วันอังคาร, กันยายน 16, 2557

คนไทยต้องอ่าน! - "ยุทธการรุมยิงนกในกรง" โดย พล.อ.อดุล อุบล

ภาพ : พล.อ.อดุล อุบล (ที่มาภาพจาก http://www.noom11.com/members/slideshow.php?directory=photo_new1)

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับประจำวันที่ 7-13 มีนาคม 2557

ฝากไว้ ให้ตราตรึง
พล.อ.อดุล อุบล

--------------

ยุทธการ "รุมยิงนกในกรง"

--------------

ผมขออนุญาตอีกครั้งหนึ่งครับ ด้วยที่ผมคงต้องเขียนอะไรแรงๆ ลงไปในตอนนี้ เนื่องจากความรู้สึกที่อดสูและสมเพชในบุคคลหลายคนที่ไม่ควรจะเป็นได้ถึงตำแหน่งเหล่านั้น

มันเป็นเรื่องที่พวกเราคงทราบดีกันแล้วจากสื่อเป็นเรื่องที่ hot ที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมตอนนี้ และจะเป็นเรื่องที่มีผลในทางคดีความกันไปอีกนาน และอาจจะเป็นความแตกแยกภายในชาติอีกระดับหนึ่ง ถ้าแก้ไขกันไม่ถูกต้อง

ผมไม่ได้รับหนับสือเสนาธิปัตย์มาเป็นปี ทั้งๆ ที่จ่ายเงิน (โดนหักโดยอัตโนมัติ) มาตลอด ก็ไม่ทราบเรื่องราวอัปยศเช่นนี้ มาทราบก็ต่อเมื่อมีการออกมาวิจารณ์กันทางสื่อเรียบร้อยแล้ว และก็มีทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องโทรศัพท์มาถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

ทั้งพี่และน้องเหล่านั้นพูดเหมือนกันว่า "มันเป็นทหารกันหรือเปล่าวะ" สามารถออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อาวุธสงครามที่จัดหามาจากภาษีอากรของประชาชน สังหารประชาชนมือเปล่า

แล้วยังมีหน้ามาวิเคราะห์บทเรียนจากการปฏิบัติการนั้นว่าสำเร็จอย่างเลอเลิศสรรเสริญและชื่นชมกันราวกับ"วีรบุรุษสงคราม" ผู้พิชิตชัยชนะในสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชน ภายในชาติของตนเองที่มีแต่มือเปล่า และเต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิง และคนแก่

ผมอยากจะทราบว่า ถ้าผู้ที่มาร่วมชุมนุมเหล่านั้นถืออาวุธมาจากบ้าน อย่างน้อยปืนสั้นหรือปืนยาวคนละกระบอกพร้อมกระสุนตามมีตามเกิด ภาพมันจะเป็นอย่างนี้ไหม

บางคนบอกว่า การวิเคราะห์ "บทเรียนจากการกระชับวงล้อม" (ในหนังสือเสนาธิปัตย์) ผู้วิเคราะห์ถูกสั่งให้กระทำเพื่อเป็นการเอาใจ (มันก็ประจบสอพลอนั่นแหละวะ) ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามันจะถูกกระทำขึ้นเพื่อเป็นการเอาใจ หรือเพื่อการเป็นการนำไปใช้ฝึกและศึกษา หรือเป็นองค์ความรู้ทางวิชาการ หรือเพื่อเป็นการอยากจะบอกความจริงของผู้วิเคราะห์ก็ตาม มันก็เป็นประวัติศาสตร์อัปยศของกองทัพอยู่ดี

ผมอยากจะรู้ว่าเราจะเอาประสบการณ์ องค์ความรู้ หรือ ผลแห่งความสำเร็จนี้ไปอวดใครที่ไหน

อย่าว่าแต่กับประชาชนภายในชาติเลย ต่อให้ทหารต่างชาติและสังคมโลก เขาคงจะต้องสมเพชกองทัพไทยแน่

ผมมีความภาคภูมิใจมากในอดีตที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่ทั้ง 2 หน่วยนี้ คือ อาจารย์อำนวยการส่วนวิชายุทธวิธี รร.เสนาธิการทหารบก

