วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 02, 2557

กิจกรรมมืดรำลึกนวมทอง ไพรวัลย์ ถูกอำนาจมืดคุกคาม ทนายอานนท์ นำภา และ ปีเตอร์ ศรี มีเฌอเป็นลูกรัก (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ) ถูกเรียกให้ไปให้ปากคำ





ชื่อเรื่องเดิม

กิจกรรม ‘มืด’ รำลึก ‘นวมทอง’ 2 รายถูกสอบปากคำ - 3รายถูกปรับไม่พกบัตรปชช.

ภาพจากประชาไท FB อานนท์ อำภา
เรื่อง ประชาไท
Sat, 2014-11-01 20:55

กิจกรรมมืดรำลึกนวมทอง ไพรวัลย์ นักศึกษากางป้ายแฟลชม็อบ “นวมทองยังไม่ตาย” พันธ์ศักดิ์แสดงละครใบ้ แกนนำจัดกิจกรรมอานนท์-พันธ์ศักดิ์ ถูกนำตัวไปสอบปากคำ ผู้ร่วมงาน 3 รายถูกปรับ 100 ข้อหาไม่พกบัตรประชาชน

หลังจากเพจกิจกรรม ‘มืด’ ตั้งขึ้นโดยอานนท์ นำภา ทนายความ โพสต์ข้อความเชิญชวนผู้สนใจจัดกิจกรรมศิลปะรำลึกการจากไปครบรอบ 8 ปีของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ต้านรัฐประหารที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม

กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจ มีผู้ไปรวมตัวที่ร้านลาบด้านข้างอนุสาวรีย์ประชาธิไตยอันที่เป็นจุดนัดหมายราว 30-40 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสังเกตการณ์อยู่ราว 7-8 นาย กิจกรรมหลักได้แก่การแสดงละครใบ้ของพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ผู้เป็นพ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ น้องเฌอ หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และการกางป้ายผ้าของกลุ่มนักศึกษาข้อความว่า “นวมทองยังไม่ตาย” ราว 2-3 นาที ท้ายที่สุดตำรวจได้เชิญตัวอานนท์และพันธ์ศักดิ์ไปสอบปากคำที่สน.นางเลิ้ง

อานนท์ ได้โพสต์เฟซบุ๊คชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“เมื่อคืนผมกับ ปีเตอร์ ศรี มีเฌอเป็นลูกรัก (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ – ประชาไท) ถูกเรียกให้ไปให้ปากคำ กรณีมีนักศึกษานำป้ายผ้าไปชูที่บริเวรอนุสาวรียประชาธิปไตย พ่อน้องเฌอให้การไปแล้ว ส่วนผมขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 5 พ.ย.57 เวลา 18.00 น. ที่ สน.นางเลิ้ง เนื่องจากเมื่อคืนนี้ผมไม่พร้อมที่จะให้การ

ผมมีประเด็นที่จะให้การอยู่ 2-3 ประเด็นคือ

1) เสรีภาพในการแสดงออก
2) ดุลพินิจในการจำกัดเสรีภาพ
3) ปัญหาของกฎอัยการศึกในสังคมประชาธิปไตย

ผมเพิ่งมาเห็นรูปนี้ซึ่งถูกแชร์ในเฟซบุ๊คเมื่อเช้า ผมคิดว่าโดยพฤติการณ์และข้อความบนผ้า เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งไม่ผิดต่อกฎหมายแต่ประการใด ทั้งยังเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมในความกล้าหาญของน้องนักศึกษา

ขอบคุณพี่ทหารและพี่ตำรวจระดับปฏิบัติการณ์ที่เข้าใจและอะลุ่มอะล่วยในการทำกิจกรรม ขอบคุณระดับผู้บังคับบัญชาที่ไม่ตึงจนเกินไป ส่วนที่สูงกว่านั้นและไม่เข้าใจในเรื่องเสรีภาพ ย่อมเป็นโจทย์ให้เราต้องแก้เพื่อจะได้เข้าใจร่วมกันว่า ในสังคมประชาธิปไตย เราให้ความสำคัญกับการแสดงออกซึ่งเสรีภาพขนาดไหน

ปล. ผมเชื่อว่าลึกๆแล้วท่านก็ไม่ได้คิดว่าคนกลุ่มเล็กๆนี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรมากหรอก เพียงแต่ท่านถูกกดทับมาอีกทีจากอำนาจ "มืด" เท่านั้น

ผมจะพยายามทำคำให้การเป็นหนังสือไปยื่นกับพนักงานสอบสวนนะครับ จะได้ไม่ต้องบันทึกอะไรยาวนานเกินไป 5 พ.ย.57 นี้เจอกันครับ”

