า

"ด้วยความเคารพในกองบรรณาธิการผู้จัดการสุดสัปดาห์ ผมยืนยันมาตลอดว่า ‘ความกลัวทำให้เสื่อม’ โดยเฉพาะหากได้ทำหน้าที่อย่างสุจริต ตรงไปตรงมาแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เราละทิ้งหลักการและยอมศิโรราบให้กับอำนาจใดๆ อย่างง่ายดาย การยืนยันหลักการความเป็นอิสระของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมยืนยันว่าไม่มีความรู้สึกกดดันเลย องค์กรสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติซึ่งมีตัวแทนของผู้จัดการเป็นกรรมการอยู่ด้วยก็คงคิดไม่ต่างกัน

“อำนาจนั้นมาแล้วก็สาบสูญ ผู้ปกครองต่างมาแล้วก็สาบสูญ แต่ความเป็นอิสระของเราจะต้องดำรงอยู่ตลอดไป"

เหตุการณ์สุดท้าย เป็นการพร้อมใจตอบปฏิเสธเข้าร่วมสังฆกรรมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จากพรรคการเมืองหลักๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรครักประเทศไทย และ กปปส. ซึ่งในตอนแรก คสช. ได้แจ้งให้ทราบว่าขอให้ตัวแทนจากประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมนำเสนอหัวข้อการปฏิรูปตามแนวทางการปฏิรูปที่ คสช. ได้วางผังเอาไว้ 11 หัวข้อ

ทั้งสามเหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่าอำนาจเด็ดขาดของ คสช. ที่ได้มาจากเหตุผล ‘สถานการณ์ไม่ปกติ’ เริ่มถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของ คสช. เองจากเหตุผลดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะจากกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับ คสช. อยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพียงแต่ไม่แสดงออกให้เห็นอย่างเปิดเผยในช่วงนี้ แต่ยังมีการตั้งคำถามมาจาก กลุ่ม ‘เสื้อเหลือง’ และพรรคการเมืองต่างๆ อีกด้วย และเป็นไปได้ว่าอำนาจพิเศษนี้กำลังเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง

อันที่จริงอำนาจพิเศษของ คสช. เองก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทุกวันอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจากการออกคำสั่งในสองกรณีด้วยกัน คือ กรณีการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ในช่วงแรกมีคำสั่งไม่ให้มีการขายเกินราคา แต่ในภายหลังก็ต้องอนุโลมตามสภาพตลาดที่เป็นจริง คือมีการขายเกินราคา เพราะผลประโยชน์ที่แบ่งให้ยี่ปั๊วและซาปั๊วไม่ลงตัว กรณีต่อมาคือการออกคำสั่งห้ามสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และต่อมาก็ต้องอนุโลมตามข้อประท้วงของ 4 สมาคมสื่อฯ ที่มีการเจรจากับ คสช. และในที่สุดก็ให้มีการควบคุมกันเอง และหากพิจารณาให้ดี ความศักดิ์สิทธิ์ของ คสช. ก็เสื่อมลงนันบแต่วันแรกที่มีการออกมาตรการเคอร์ฟิวมิให้มีการเดินทางออกจากเคหะสถานหลังเวลาสี่ทุ่ม แต่ในทางปฏิบัติก็ทราบกันดีว่า มีการใช้ถนนสาธารณะและมีการขับขี่รถยนต์ให้บริการสาธารณะหลังเวลาสี่ทุ่มกันอยู่ทั่วไป