และก่อนหน้าที่จะเป็นพลเอกนี้ ผมเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นตำแหน่งที่เขาขนานนามกันว่า "ครูใหญ่ของกองทัพบก"

ผมไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าหน่วยที่ผมภาคภูมิใจจะทำเอกสารทางวิชาการออกมาได้แบบนี้

ผมอยากจะถามว่า พวกท่านมีความรู้สึกเป็นวีรบุรุษและมีความภาคภูมิใจมากนักหรือกับความเป็นจริงเหล่านี้

1. ท่านใช้กำลังทหาร 4 กองพล ซึ่งเท่ากับ 1 กองทัพน้อย (corps) ที่กองทัพ US ใช้เป็น Main effort (ME) ในการขับไล่กองทัพอิรักออกจากการยึดครองประเทศคูเวต แต่พวกท่านเอามาใช้ล้อมปราบประชาชนที่ไม่มีอาวุธ และเต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิง และคนแก่

2. ท่านใช้พลซุ่มยิงทั้งกองทัพ รุมยิงเป้าหมายผู้ชุมนุมที่ถูกล้อมอยู่ ดุจดัง ยิงนกในกรง

3. ท่านประกาศว่าเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชนภายในชาติด้วยกำลังรบผสมเหล่า ทั้งทหารราบ ทหารม้ายานเกราะ หน่วยบิน พลซุ่มยิง หน่วยรบพิเศษ หน่วยส่งทางอากาศ ขาดแต่อาวุธปืนใหญ่ นี่ยังไม่นับหน่วยข่าวกรองอีกจำนวนมาก

4. ท่านมีความภาคภูมิใจว่ามีการวางแผนประณีตมีการซักซ้อมกันมาเป็นอย่างดี

5. ท่านให้ข้อมูลที่ทำให้แน่ใจได้ว่ามีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารเป็นอย่างดี เพราะทั้งรัฐบาลและกองทัพมีความเป็นเอกภาพ มีการสั่งและควบคุมการปฏิบัติการอย่างสมบูรณ์แบบตามลำดับสายการบังคับบัญชา (Chain of Command)

6. ท่านชี้ให้เห็นถึงการใช้กระสุนจริงเป็นผลดีต่อขวัญและกำลังใจของทหาร โดยเฉพาะมีการประกาศเขตใช้กระสุนจริงใน down town ของ กทม.

แค่นี้ผมก็อยากจะอ้วกแล้วครับ

ผมคิดว่าท่านกำลังจะทำให้นายทหารรุ่นหลังๆ เข้าใจผิดไปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นบทบาทและหน้าที่ของทหารของชาติอย่างแท้จริง หรือก็เพราะไอ้ชัยชนะแบบนี้เองหรือเปล่าที่ทำให้หลงคิดว่ารบเก่งกันทั้งกองทัพอยู่ทุกวันนี้

เคยคิดในมุมมองอื่นกันบ้างหรือไม่ว่าเหตุการณ์นี้ต้องทำบทเรียน (Lesson Learn) แน่นอน

แต่ทำอีกด้านหนึ่งคือวิจารณ์ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อีก

และถ้ามันเริ่มมีอาการเราจะหยุดอาการเหล่านั้นตั้งแต่แรกอย่างไร

จะดับเหตุแห่งความขัดแย้งในสังคมตั้งแต่แรกได้อย่างไร

เมื่อถึงขั้นที่การควบคุมจะเป็นไปไม่ได้แล้วใครจะเป็นฝ่ายเสียสละระหว่างประชาชนส่วนใหญ่หรือรัฐบาล

บทวิเคราะห์ของ ยศ.ทบ. กรณีนี้ไม่ได้อะไรแก่สังคมนอกจากการขยายช่องว่างของความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก และได้คิดกันบ้างหรือเปล่าว่าข้อเท็จจริง (Facts) ที่ท่านเอามาเป็นหลักฐานในการวิเคราะห์นั้น มันจะกลับมาเป็นพยานหลักฐานว่าบรรดาฝ่ายการเมืองและผู้นำทหารกล่าวเท็จกับสาธารณชนไว้อย่างไรบ้าง แล้วมันจะนำไปฟ้องเป็นคดีความกันได้มากน้อยขนาดไหน

ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ มันเป็นการยอมรับกับผู้ชุมนุมว่ารัฐบาลไม่เคยมีความมุ่งหมายในการเจรจานอกจากการสลายการชุมนุมเท่านั้น

จึงเท่ากับส่งสัญญาณให้ฝ่ายชุมนุมตระหนักว่าในการชุมนุมครั้งต่อไป ไม่ว่าจะชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ พวกเขาจะต้องถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงและด้วยกำลังทหารแน่นอน

ดังนั้น จะเป็นอะไรไปถ้าพวกเขาจะนำอาวุธประจำบ้านตามมีตามเกิดติดตัวมาด้วยเพื่อป้องกันตนเอง แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้น

ผมไม่อยากนึกถึงภาพเลย (เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2554)

ปฏิบัติการ "ป้ายร้าย - ใส่สี"

ผมได้อ่านบทความเรื่อง บทเรียนจากการปฏิบัติการข่าวสาร กรณี ปปส. ในเมือง (มีนาคม-พฤษภาคม 2553) ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือเสนาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากบทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม อดไม่ได้ที่จะต้องเขียนมาเสนอความเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ และบุคคลทั่วไปครับ

ผมเชื่อว่าทุกคนเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ มีนาคม-พฤษภาคม 2553 และรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมากมายปานใด มันส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม สถาบันการเมืองการปกครอง และสถาบันความมั่นคงของประเทศ (ทหาร, ตำรวจ) อย่างไร

และที่สำคัญที่สุดคือ ความแตกแยกของพลเมือง (country men) ทุกหัวระแหงอย่างที่ผมไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต จนกระทั่งวันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับไปเหมือนเดิมได้อีกหรือไม่

เห็นไหมล่ะครับว่าการใช้กำลังทหารซึ่งเป็นของทุกคนภายในชาติไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด สีใด ยากดีมีจนเพียงใด ออกมาจัดการกับประชาชนภายในชาติอีกฟากหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับผู้มีอำนาจในประเทศมันมีแต่ผลเสียเกินกว่าที่จะคาดคิดนัก

เพราะเหตุว่าในท้ายที่สุดแล้ว มันจะไม่มีฝ่ายใดชนะ มันจะมีแต่ความพ่ายแพ้ของทุกฝ่ายอย่างถาวร

เมื่อนำทหารถืออาวุธออกมา ความตึงเครียดของทุกฝ่ายย่อมทวีขึ้นแน่นอน เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้นจะส่งผลสำคัญให้ฝ่ายที่สูญเสียโกรธ เกลียด ชิงชัง เคียดแค้น ความต้องการหาความยุติธรรมให้ฝ่ายตนด้วยการแก้แค้นทุกวิถีทางก็จะเกิดขึ้น

สำหรับฝ่ายที่ทำให้สูญเสียจะเกิดความกลัวความผิดจากการกระทำของตนเองก็จะต้องป้องกันทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องพ้นความผิด

สถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อใดและอย่างไรคงยากที่ผู้ใดจะตอบได้เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องแสดงให้ทุกฝ่ายได้เห็น

บรรดาประเทศที่ศิวิไลซ์เขาจึงต้องกันกองทัพประจำการของชาติของเขาไว้ไม่ให้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เพื่อประกันไม่ให้กองทัพต้องตายไปจากหัวใจของประชาชนพี่น้องร่วมชาติ

เมื่อเรานำกองทัพถืออาวุธออกมาและสถานการณ์ได้พัฒนาตัวของมันเองไกลออกไปจนเกิดความรุนแรง กองทัพก็ต้องนำวิธีการทางทหารทุกประการออกมาใช้เพื่อให้ได้ชัยชนะ

โดยไม่ได้คิดว่าตามปกติแล้ววิธีการทางทหารนั้นเขาใช้กับข้าศึกที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนและประเทศชาติของเรา

เช่นเดียวกับการที่กองทัพ และ ศอฉ. ได้นำการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) หรือ IO มาใช้ในการสนับสนุนการสลายมวลชนใน มีนาคม-พฤษภาคม 2553 IO นั้นเป็นกระบวนการทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง ใช้ทั้งความดีและความชั่วร้าย ใช้ทั้งความจริงและการโกหกหลอกลวงที่ฝ่ายเรากระทำต่อข้าศึกเพื่อให้ได้ผลทั้งทางกายภาพและทางจิตวิทยา โดยเฉพาะต่อข้าศึก ทำให้ข้าศึกตกเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายเราในทุกด้านของการปฏิบัติการทางทหาร

เมื่อฝ่ายเรากระทำต่อข้าศึกมันไม่เป็นอะไรหรอกครับเพราะฝ่ายข้าศึกเขาก็ยอมรับกฎกติกาในเรื่องนี้ของการทำสงครามซึ่งฝ่ายเขาก็จะทำกับฝ่ายเราซึ่งเป็นข้าศึกของฝ่ายเขาเช่นกัน

เมื่อเสร็จสิ้นสงครามไม่ว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะก็จบกันไปไม่ได้มาเกี่ยวข้องกันหรือมีความสัมพันธ์กัน ต้องอยู่ด้วยกันในฐานะคนร่วมชาติเดียวกัน

แต่เมื่อฝ่ายกองทัพ และ ศอฉ. นำเรื่องของ IO ตามที่กล่าวมาแล้วมาใช้กับประชาชนซึ่งเป็นพี่น้องร่วมชาติ อะไรมันจะเกิดตามมาเมื่อจบเหตุการณ์แล้ว

และยิ่งไปกว่านั้น ผู้มีอำนาจของฝ่าย ศอฉ. ยังขยายความเจ็บแค้นต่อไปอีกด้วยการสั่งให้ฝ่ายตนเองวิเคราะห์บทเรียนแห่งความสำเร็จจากการหลอกลวงประชาชน ให้สังคมได้รับทราบอย่างภาคภูมิและมีเกียรติยิ่ง

มันเป็นเรื่องของเกียรติยศและน่าภาคภูมิใจมากนักหรือกับการที่ท่านป้ายความชั่วร้ายให้แก่อีกฝั่งฟากหนึ่งด้วยข้อหาร้ายกาจสุดโต่งที่ไม่ต้องการพิสูจน์และไม่ต้องมีหลักฐานและกับการที่ใส่สีสัน เพิ่มความรุนแรงน่ากลัวของสถานการณ์ลงไปด้วยการตัดต่อภาพนิ่งและภาพวิดีโอ (ตามที่ท่านได้ยอมรับไว้ในเอกสาร) เพื่อสร้างความเลวร้ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนในชาติยอมรับความจำเป็นในการปราบปราม

เนื่องจากสอนใน รร.เสนาธิการทหารบกมาหลายรุ่น ผมเข้าใจและรู้ว่าปัจจัยแห่งการได้รับชัยชนะในการทำสงครามนั้นประการสำคัญประการแรกคือ ความชอบธรรม (Legitimacy) ในการทำสงคราม

และสาเหตุแห่งความชอบธรรมนั้นมันสร้างกันได้ และบางครั้งก็ต้องสร้างขึ้นมาเองด้วย

ผมก็สอน นทน.รร.สธ.ทบ. ไปหลายรุ่น แต่ผมไม่เคยหวังให้พวกเขาเหล่านั้นนำมาใช้กับเพื่อนร่วมชาติ

ทหารในกองทัพชาติจะต้องเป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ดี เป็นที่พึ่งของชนในชาติ ไม่มีวันที่พวกเขาจะโกหกพี่น้องร่วมชาติเพื่อความชอบธรรมได้ พวกเขาจึงจะสามารถประทับอยู่กลางใจมหาชน ไม่ใช่ตายไปแล้วจากหัวใจของประชาชนเหมือนบางคนทุกวันนี้ (เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2554)