วันอังคาร, ตุลาคม 14, 2557

รำลึก 41 ปี 14 ตุลา ด้วย 2 คลิป... บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 + 100หนังสือดี 14 ตุลาที่ควรอ่าน 12 10 2014


https://www.youtube.com/watch?v=KLgNO9KX_qA

Published on Jul 15, 2012

บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย "เหตุการณ์14 ตุลาคม 2516" หรือ "วันมหาวิปโยค" เมื่อนิสิต นักศึกษาและประชาชนกว่า 500,000 คนชุมนุมประท้วงเพื่อ"เรียกร้องรัฐธร­รมนูญ"และ"คัดค้านอำนาจรัฐบาลจอ­มพลถนอม กิตติขจร" (ซึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองเมื่อวันที­่ 17 พฤศจิกายน 2514) 

การเดินขบวนเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาส­ตร์ ออกไปตามถนนราชดำเนินสู่ลานพระบรมรูปทรงม้­า ก่อนจะปะทะระกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร กลายเป็นการจราจล และเกิดการนองเลือด มีนักศึกษาและประชาชนสูญเสียชีวิต 77 คนและบาทเจ็บ 857 คน 

เหตุการณ์สงบลงในค่ำวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อ ถนอม ประภาส ณรงค์ หนีออกนอกประเทศ และมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน 

ปัจจุบันได้มีการก่อสร้าง "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวบริเวณ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิ 14 ตุลา ขึ้นด้วย 

ต่อมาในปี 2545 รัฐบาลได้มีการกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นับเป็นการแสดงพลังทางการเมืองของประชาชนค­รั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย­­สมัยใหม่ (นิตยสารสารดคี)
....

100หนังสือดี 14ตุลาที่ควรอ่าน 12 10 2014
https://www.youtube.com/watch?v=Uvt5H3Izh9k&feature=youtu.be

Published on Oct 12, 2014
แนะนำ 100 เล่ม หนังสือดี 14 ตุลา หนึ่งในโครงการของคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ วันอาทิตย์นี้ 13.00 น. ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา (ตึกหลัง) สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ถ่ายทอดสดทีมงานม้าเร็ว
...

รายงาน: แนะนำ 100 เล่มหนังสือดี เวอร์ชั่น 14 ตุลา


ที่มา ประชาไท
Mon, 2014-10-13 18:20

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญ ที่มีการออกมาประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนหลายแสนคน มีการจัดกำลังจากเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้กำลังและอาวุธกับนักศึกษาและประชาชน เหตุการณ์ครั้งนั้นฝ่ายนักศึกษาได้รับชัยชนะถือว่าเป็น “ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน” ปัญญาชนหนุ่มสาวออกมาแสดงอุดมการณ์กันอย่างเสรี ในวาระครบรอบ 41 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา วันที่ 12 ต.ค. 2557 คณะกรรมการจัดงาน 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยสมาคมเครือญาติ และวีรชน 14 ตุลา 16 และเครือข่ายญาติเดือนตุลา มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ 100 เล่มที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะให้คนหนุ่มสาวรุ่นหลัง ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ว่าวีรชนคนเดือนตุลาต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารอย่างไร ทำไมพวกเขาจึงต้องออกมาเดินขบวนกลางเมืองหลวงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

แนะนำหนังสือแรงขับเคลื่อนยุคเผด็จการครองเมือง
วัฒนชัย วินิจจะกูล อดีตผู้จัดการ มูลนิธิอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หนึ่งในกรรมการคัดเลือกหนังสือในโครงการ “100 เล่มหนังสือดี 14 ตุลา” บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์โครงการว่า เป็นการคัดเลือกหนังสือดี 14 ตุลา ที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นงานด้านวิชาการหรือเชิงสารคดี เรื่องแต่งและบทกวี เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการทำกิจกรรมและศึกษาประวัติศาสตร์ภายในโรงเรียนหรือห้องสมุด

โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ หนึ่ง ต้องมีความสมเหตุสมผลในการใช้หลักฐาน การอ้างอิง และมีกรอบแนวคิดวิเคราะห์ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องตีพิมพ์ภายในปี พ.ศ. 2516 – 2519 และ สอง ต้องมีความสำคัญทางบริบททางความคิดและสังคม ช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นงานที่นำเสนออย่างมีชั้นเชิง กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เนื้อหาส่งเสริมความเข้าใจและสะท้อนสังคม อาทิ การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ความหมายของชีวิต สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรมทางสังคม

“เราจะไม่มีทางเข้าใจว่าทำไมยุคสมัยคนรุ่นนั้น รวมทั้งคนหนุ่มสาวจึงคิดแบบนั้น ทำแบบนั้น เพราะฉะนั้นหนังสือกลุ่มนี้จะถูกกำกับกรอบเวลาไว้ ถ้าจะทำเรื่องหนังสือในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน และช่วงที่ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ที่ทำให้หนังสือเหล่านี้ ถึงไปมีอิทธิพลทางแนวคิดและการเคลื่อนไหวของคนได้” วัฒนชัย ให้เหตุผลในการจำกัดช่วงเหตุการณ์ในหนังสือ

วัฒนชัย กล่าวต่อว่า มีการยกรายชื่อมาทดสอบในเบื้องต้น 96 รายชื่อ ในช่วงแรกมีการทำแบบสอบถาม โดยกลุ่มที่ได้ทำการทดสอบคือ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็จะมีการแสดงความคิดเห็นและสะท้อนออกมาว่า เล่มไหนสมควรและเล่มไหนไม่สมควร หรือเสนอหนังสือนอกเหนือจากที่คัดเลือกมา ก็ได้มีการปรับปรุงแบบสอบถาม ส่งไปยังผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา 47 ท่าน และมีผู้ที่ส่งใบสำรวจกลับมา 17 ท่าน มีรายชื่อหนังสือที่นำเสนอมาเพิ่ม 51 เล่ม รวมทั้งหมดเป็น 147 รายชื่อ และมีการทำแบบสอบถามกันอีกครั้ง ในการคัดเลือก

“ในแง่ของจุดอ่อนของการคัดเลือก หลายเรื่องหลายเล่ม ที่เราต้องคอยเตือนตัวเองว่า อย่าเอาแว่นสายตาของปัจจุบัน ถอยกลับไปตีค่ารายชื่อหนังสือที่ถูกนำเสนอเข้ามา หลายครั้งที่เราต้องดึงตัวเองแล้วบอกว่า บริบทสังคมการเมือง เศรษฐกิจ ยุค 14 ตุลา หนังสือที่เขาชื่นชมในยุคนั้น แต่เรามาอ่านหนังสือเล่มเดียวกันในยุคนี้ อาจหัวเราะเฮฮาว่าคิดกันไปได้ขนาดนั้นได้อย่างไร แต่ยุคนั้นคงไม่ใช่เรื่องขบขัน ในกระบวนการคัดก็พยายามที่จะเตือนตัวเองตลอดเวลา” วัฒนชัยกล่าว

วัฒนชัย แบ่งประเภทหนังสือทั้ง 100 เล่มเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย หนึ่ง กลุ่มล้าสมัย คือเนื้อหาในหนังสือที่ใช้สร้างอุดมการณ์ในยุคนั้น แต่นำมาใช้ในยุคนี้ไม่ได้ สอง กลุ่มร่วมสมัย รายละเอียดในหนังสือจะมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน สาม กลุ่มล้ำสมัย เนื้อหาหนังสือจะมีการพูดถึงความเท่าเทียมในเชิงอุดมคติ และ สี่ กลุ่มรุกสมัย มีเนื้อหาที่ไม่ยอมจำนนต่อสิ่งแวดล้อมที่ดำรงอยู่ มีการต่อสู้ เป็นจิตวิญญาณของ 14 ตุลา

เขาตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หนังสือที่มีรายชื่อทั้ง 100 เล่ม พบว่าปัจจุบันมีเพียงแค่ 14 เล่มที่หาซื้อได้ตามร้านทั่วไป ที่เหลือ 86 เล่ม กลายเป็นหนังสือที่หายาก คนที่สนใจต้องเข้าไปหาข้อมูลตามห้องสมุดใหญ่ๆ เท่านั้น หรือหาตามร้านหนังสือมือสองและจากอินเทอร์เน็ต และมีบางส่วนที่ไม่สามารถหาได้แล้ว ดังนั้น การที่คนรุ่นหลังจะเข้าใจผิดกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าถึงองค์ความรู้ ผ่านสื่อหนังสือเหล่านั้น มีแหล่งข้อมูลที่เข้าใจเรื่อง 14 ตุลา น้อยเกินไป หนังสือที่หาอ่านได้ในยุคนี้ก็มีเนื้อหาที่ค่อนข้างไม่ครอบคลุม เนื่องจากหนังสือดีในเมืองไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นหนังสือขายไม่ดี คนที่พิมพ์หนังสือดีออกมาขายจึงมีน้อย

“บางทีเรื่องอย่างนี้อาจจะต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลไหม ที่จะพิมพ์หนังสือที่ดี ที่เยาวชนสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ และนำไปคิดไปถกเถียงวิจารณ์กันได้ แน่นอนว่ารัฐบาลที่จะทำอย่างนี้ไม่ได้ คือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากบรรยากาศของประชาธิปไตย นี่คือความเชื่อส่วนตัว ถ้าเป็นรัฐบาลที่เรากดดันเรียกร้องได้คงต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากกระบวนและบรรยากาศประชาธิปไตย” วัฒนชัย กล่าว

วัฒนธรรมหนังสือ อุดมการณ์เพื่อการเปลี่ยน
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระบวนการ 14 ตุลา ทั้งหมดที่เกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดจาก “วัฒนธรรมหนังสือ” 14 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากหนังสือ

สุธาชัย ชี้ว่า 14 ตุลา เกิดจากขบวนการทางความคิดชุดหนึ่งซึ่งเคลื่อนไหวด้วยหนังสือ โดยนำพาความรู้ชุดใหม่ เปรียบดังอาวุธใหม่มา ในยุค ถนอม-ประภาส นักวิชาการหลายคนรับทุนศึกษาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อที่มาต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อได้เข้าไปศึกษากลับพบว่าสหรัฐฯ มีการเลือกตั้งทุก 4 ปี ขณะที่ประเทศไทยไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง ถึงแม้จะเกิดการเลือกตั้ง ยังมีเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้น

สุธาชัย กล่าวต่อว่า แนวคิดปรัชญาการเมืองก่อน 14 ตุลา ถือว่าเป็นเรื่องเก่าสำหรับตะวันตก แต่สำหรับเมืองไทยถือว่าเป็นเรื่องแปลกในสังคม ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ 14 ตุลา มีกระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม เพราะไม่พอใจการที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปทำสงครามที่เวียดนาม ทำให้ประชาชนถูกเกณฑ์ทหารและเสียชีวิตจำนวนมาก กระแสที่เกิดขึ้นนักศึกษาไทยได้รับอิทธิพลมาจากการต่อต้านครั้งนี้โดยตรง

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่หนังสือสร้างอุดมการณ์ ต้องยอมรับว่า “วัฒนธรรมหนังสือ” ทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา การเปลี่ยนแปลงของสังคม ต้องเริ่มที่ความคิด และต้องมีกระบวนการคิดเรื่องใหม่ จึงจะทำให้เกิดการณ์เปลี่ยนแปลง หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วง พ.ศ. 2517 – 2518 มีการตีพิมพ์หนังสือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ โดยที่คนในยุคนั้นให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ถ้ามองย้อนไปยุคนั้นหนังสือของจีนที่มีการแปลเป็นภาษาไทยในช่วงนั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องความรู้ใหม่ แตกต่างจากรัฐบาลสมัยนั้นนำเสนอออกมาว่าเป็นคอมมิวนิสต์มีการกดขี่ เมื่อมีการออกหนังสื่อที่เกี่ยวกับสังคมนิยมก็ได้รับความสนใจ และหนังสือที่นำเสนอโจมตีสังคมนิยมก็ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน

“หนังสือพวกนี้มีการสร้างฟอร์มอุดมการณ์ขบวนการนักศึกษา นี่คือคำตอบว่าทำไมนักศึกษาจึงเป็นสังคมนิยม เพราะว่าเป็นอุดมการณ์ใหม่ นอกจากหนังสือลัทธิมาร์กแล้วยังมีหนังสือที่ให้ข้อมูลใหม่ ที่คนไทยไม่รู้มาก่อน อาทิ โฉมหน้าศักดินาไทย ไม่ได้เป็นแง่ของความรู้ แต่เป็นแง่มุมมองประวัติศาสตร์ใหม่”

ปี พ.ศ. 2517-2519 วรรณกรรมเพื่อชีวิตหลายประเทศ จีน อินเดีย รัสเซีย ได้ออกมาเผยแพร่เป็นอย่างมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำเกิดกระบวนความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเรื่องสั้นเพื่อชีวิตเวียดนาม เรื่องสั้นก่อนสู่เอกราชพม่า แต่ที่มากที่สุดคือวรรณกรรมจีน ถูกแปลออกมาเป็นจำนวนมาก นักศึกษายุคนั้นแทบทุกคนคุ้นเคยกับวรรณกรรมจีน

สุธาชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นวัฒนธรรมครั้งใหญ่ขึ้น หลังจากนั้นการจำหน่ายหนังสือได้รับความนิยมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ต้องยอมรับว่ายุค14 ตุลา และ 6 ตุลา เป็นยุคทองที่มีการเผยแพร่ออกไปเป็นจำนวนมาก

เมื่อถูกถามว่าอะไรคือเครื่องมือที่ฝ่ายรัฐบาลใช้เผยแพร่อุดมการณ์ จนเกิดการลุกฮือต่อต้านนักศึกษา 6 ตุลา สุธาชัยตอบว่า ในยุคก่อน 6 ตุลา สถานีวิทยุคือความมั่นคงของรัฐ เกือบทุกสถานีเป็นของกองทัพ จึงมีการเผยแพร่อุดมการณ์ ทุกหกโมงเย็นจะมีการออกอากาศเผยแพร่ “รายการเพื่อแผ่นดินไทย” มีการประกาศโจมตีประเทศจีนและฝ่ายนักศึกษาทุกวันว่าเป็นพวกญวน เพื่อสร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์

สุธาชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันกลุ่มคนเสื้อแดงไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ เนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์มีการเตรียมการที่ดี ทำให้เริ่มมีการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านการทำงานของ คสช. มีการรวมตัวของนักศึกษาที่รักประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการเข้ายึดอำนาจ ด้วยการออกมาทำกิจกรรมที่ท้าทาย อาทิ การจัดสัมมนา การชูสามนิ้ว และสามารถสร้างความปวดหัวให้กับ คสช. ซึ่งตรงนี้อาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในอนาคต รวมถึงคาดว่าจะมีการฟื้นตัวขบวนการนักศึกษาในบางระดับ

