วันศุกร์, ตุลาคม 03, 2557

'เสรีไทยฯ' ร้อง 'สหภาพรัฐสภานานาชาติ' ทบทวน สนช.ร่วมประชุม กลางเดือนนี้ รัฐสภาไทยเคยโดนระงับการเป็นภาคี จากการปฏิวัติและยุบสภา ปี พ.ศ. ๒๕๑๕


ที่มา ประชาไท

2 ต.ค. 2557 จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ประสานงานยุโรป องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสหภาพรัฐสภานานาชาติ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ทบทวนการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภานานาชาติของ สนช. ในวันที่ 12-16 ต.ค.ที่จะถึงนี้

จรัล ระบุในหนังสือดังกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่า สภาของไทยที่แต่งตั้งโดยทหาร หรือที่เรียกกันว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขาดคุณสมบัติที่จำเป็น ในการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภานานาชาติ ซึ่งควรจะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

เขาชี้ว่า สนช.ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งล้วนเป็นทหาร ผู้ทำรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา

"การรัฐประหารไม่ได้เพียงแค่ล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังคงหาทางขจัดประชาธิปไตยทุกรูปแบบด้วย คสช.แต่งตั้ง สนช. เพื่อเป็นเครื่องมือในการออกกฎหมาย ไม่ใช่เพื่อเป็นรัฐสภาที่จะเป็นตัวแทนประชาชนไทย" จรัลระบุ
ooo

อนึ่ง รัฐสภาไทยเคยโดนระงับการเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทยไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีการปฏิวัติและยุบสภา เมื่อสมัยประชุมที่ ๑๑๑ ซึ่งประชุมกันที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕



รัฐสภาไทยกับสหภาพรัฐสภา

ที่มา http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=13753

ประวัติความเป็นมา

ประเทศไทยได้รับการทาบทามให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภาทั้งผ่านทางรัฐบาล และทางรัฐสภาโดยตรง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ทางรัฐบาลติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนทางรัฐสภานั้น ประธานคณะมนตรีสหภาพรัฐสภาติดต่อกับประธานรัฐสภาไทย โดยครั้งแรกขอให้รัฐสภาไทยจัดส่งคณะผู้แทนไปสังเกตการณ์การประชุมใหญ่ของสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๓๗ ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ แต่ในครั้งนั้นรัฐสภาไทยยังไม่พร้อมจึงไม่สามารถที่จะรับคำเชิญได้ อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะดึงประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภายังคงดำเนินต่อไป เพราะว่าในขณะนั้นประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทางรัฐสภา แต่ยังไม่ได้เป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา ประธานคณะมนตรีและเลขาธิการสหภาพรัฐสภาต่างก็พยายาม ติดต่อโดยตรงกับประธานรัฐสภาไทยในขณะนั้นคือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ทั้งทางส่วนตัวและทางการในที่สุดสหภาพรัฐสภาได้ส่ง นายปอล บาสทิต อดีตรัฐมนตรี ฝรั่งเศส และประธานหน่วยรัฐสภาฝรั่งเศสมาเยือนประเทศไทยในฐานะตัวแทนของสหภาพรัฐสภา และได้พบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีบางท่าน และในการประชุมคณะมนตรีเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ คณะมนตรีได้มีมติให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องไปพิจารณา รัฐสภาได้มีการประชุมเป็นการภายในเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยที่ประชุมเห็นว่าสหภาพรัฐสภาเป็นองค์กร ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีนโยบายในการที่จะหาลู่ทางเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางรัฐสภา ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน ทุกวิถีทาง ที่ประชุมรัฐสภาจึงได้ตกลงในหลักการให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภา โดยถือเอารัฐสภาไทยเป็นหน่วยประจำชาติ และสมาชิกแห่งรัฐสภาไทยเป็นสมาชิกของหน่วยโดยตำแหน่งและได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา พร้อมกันนั้นทางรัฐบาลก็แปรญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อตั้งงบสหภาพรัฐสภาในงบของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นจำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

ในการประชุมภายในของรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา และพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการบริหารของหน่วยฯ ขึ้นมาตามข้อบังคับ หลังจากที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริหารได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นต้นไป และในคราวประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพรัฐสภา ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับหน่วยประจำชาติไทยเข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา

การถูกระงับการเป็นภาคีของสหภาพฯ

ที่ประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา สมัยประชุมที่ ๑๑๑ ซึ่งประชุมกันที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้ลงมติให้ระงับการเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทยไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีการปฏิวัติและยุบสภา

อย่างไรก็ตาม หน่วยประจำชาติไทยได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง ในคราวประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา สมัยประชุมที่ ๑๑๒ ณ กรุงอาบิดจัน ประเทศโคท์ไอเวอรี่ ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมัยประชุมที่ ๑๖๒ ซึ่งประชุมกันที่รัฐสภาแห่งชาติโคท์ไอเวอรี่ได้พิจารณาการขอกลับเข้าเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทย โดยได้เชิญผู้แทนของคณะผู้แทนหน่วยประจำชาติไทยเข้าไปชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการนี้ นายเสนาะ อูนากูล เลขาธิการหน่วยประจำชาติไทยได้ตอบข้อสงสัยของสมาชิกในคณะกรรมการบริหารเป็นที่พอใจ คณะกรรมการบริหารจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับหน่วยประจำชาติไทยกลับเข้าเป็นสมาชิกของ สหภาพรัฐสภาดังเดิม และยังคงเป็นภาคีแห่งสหภาพฯ อยู่จนกระทั่งบัดนี้
จากการเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา นอกเหนือจากการส่งผู้แทนของรัฐสภาเข้าร่วมในการประชุมต่าง ๆ ของสหภาพรัฐสภาแล้ว รัฐสภาไทยยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของสหภาพรัฐสภาอีกหลายครั้ง คือ
๑. การประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๔๙ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙
๒. การประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๗๘ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐
๓. การประชุมพิเศษของสหภาพรัฐสภา เรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔
๔. การประชุมรัฐสภาเนื่องในโอกาสการประชุมสหประชาชาติว่าด้วย การค้าและการพัฒนา ครั้งที่ ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓

ในคราวประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๗๙ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๙ ที่ประชุมมีมติระงับการมีส่วนร่วมของรัฐสภาไทยในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นทางการของสหภาพรัฐสภาชั่วคราว เนื่องจากการปฏิรูปทางการเมืองของไทย เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งส่งผลทำให้รัฐสภาไทยไม่สามารถเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๑๖ ระหว่างวันที่ ๒๙ เมษายน – ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ที่กรุงเทพฯ โดยขณะนี้ สหภาพรัฐสภาให้ความสนใจในการติดตามความคืบหน้าของการปฏิรูปการเมืองของไทย รัฐสภาได้ส่งคณะผู้แทนไปพบปะหารือกับคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อนสหภาพรัฐสภาจะมีมติระงับการมีส่วนร่วมของรัฐสภาไทย คือในคราวการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๑๕ ที่เจนีวา ครั้งที่ ๑๑๖ ที่บาหลี และครั้งที่ ๑๑๗ ที่เจนีวา

ต่อมา คณะมนตรีสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๘๑ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ ในคราวการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๑๗ ที่เจนีวา ได้มีมติให้คืนสิทธิสมาชิกภาพในการมีส่วนร่วมของรัฐสภาไทยในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นทางการของสหภาพรัฐสภาอย่างเต็มที่โดยทันที หลังจากที่มีการประชุมรัฐสภาหลังการเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยไม่ต้องรอให้มีการพิจารณาหรือเห็นชอบจาก ที่ประชุมสมัชชา หรือคณะมนตรีฯ ในสมัยหน้าอีก และรัฐสภาไทยได้รับการทาบทามอย่างไม่เป็นทางการให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๒๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น

หน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา

ภายใต้ข้อบังคับหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้บัญญัติให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนเป็นสมาชิกหน่วยฯ โดยประธานรัฐสภาเป็นประธาน และรองประธานรัฐสภาเป็นรองประธานหน่วยฯ โดยตำแหน่ง ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาสิ้นสุดลง หรือในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกหน่วยประจำชาติยังคงสมาชิกภาพต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกใหม่

หน่วยประจำชาติไทยฯ จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง ภายใน ๖๐ วัน นับจากวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไปแห่งรัฐสภาเพื่อ

๑. รับรองรายงานการบริหารของกรรมการบริหาร
๒. รับรองบัญชีการใช้จ่ายเงินค่าบำรุงของเหรัญญิก ภายหลังที่ได้ฟังรายงานของผู้สอบบัญชีแล้ว และ
๓. ดำเนินกิจการอื่นที่คณะกรรมการบริหารเสนอต่อที่ประชุม โดยที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควร หรือโดยที่สมาชิกของหน่วยไม่น้อยกว่าสิบห้าคนเข้าชื่อร้องขอ

คณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย

เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยประจำชาติไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจำจัดตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภา เป็นประธานและรองประธานหน่วยฯ โดยตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเป็นคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ โดยตำแหน่งและกรรมการบริหารอื่นอีกสิบสี่คน ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นในการประชุมระหว่างประเทศ โดยได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุก ๆ สองปี และจะเลือกตั้งกันเองเป็นเลขาธิการ เหรัญญิก ผู้สอบบัญชี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นสำนักงานเลขาธิการประจำฝ่ายบริหารของหน่วยฯ โดยมีเลขาธิการหน่วยฯ เป็นผู้รับผิดชอบงานทั่วไปของหน่วยฯ

ข้อบังคับหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๑๓ ได้กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของหน่วยและโดยเฉพาะในกิจการที่เกี่ยวกับ

(๑) พิจารณาหนังสือเชิญให้ไปร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ประชุมคณะมนตรีบริหาร หรือคณะกรรมาธิการสามัญแห่งสหภาพรัฐสภา หรือการประชุมอื่น ที่สหภาพรัฐสภาจัดขึ้น
(๒) แต่งตั้งคณะผู้แทนหน่วยไปร่วมประชุมตาม (๑) โดยสรรหาสมาชิกหน่วยที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชุม หรือเรื่องที่สหภาพรัฐสภาให้ความสำคัญ
(๓) พิจารณาจัดเตรียมร่างข้อมติ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมร่างข้อมติเพื่อยื่นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สหภาพรัฐสภา ที่ประชุมคณะมนตรีบริหาร หรือที่ประชุมคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพรัฐสภาแล้วแต่กรณี

ในปีหนึ่งๆ คณะกรรมการบริหารจะประชุมกันกี่ครั้งก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเรื่องต่างๆ ที่จะต้องพิจารณา โดยประธานหน่วยฯ เป็นผู้มีอำนาจเรียกประชุม

ค่าบำรุงหน่วยประจำชาติไทย
หน่วยประจำชาติไทยต้องเสียค่าบำรุงแก่สหภาพรัฐสภาทุกปีตามอัตราที่คณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภากำหนด และการเข้าร่วมประชุมประจำปีของสมัชชาสหภาพรัฐสภาถือเป็นพันธกรณีของรัฐสภาไทย