วันศุกร์, ตุลาคม 10, 2557

พิมพ์เขียวปฏิรูปด้านการเมือง เสนอที่มานายกฯ 2 ทาง คือเลือกตั้งและแต่งตั้ง


ภาพจาก คมชัดลึก
เรื่อง สำนักข่าวไทย

รัฐสภา 9 ต.ค.- พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไป จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไม่เกิน 2 วาระ ห้ามบุคคลกระทำผิดต่อสถาบันลงสมัครรับเลือกตั้งทั้ง ส.ส.และ ส.ว.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำเอกสารข้อมูล 11 ด้าน เรื่องการปฏิรูปประเทศ หรือพิมพ์เขียว ที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับฟังและรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมของประชาชน ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สปช.ไปศึกษาและเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ซึ่งหัวข้อเรื่องการปฏิรูปด้านการเมือง มีสาระสำคัญ คือ

1.รูปแบบรัฐสภา มีข้อเสนอ 2 รูปแบบ คือ รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี โดยตรง จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาคราวเดียวกัน กับ รัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอ้อม ซึ่งมีข้อเสนอ 3 แบบ คือ 1.แบบสภาเดี่ยว มีเฉพาะ ส.ส. ทำหน้าที่ตราและปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น 2.แบบ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา และ 3 แบบ 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และสภาประชาชน

2.พรรคการเมือง ให้ตั้งพรรคการเมืองโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่าย ปราศจากการครอบงำของทุน ห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส.เพื่อออกเสียงสนับสนุนหรือเข้าร่วมประชุม สำหรับการเสนอนโยบายพรรค ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบนโยบายพรรคที่ไม่เป็นประชานิยม และนโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามที่กระทรวงการคลังประกาศไว้

3.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีกรอบความเห็นที่ต้องแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง และคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ จึงมีข้อเสนอ คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีข้อเสนอคือ 1.ไม่สังกัดพรรคการเมือง 2.ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี 3.ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา 4.มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีไพร์มารี่ โหวต จากประชาชนในพื้นที่ 5.จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน 6.ห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันลงสมัครรับเลือกตั้ง

7.ให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ การเลือกรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง หากใครได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะ 8.วิธีออกเสียงลงคะแนน ให้นำคะแนน Vote No มาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าคะแนน Vote No มากกว่าให้เลือกตั้งใหม่ 9. ยกเลิกลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและนอกเขตจังหวัด เพราะมีช่องทำให้เกิดทุจริต 10.การถอดถอนต้องทำโดยศาลเลือกตั้งและศาลทุจริต คอร์รัปชั่น 11.ออกกฎหมายมาตรการลงโทษนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องนักการเมืองทุจริตได้โดยตรง

4.สมาชิกวุฒิสภา ให้มาจากการเลือกตั้งและสรรหา การสรรหาให้มาจากกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ได้ตัวแทนทุกกลุ่ม จำนวนต้องเท่ากับ ส.ส.เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคการเมือง ห้ามไม่ให้คนที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็น ส.ว. และห้าม ส.ว.ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 6 ปี

5.นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เสนอรูปแบบการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี 2 วิธี คือ 1.จากการเลือกตั้งโดยตรง ผ่านระบบบัญชีรายชื่อ หรือ เลือกตั้งโดยอ้อม คือให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ 2.จากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การตรวจสอบและถอดถอนให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว.

6.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้านโครงสร้างองค์กรตุลาการทางการเมือง มีข้อเสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนดและกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความคดีทางการเมือง และยกเลิกมาตรการคุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม

7.ศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้ปรับโครงสร้าง ให้ทำในรูปแบบตุลาการพระธรรมนูญ ที่มีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไม่ควรจัดในรูปศาลที่มีอายุ 9 ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ต้องแบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญเป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ มีหน่วยสนับสนุนทางวิชาการทำงาน และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น

8.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ปรับโครงสร้าง กกต.ให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ ฝ่ายการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. ขณะที่ กกต.จังหวัดต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัด หรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ขณะที่การเพิ่มความเข้มแข็งของ กกต. ต้องหมุนเวียน ผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดทุก 3 ปี ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ส่วนการวินิจฉัยความผิดให้เป็นหน้าที่ของศาล

9.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอให้ปรับโครงสร้าง ป.ป.ช. โดยเพิ่มสัดส่วน กรรมการสรรหา ป.ป.ช.จากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น

10.การเมืองภาคพลเมือง มีข้อเสนอให้เปิดพื้นที่ให้เข้าร่วมกับภาครัฐในด้านตรวจสอบ มีส่วนร่วมการพัฒนา.


มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เวลา 10.15 น. ที่รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวเป็นสมาชิก สปช. ว่า เรื่องที่จะมีการทาบทามให้ไปเป็นประธาน สปช.นั้น คิดว่าตราบใดที่กำลังวังชาของตนนั้นยังมีอยู่ก็เป็นได้ เพราะเรามีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติสนกว่าจะสิ้นลมหายใจ ซึ่งนโยบายของพรรคของพรรคภูมิใจไทยอยากให้ประเทศไปในทิศทางที่ดีทุกด้าน เนื่องจากตั้งแต่เล่นการเมืองมา 42 ปี ครั้งนี้เฟะที่สุด โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ตั้งแต่สื่อมวลชน ชาวนา และทุกๆด้าน ส่วนแนวทางการทำงานนั้นมองว่าแนวการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ของคณะรักษาความสงบ (คสช.)ยังไม่ครอบคลุม จึงคิดว่าน่าจะต้องมีการเพิ่มหัวข้อในอีกหลายด้าน เช่น ตัวแทน สปช.จากทั้ง 77 จังหวัด ควรเสนอแนวทางปฏิรูป โดยเฉพาะทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อถามว่า มองกรอบระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร นายชัย กล่าวว่า คงเป็นไปได้ยากในระยะเวลา 6 เดือน เพราะถือว่าเร็วไป แต่สุดท้ายแล้วการร่างรัฐธรรมนูญจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับแนวคิดของ คสช.ที่วางไว้ ว่าจะไปในทิศทางเดียวกันกับแนวคิดของ สปช.ที่ได้หรือไม่ ซึ่งตนมองว่าควรให้นักปฏิบัติเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก เนื่องจากนักวิชาการมีความรู้แต่ปฏิบัติไม่เป็น แต่จะมีการทำประชามติด้วยหรือไม่นั้น หากเขียนรัฐธรรมนูญออกมาดีก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ

ส่วนที่มีการมองว่ามีนักการเมืองเข้าร่วมการปฏิรูปไม่มากอาจจะมีผลกระทบนั้นทุกพรรคการเมืองมีตัวแทนเข้ามาร่วมหมดแต่ไม่แสดงตัว เพราะไม่อยากแปดเปื้อน แต่ตนไม่กลัวที่จะแปดเปื้อน เพราะว่าตนต้องการที่จะปฏิรูปประเทศจริงๆ ซึ่งตนรู้สึกแปลกใจที่ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการ หรือ พระสุเทพ ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการปฏิรูปเป็นจำนวนมาก แต่พอเอาเข้าจริงกลับไม่มีใครเข้ามาร่วมเลย


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1412838646