การที่คำสั่งของ คสช. ปราศจากผลบังคับเด็ดขาดนี้ จะเป็นไปกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจใต้ดิน (หรือเศรษฐกิจสีเทา) อันได้แก่ การนำเข้าแรงงานต่างชาติ การค้าของเถื่อน การฟอกเงิน การปล่อยกู้โดยไม่ถูกกฎหมาย การพนัน ยาเสพติด และการเพศพาณิชย์ เป็นต้น คสช. ตั้งสมมติฐานว่า นักการเมืองท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานทางการเงินและกำลังมวลชนให้กับกลุ่มมวลชนสีต่างๆ นั้น มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเทาเหล่านี้ ดังนั้น จึงต้องมีการกำกับดูแลเศรษฐกิจใต้ดินสีเทาอย่างเข้มงวดไปจนถึงกำหนดให้มีการพักการเลือกตั้งท้องถิ่นเอาไว้โดยชั่วคราว นัยว่าเพื่อรอให้มีการจัดระเบียบการเมืองท้องถิ่นให้อยู่ภายใต้การกำกับจากราชการส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทยอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน แต่ก็ขอให้ดูกันต่อไปว่าการกำกับเหล่านี้จะทำได้มากน้อยเพียงใด น่าสงสัยว่า คสช. เองจะปราศจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีเทาเหล่านี้อย่างแท้จริง เพราะเศรษฐกิจสีเทาเหล่านี้ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของคนชั้นรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนเหล่านี้ขาดโอกาสในการเข้าถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจากระบบเศรษฐกิจปกติมาเป็นเวลานานแล้ว เศรษฐกิจสีเทาจึงอยู่ได้เพราะการสนับสนุนโดยไม่เป็นทางการจากคนรากหญ้าเหล่านี้ เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าการอยู่อย่างลำบากยากแค้น เมื่อ คสช. ควบคุมเศรษฐกิจสีเทาเหล่านี้อย่างเข้มงวด ก็จะเกิด ‘ตลาดมืด’ ที่ยิ่งทวีความซับซ้อนและแอบซ่อนสายตาจากทางการอย่างแนบเนียนมากขึ้น

จะว่าไป ‘ฝีมือ’ ของเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำตามคำสั่ง คสช. แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ก็โดยธรรมชาติของระบบราชการที่ปราศจากความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้นั้นเอง ทำให้แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหากลับสร้างปัญหาอย่างใหม่ที่ร้ายแรงขึ้น อาทิ การควบคุมตัวคุณเปิ้ล-กริชสุดา นั้น จากคำสัมภาษณ์ของเธอทำให้เข้าใจได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ตัวเธอกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงเพราะการที่มีการถ่ายรูปคู่กันหลายใบ ซึ่งนำไปสู่สมมติฐานที่ว่า กิจกรรมที่คุณเปิ้ลได้ให้การสนับสนุนการ์ดคนเสื้อแดงหรือคนเสื้อแดงที่ถูกจำคุกอยู่นั้น เป็นงบประมาณที่ได้รับมาจากคุณทักษิณ (ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่กองทัพพยายามยืนยันความสัมพันธ์จากรูปถ่ายคู่นี้ ผมได้รับทราบมาจากผู้ถูกเรียกตัวไปรายงานท่านอื่นด้วยเช่นกัน)

จากข้อมูลนี้เอง ทำให้เราได้รับทราบว่าโดยลึกๆ แล้ว คสช. เองก็มิได้ไว้ใจคุณทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยมากนัก (อย่างที่ ‘คนเสื้อเหลือง’ เข้าใจ) แต่ความสัมพันธ์ของ คสช. กับคุณทักษิณมีลักษณะคล้ายกับกองทัพบกและกองทัพเรือ ภายหลังการโค่นอำนาจของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและนำไปสู่รัฐบาลทหารในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียมากกว่า

ฝ่ายคณะรัฐประหารที่ประกอบไปด้วยแกนนำของกองทัพบก ที่รู้สึกเสื่อมเสียเกียรติภูมิเนื่องจากเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลก (ต่างจากฝ่ายเสรีไทยที่สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม) ประกอบกับกลุ่มกษัตริย์นิยมที่เป็นเบี้ยล่างทางการเมืองให้กับกลุ่มคณะราษฎรตลอดมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฉวยโอกาสเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ประกาศยึดอำนาจ แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอำนาจนี้ก็มิได้เป็นไปโดยราบรื่น ในกองทัพบกเองก็มีนายทหารเสนาธิการที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ อาทิ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต ได้ให้ความเห็นหลังถูกจับกุมในคราวกบฎเสนาธิการว่า "ต้องการปรับปรุงกองทัพบกเพราะเสื่อมโทรม ผู้บังคับบัญชาไม่เอาใจใส่มัวแต่ไปยุ่งกับการค้า การเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของทหาร...คิดว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนั้น กองทัพบกของประเทศไทยจะอยู่ในสภาพน่าอายที่สุด จึงคิดปรับปรุงใหม่" หรือความเห็นของ พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ ที่กล่าวถึงสาเหตุการกบฏว่า "เพราะความเหลวแหลกของกองทัพบก นั้นคือการที่คณะรัฐประหารเข้ามาก้าวก่ายจัดการกองทัพบกเพื่อรักษาอำนาจ โดยเอาทหารนอกราชการที่ไม่เป็นที่ต้องการกลับราชการอีก" เป็นต้น