รายชื่อหนังสือ 100 หนังสือดี 14 ตุลา

1. 14 ตุลา วันประชาธิปไตย: บันทึกตำนาน 14 ตุลาคม 2516 ฉบับเยาวชน, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
2. 14 ตุลาฉบับสามัญชน, คำนูณ สิทธิสมาน
3. 3 ทศวรรษ 14 ตุลา กับปัญหาประชาธิปไตยไทย, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ
4. กลุ่มทุนนิยมผูกขาดในประเทศไทย, ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
5. กวีการเมือง, จิตร ภูมิศักดิ์
6. ก่อนไปสู่ภูเขา, สถาพร ศรีสัจจัง และ พนม นันทพฤกษ์
7. ก่อนจะถึง 14 ตุลา: บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของขบวนการนักศึกษา ยุคถนอม ประภาส, จรัล ดิษฐาอภิชัย
8. การศึกษาเพื่อมวลชน, สมาน เลือดวงหัด และ เริงไชย พุทธาโร บรรณาธิการ
9. กูเป็นนิสิตนักศึกษา, สุจิตต์ วงษ์เทศ
10. แก้วหยดเดียว, ศรีดาวเรือง (วรรณา สวัสดิ์ศรี)
11. ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย, พิชิต จงสถิตย์วัฒนา, บรรณาธิการ
12. ขบวนการนักศึกษาไทย: จาก 2475 - 14 ตุลาคม 2516, วิทยากร เชียงกูล บรรณาธิการ
13. ขบวนการประชาชนตุลาคม 2516, ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
14. ข้อเขียนของโกมล คีมทอง, โกมล คีมทอง
15. ขอแรงหน่อยเถอะ, ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
16. ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา, ธงชัย วินิจจะกูล
17. ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง, อัศศิริ ธรรมโชติ
18. เขาชื่อกานต์, สุวรรณี สุคนธา
19. คนกับควาย, สมคิด สิงสง และ สุรชัย จันทิมาธร
20. คนบนต้นไม้, นิคม รายยวา
21. คลื่นแห่งทศวรรษ, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22. ความเงียบ, สุชาติ สวัสดิ์ศรี
23. ความเป็นอนิจจังของสังคม, ปรีดี พนมยงค์
24. ความใฝ่ฝันแสนงาม, จิตร ภูมิศักดิ์
25. ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ข้ามให้พ้นพลวัตภายใน, กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
26. ความรักของวัลยา, เสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์)
27. คำขานรับ: รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย, สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ
28. คำประกาศของคนรุ่นใหม่, ไพบูลย์ วงษ์เทศ
29. คำประกาศของความรู้สึกใหม่, สุชาติ สวัสดิ์ศรี
30. แคปิตะลิสม์, สุภา ศิริมานนท์
31. จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย, ทวีปวร (ทวีป วรดิลก)
32. จงพิทักษ์เจตนารมย์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม, ปรีดี พนมยงค์
33. จาก 14 ถึง 6 ตุลา, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, บรรณาธิการ
34. จารึกบนหนังเสือ: รวมบทร้อยกรองฟ้องยุคสมัย, สุรชัย จันทิมาธร และ ประเสริฐ จันดำ
35. ฉันจึงมาหาความหมาย, วิทยากร เชียงกูล
36. โฉมหน้าศักดินาไทย, สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์)
37. ชีวทัศน์เยาวชน, อนุช อาภาภิรม
38. ชีวิตกับความใฝ่ฝัน, บรรจง บรรเจอดศิลป์ (อุดม สีสุวรรณ)
39. ด้วยรักแห่งอุดมการณ์, วัฒน์ วรรลยางกูร
40. ตำนานลิงยุคมืด, วิสา คัญทัพ
41. ตำบลช่อมะกอก, วัฒน์ วรรลยางกูร
42. ตื่นเถิดเสรีชนและงานคัดสรร, รวี โดมพระจันทร์ (ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ)
43. ไทยกึ่งเมืองขึ้น, อรัญ พรหมชมพู
44. ถนนไปสู่ก้อนเมฆ, ธัญญา ผลอนันต์
45. นาฏกรรมบนลานกว้าง, คมทวน คันธนู (ประสาทพร ภูสุศิลป์ธร)
46. น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว, ประเสริฐ จันดำ และ วิสา คัญทัพ
47. ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน, เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน บรรณาธิการ
48. บทกวีคัดสรร ชุด 1, คณะกรรมการคัดสรรหนังสือชุดตุลาวรรณกรรม บรรณาธิการ
49. บทละครคัดสรร, คณะกรรมการคัดสรรหนังสือชุดตุลาวรรณกรรม บรรณาธิการ
50. บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ: เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16, ธัญญา ชุนชฎาธาร
51. บันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
52. ใบไม้ที่หายไป, จิระนันท์ พิตรปรีชา
53. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
54. ประวัติศาสตร์สตรีไทย, กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ จิตร ภูมิศักดิ์
55. ปรัชญาชาวบ้าน, ศักดิ์ สุริยะ
56. ปีศาจ, เสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์)
57. ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาค 1 ก่อเกิดขบวนการ, สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บรรณาธิการ
58. ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาค 2 ประสานประชาชน อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์ (14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519), สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บรรณาธิการ
59. ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาค 3 ฟื้นความหวัง สร้างกำลังใจ มุ่งรับใช้สังคม (หลัง 6 ตุลาคม 2519 ถึงปัจจุบัน), สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการบริหารและเรียบเรียง, ดุษฎี ราชเกษร บรรณาธิการเนื้อหา
60. พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม, สันติ ชูธรรม (สุวัฒน์ วรดิลก)
61. พิราบแดง, สุวัฒน์ วรดิลก
62. พิราบขาว บทเพลงเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน, ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง
63. เพียงความเคลื่อนไหว, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
64. ฟ้าทอง, อนุช อาภาภิรม
65. ฟ้าบ่กั้น, ลาว คำหอม (คำสิงห์ ศรีนอก)
66. ภาพศิลปะคัทเอาท์การเมืองเดือนตุลา, นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ บรรณาธิการ
67. มหาวิทยาลัยชีวิต, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
68. รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย: รวม 3 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย, กองบรรณาธิการสารคดี
69. ร้อยกรองจากซับแดง, ประเสริฐ จันดำ
70. เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร, ปรีดี พนมยงค์
71. เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า, นายผี (อัศนี พลจันทร)
72. เรื่องสั้นคัดสรรชุด 1, คณะกรรมการคัดสรรหนังสือชุดตุลาวรรณกรรม บรรณาธิการ
73. เล่าความจริง: ขบวนการนักศึกษารามคำแหงยุคต้น 2514-2519, ศิลา โคมฉาย (วินัย บุญช่วย)
74. แลไปข้างหน้า, ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
75. วรรณกรรมในชีวิต ชีวิตในวรรณกรรม, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
76. แล้งเข็ญ: รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยของไทย, สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ
77. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ...การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชนก่อน 14 ตุลา, ประจักษ์ ก้องกีรติ
78. โลกของหนูแหวน, ศราวก (อนุช อาภาภิรม)
79. วรรณกรรมการเมืองไทย 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519 รากเหง้า การก่อเกิด การเติบโตและพัฒนาการ, ชัยสิริ สมุทวณิช
80. วันมหาปิติ, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2516
81. วีรชนหาญกล้า รำลึกถึงวีรชน 14 ตุลาคม, ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
82. ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน, ทีปกร (จิตร ภูมิศักดิ์)
83. ศิลปะวรรณคดีกับชีวิต, บรรจง บรรเจอดศิลป์ (อุดม สีสุวรรณ)
84. เศรษฐศาสตร์เพื่อมวลชน, วิภาษ รักษาวาที
85. สงครามชีวิต, ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
86. สมุดภาพเดือนตุลา, วัฒนชัย วินิจจะกูล บรรณาธิการ
87. สมุดภาพแห่งความทรงจำ จารึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ในวาระครบรอบ 36 ปี 14 ตุลา, มูลนิธิ 14 ตุลา
88. สร้างสานตำนานศิลป์ 20 ปีแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย 2517 - 2537, สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย บรรณาธิการ
89. ส่องไทย, ชลธิรา กลัดอยู่ บรรณาธิการ
90. สันติประชาธรรม, ป๋วย อึ๊งภากรณ์
91. สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย, เสถียร จันทิมาธร
92. หนุ่มสาวคือชีวิต, อนุช อาภาภิรม
93. หนุ่มหน่ายคัมภีร์, สุจิตต์ วงษ์เทศ
94. หมอเมืองพร้าว, อภิเชษฏ์ นาคเลขา
95. หมายเหตุเดือนตุลา เล่ม 1: ฉบับ 14 ตุลารำลึก, สมิทธ์ ถนอมศาสนะ บรรณาธิการ
96. หมายเหตุเดือนตุลา เล่ม 2: ฉบับ เดือนตุลาใต้เงาสงครามเย็น, สมิทธ์ ถนอมศาสนะ บรรณาธิการ
97. หมายเหตุเดือนตุลา เล่ม 3: ฉบับ การเมืองวัฒนธรรมยุคเดือนตุลา, สมิทธ์ ถนอมศาสนะ บรรณาธิการ
98. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, ใจ อึ๊งภากรณ์ และคนอื่นๆ
99. อาทิตย์ถึงจันทร์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
100. เอียงข้างประชาชน, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล