วันเสาร์, พฤศจิกายน 15, 2557

ตัวเลขของ"โครงการจำนำข้าว" ที่แจงโดย ใครต่อใครในยุครัฐบาลนี้ช่างหลากหลายเสียจริงๆ เดี๋ยวก็ 9 แสนล้าน เดี๋ยวก็ 7 แสนล้าน จนคนไม่ค่อยชอบพูด ไม่ชอบเถียงแบบ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ต้องออกมาพูดดังๆ ว่า "ไม่จริง"


ที่มา FB กิตติรัตน์ ณ ระนอง

เดี๋ยวก็ 9 แสน เดี๋ยวก็ 7 แสน... เดี๋ยวนี้เป็น 5 แสน... ก็ว่ากันไป...

ตัวเลขของ"โครงการจำนำข้าว" ที่แจงโดย ใครต่อใครในยุครัฐบาลนี้ช่างหลากหลายเสียจริงๆ เดี๋ยวก็ 9 แสนล้าน เดี๋ยวก็ 7 แสนล้าน จนคนไม่ค่อยชอบพูด ไม่ชอบเถียงแบบผม ต้องเคยออกมาพูดดังๆ ว่า "ไม่จริง" ซึ่งผมก็ตั้งขอสังเกต แบบจับผิดได้ชัดๆ ว่าเป็นความพยายามที่จะรวมเอาภาระคงค้างจาก "โครงการประกันรายได้" ของรัฐบาลนักพูดเข้ามา และคงเตรียมจะบวกภาระใหม่จาก "โครงการแจกด่วน ไร่ละพัน" (ที่ผมทักว่าจะตรวจสอบการปฎิบัติทุจริตได้ยากมาก) จนได้ตัวเลขสูงให้เป็นที่เข้าใจผิดกับรัฐบาลก่อน และยังจะไม่ต้องแสดงตัวเลขภาระใหม่ให้ถูกวิพากย์วิจารณ์อีกด้วย

สัปดาห์นี้มาใหม่ กลายเป็นห้าแสนล้าน แต่ก็ยังไม่วายอ้างตัวเลขโครงการรับจำนำ ฯ ในอดีตอันไกลโพ้นที่ไม่มีภาระคงค้าง และสินค้าคงเหลืออีกแล้ว มาแสดงรวมกันให้ดูมากกว่า ห้าแสนล้าน และทั้งเทียบเคียงกันให้ดูน่าตำหนิ

ถึงตอนนี้ อยากถามคนใหญ่คนโตที่พูด ตัวเลข 9 แสน 7 แสนน่ะว่า "ไงล่ะ ผมบอกแล้วว่าไม่ใช่ ยอบรับนะ"

ส่วนข้อมูลห้าแสนล้านน่ะ ก็ยังมีความจริงที่คนทั่วไปต้องทราบอยู่อีก 3 เรื่องสำคัญ...

เรื่องแรก ตัวเลขทางบัญชีนี้ยังคงใช้ข้อสมมุติ ด้านราคากับสินค้าคงคลัง ซึ่งก็ย่อมเป็นที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าคงใช้ตัวเลขราคาที่ต่ำ ตัวเลขทางบัญชีเมื่อขายสินค้าคงคลังจนหมด ย่อมจะน้อยกว่านี้ ยกเว้นไม่มีฝีมือในการขาย หรือมีการทุจริตเอื้อเฟื้อราคาให้กับคนซื้อข้าวที่เป็นพรรคพวกกัน ซึ่งก็ชักจะมีกลิ่นออกมาแล้ว เมื่อผู้รับผิดชอบออกมาพูด คนละทีสองทีเรื่องข้าวด้อยคุณภาพ... จะเปิดทางให้ซื้อขายกันในราคาต่ำๆ ?

เรื่องที่สอง "โครงการรับจำนำtข้าว" ของรัฐบาล ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จึงได้จัดงบประมาณ อันเหมาะสมชดเชยให้กับโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2555/56 ไปแล้วตามสมควร ผลสุทธิจำนวนรวมคงค้างย่อมต่ำกว่า ห้าแสนล้านที่อ้างถึงล่าสุดนี้ อย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนใครที่คิดว่ายังเป็นเงินที่สูงอยู่ดี ก็ขอให้ตระหนักว่าโครงการนี้ ช่วยเหลือกระดูกสันหลังของประเทศให้พอลืมตาอ้าปากได้มาแล้วถึง 3 ปี หรือ 5 ฤดูการผลิตอย่างต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาที่คลายความทุกข์ยากของชาวนาท่ัวประเทศเกือบ 4 ล้านครอบครัว โดยไม่ต้อง "ทำตามสัญญา ขอเวลาจะคืนความสุข" แก่ชาวนา รวมทั้งเป็นกำลังซื้อของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีความสุขไปด้วย สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกถึงได้จัดอันดับประเทศไทยดีขึ้นในช่วงเวลาของรัฐบาลก่อน

ประการที่สาม รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้ความสำคัญกับ "วินัยการคลัง" อย่างเข้มงวด ภาระหนี้ที่นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของโครงการฯ และรัฐบาลทำหน้าที่ค้ำประกันวงเงิน รวมกับการมีภาระหนี้สินทุกประดามี ทั้งของรัฐบาล และของรัฐวิสาหกิจ ได้จัดรวมอยู่ใน "ภาระหนี้สาธารณะของประเทศ" อย่างครบถ้วน และควบคุมให้มีสัดส่วนตามกฏหมายและกรอบวินัยทำการคลัง เมื่อเทียบกับ ยอดงบประมาณประจำปี และ GDP อย่างเข้มแข็ง ซึ่งเหตุผลที่เราทำเช่นนั้นได้ก็เพราะเรามุ่งมั่นในการลดยอด การขาดดุลการคลัง อย่างต่อเนื่องทุกปีงบประมาณที่รับผิดชอบอยู่ และจัดการทั้งหนี้เก่า และหนี้ใหม่ให้มีแผนการชำระคืนที่ชัดเจน และปฏิบัติได้

ขอให้กำลังใจรัฐบาลชั่วคราวนี้ ให้เข้มงวดกับวินัยการคลังของประเทศ เช่นเดียวกับรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ อย่าเอาอย่างรัฐบาลก่อนๆ ที่ยกเพดาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ขึ้นไปเมื่ออยากจะกู้เพิ่ม และขอส่งความปราถนาดีมายังข้าราชการประจำทั้งที่เคยทำงานร่วมกับผมอย่างใกล้ชิด และไม่ใกล้ชิดนักนะครับ ท่านเคยทำงานโดยไม่ต้องเอาใจนักการเมืองอย่างผมก็จริง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปท่านก็อาจต้องเปลี่ยนไปบ้าง... ผมพอเข้าใจครับ