เมื่อหลังเหตุกบฏเสนาธิการ ก็ยังเกิดเหตุกบฏวังหลวง (หรือขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492) ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกันของกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ และกองทัพเรือ แม้กบฎวังหลวงจะถูกปราบปรามลงไปแล้วภายหลังการปะทะกันขนานใหญ่ระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือโดยเฉพาะที่แนวรบราชประสงค์ แต่กองทัพบกก็ยังไม่สามารถสยบกองทัพเรือลงได้อย่างเด็ดขาดต้องคอยประนีประนอม และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งจนได้โอกาสในการขจัดอำนาจของกองทัพเรือในภายหลังในกรณีเรือขุดแมนฮัตตัน

การเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ขึ้นสู่อำนาจโดยวิถีทางที่ไม่ปกติ จึงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจครั้งใหม่ในภายหลังจากความรุนแรงและการนองเลือดได้ยาก คสช. จึงมีเส้นทางในอนาคตอยู่ 3 เส้นทางด้วยกัน คือ เส้นทางแรก คสช. ยกข้ออ้างเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองนี้ รวมทั้งปิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนและประชาชน ใช้อำนาจเด็ดขาดต่อไปและมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการสืบทอดอำนาจภายหลังวาระของรัฐบาลชั่วคราวหมดลง เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสืบต่อมายังจอมพลถนอมกิติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งในที่สุดก็ต้องหมดอำนาจลงด้วยการเดินขบวนใหญ่ของขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เส้นทางที่ 2 เป็นเส้นทางของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งสามารถรวมศูนย์อำนาจในกองทัพไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายใต้การนำของคณะนายทหาร จปร.รุ่นที่ 5 แต่เมื่อจะมีการสืบทอดอำนาจพวกเขาก็ถูกโค่นล้ม ด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 (พล.อ. สุจินดา คราประยูร ให้การในวิทยานิพนธ์ของคุณวาสนา นาน่วม ในภายหลังว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างตัวเขากับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ จปร.รุ่นที่ 1 และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จปร. รุ่นที่ 7, ในหนังสือของคุณวาสนา ซึ่งได้พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์นั้นเอง มีคำให้การของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่พาดพิงถึงโทรศัพท์จาก ‘ผู้ใหญ่’ ที่มีการสั่งการให้ใช้กำลังทหารเตรียมเข้ายึดอำนาจ หาก พล.อ.สุจินดาไม่ยอมลงจากตำแหน่ง ซึ่ง พล.อ.พัลลภก็ได้ตั้งข้อสังเกตไปว่าอาจเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ แต่ก็ได้รับคำสำทับว่าให้ดำเนินการได้)

หรือเส้นทางสุดท้าย เป็นเส้นทางของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่แม้จะพยายามแล้ว แต่ก็ไม่อาจสร้างฐานการเมือง (บนพรรคการเมืองหนึ่ง) เพื่อทำการสืบทอดอำนาจ รวมทั้งปัญหาการแย่งชิงอำนาจระหว่างนายทหารสองกลุ่มใน คมช. เอง จนทำให้ต้องลงจากอำนาจอย่างทุลักทุเล แต่แม้กระนั้นก็เกิดเหตุขัดแย้งทางการเมืองจนต้องทำให้ใช้กำลังทหารปราบปรามต่อมาหลายครั้งจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ประชาชนจะกระทำได้ภายใต้บริบททางการเมืองที่แหลมคมเช่นนี้ คงต้องพิจารณาถึงหลักการที่ควรเป็น พิจารณาให้ดีถึงการขับเคลื่อนแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำที่แหลมคมและอำพรางการรับรู้ข้อมูลสำคัญจากสาธารณะ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แม้กระทั่งในกรณีการเมืองระหว่างประเทศ ในหนังสือ ‘The Blood Telegram: Nixon, Kissinger and a Forgotten Genocide’ ของ Gary J. Bass ได้เปิดเผยให้เห็นในภายหลังว่า ในช่วงที่มีเหตุการณ์นองเลือดใน ‘ปากีสถานตะวันออก’ ซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนมาเป็นประเทศบังคลาเทศนั้น ในปี 1971 กงสุลสหรัฐอเมริกาประจำกรุงดักกา นายอาร์เชอร์ บลัด ได้พยายามส่งโทรเลขเตือนประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ (จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ The Blood Telegram) ถึงการที่นายพลอักกา มูฮัมหมัด ยาย่า ข่าน ได้ออกคำสั่งให้กองทัพปากีสถานทำการปราบปรามประชาชนปากีสถานตะวันออกที่ลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลอย่างหนัก เพียงแต่กงสุลบลัดไม่ทราบว่าอันที่จริงแล้ว ทั้งประธานาธิบดีนิกสันและนายคิสซิงเจอร์ มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะให้การสนับสนุนนายพลข่าน ไม่ว่าเขาจะใช้กำลังกับคนในประเทศอย่างป่าเถื่อนอย่างไรก็ตาม เพราะนายพลข่านจะถูกสหรัฐอเมริกาใช้ให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงทางการทูตกับประธานเหมาเจ๋อตุง ผู้นำของประเทศจีนในขณะนั้น เพื่อจีนจะได้จัดวางยุทธศาสตร์ของตนให้บรรลุภาพใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในการปิดล้อมโซเวียตรัสเซีย

แผนยุทธศาสตร์ที่เช่นนี้ดำเนินไปภายใต้กรอบการมองโลกแบบ ‘การเมืองอันจริงแท้’ (หรือ realpolitik) และออกห่างจากหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้น น้อยคนจึงล่วงรู้ถึงแผนการณ์นี้ (ในภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยุติการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในการทำสงครามปฏิวัติสู้กับทางการไทย จนทำให้เป็นสาเหตุหลักสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. ต้องพ่ายแพ้และทำให้บรรดานักศึกษาปัญญาชนที่ร่วมปฏิวัติกับ พคท. ต้องออกจากป่า) แกรี่ บาส เอง ได้เปิดเผยว่า คิสซิงเจอร์พยายามปิดบังข้อมูลเหล่านี้และเขาถึงกับทำข้อตกลงกับหอจดหมายเหตุของสภาคองเกรสไม่ให้เปิดเผยเอกสารสำคัญ จนกว่าเขาจะเสียชีวิตไปแแล้ว

การใช้อำนาจเด็ดขาดด้วยข้อยกเว้นจาก ‘เหตุผลแห่งรัฐ’ จึงมีเบื้องหลังดำมืดอันน่าสงสัย (คงไม่ต้องกล่าวถึงการใช้อำนาจตรวจสอบสาธารณะต่อผู้มีอำนาจสาธารณะอย่างที่พยายามจะยกกันขึ้นมาในช่วงเวลาที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย) ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองที่ ‘เล่น’ กับความไม่รู้และความกลัวของพลเมือง แทนที่จะตอบคำถามต่อข้อสงสัยในการใช้อำนาจสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน แต่เขาจะโยนข้อสงสัยเหล่านั้นไปในม่านหมอกแห่งความไม่รู้ ดังคำให้สัมภาษณ์ของนายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกาที่ตอบคำถามต่อสื่อมวลชนที่สอบถามเขาตรงๆ ว่า สหรัฐอเมริกามีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าอิรักครอบครองอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างอย่างร้ายแรงหรือไม่ว่า ในโลกนี้มีสิ่งที่เรารู้ว่าเรารู้ และมีสิ่งที่เรารู้ว่าเราไม่รู้ แต่ก็มีอีกกรณีหนึ่งที่เขาพยายามชี้ว่าสถานการณ์เป็นเช่นนี้คือ ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้

หน้าที่ของสื่อมวลชนจึงต้องคลี่คลายและทำความกระจ่างต่อปมในเรื่องที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ และเปิดให้สาธารณะได้ทำความเข้าใจและตัดสินใจได้โดยอิสระ มากกว่าที่จะเล่า ‘นิทาน’ เสริมความไม่รู้นั้นโดยไม่จบไม่สิ้น เพราะ ‘ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ, แต่ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป’.