3 รายโดนปรับ ข้อหาไม่พกบัตรประชาชน

อัจฉรา อิงคามระธร หนึ่งในผู้ถูกปรับกล่าวว่า เข้าร่วมกิจกรรมงานศิลปะในความมืด โดยไปถึงก่อน 22.00 น.และนั่งทานอาหารในร้านลาบอันเป็นที่นัดหมาย โดยทราบข่าวมาว่าในช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่ได้ขอให้ลุงและป้าเจ้าของร้านปิดร้าน แต่ทั้งสองไม่ยอมปิดโดยให้เหตุผลว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายซึ่งซื้อของไปแล้ว อย่างไรก็ตามเจ้าของร้านยอมขยับร้านรถเข็นไปไว้ด้านในซอยจากเดิมที่เคยอยู่ริมถนน

จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. กลุ่มนักศึกษาก็ทำกิจกรรมกางป้ายผ้ารำลึกนวมทองตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาสั้นๆ คล้ายเป็นแฟลชม็อบ จากนั้นพันธ์ศักด์ก็แสดงละครใบ้ เธอจึงเดินไปถ่ายรูป เมื่อเดินกลับมานั่งที่โต๊ะก็พบว่าตำรวจเริ่มมาสมทบกันมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่นิดหน่อยตามปกติ ก็มีตำรวจมาเพิ่มอีก 3 คันรถ ทหารอีก 1 คันรถ โดยเริ่มแรกเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับอานนท์และพันธ์ศักดิ์ จากนั้นจึงเดินมาที่โต๊ะของเธอและเพื่อนเพื่อขอตรวจบัตรประชาชนท่ามกลางความงุนงงของทุกคนเนื่องจากสถานที่ดังกล่าวไม่ใช่ผับ ท้ายที่สุดมี 3 ราย เป็นหญิงทั้งหมด ที่ไม่ได้นำบัตรประชาชนติดตัวมาด้วย จึงยินยอมถูกควบคุมตัวไปสน.นางเลิ้งเพื่อเสียค่าปรับคนละ 100 บาท

ทั้งนี้ กิจกรรม "มืด" นั้นระบุจุดประสงค์งานในเพจเฟซบุ๊กว่า “ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ แม้งานศิลปะ ก็ต้องแสดงกันในความมืด พบกับการแสดงงานศิลปะ ดนตรีในความมืดของศิลปินในความมืด และขอชวนเชิญมิตรสหายร่วมแสดงงานศิลปะในความมืด ในบ้านเมืองที่มืดมิด ไม่จำกัดประเภทงานศิลปะ ( ดนตรี ภาพถ่าย ภาพวาด บทกวี ฯลฯ ) พร้อมพบปะพูดคุย ดื่มกินในบรรยากาศ "มืดๆ" หมายเหตุ : ศิลปินเตรียมอุปกรณ์มาเองทั้งเครื่องดนตรีและเครื่องเสียง(หากต้องใช้) ส่วนค่าอาหารก็แชร์กันครับ บรรยากาศร้านลาบ ราคาสบายๆ เช่นเคย”
ooo



วาด รวี
ที่มา ประชาไท
2014-10-31

นวมทอง ไพรวัลย์ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 เขาจงใจสังหารตนเองในเดือนตุลาคม ด้วยเหตุผลว่าเพราะเป็นเดือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ผมสงสัยมาตลอดว่านวมทองเลือกเดือนผิดหรือไม่ ยิ่งเมื่อคิดถึงพฤติกรรมของบรรดา “วีรชนเดือนตุลา” จำนวนมากที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และยิ่งเมื่อย้อนทบทวนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ตุลาคมปี 2516 เดือนตุลาคมสมควรเป็นเดือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจริงหรือไม่? “คนเดือนตุลา” มีจิตใจและการกระทำสมควรแก่การยกย่องและโอ่อวดมาตลอด 41 ปีที่ผ่านมาหรือไม่?

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรนวมทองก็เลือกไปแล้ว และการเลือกของเขาก็ช่วยต่อชีวิตและจิตวิญญาณให้กับสัญลักษณ์เดือนตุลาคมที่ผูกพันกับประชาธิปไตย

นวมทอง ไพรวัลย์ไม่ได้ฆ่าตัวตายครั้งเดียว แต่ทำทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกเขาขับรถแท๊กซี่พุ่งชนรถถัง การแลกชีวิตครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ เขารอดตาย แต่ก็กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง “แท็กซี่ขับชนรถถัง” เพื่อประท้วงการรัฐประหาร

ตามที่ระบุไว้ในจดหมายฉบับสุดท้ายของเขา หลังจากฆ่าตัวตายครั้งแรกไม่สำเร็จ เขาไม่ได้คิดที่จะทำอีก แต่ตั้งใจจะกลับไปทำมาหากินตามปรกติ แต่เมื่อมีนายทหาร คมช. ออกมาสบประมาทว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์พอที่จะตายได้หรอก” นวมทอง ไพรวัลย์จึงตัดสินใจอีกครั้ง...

เป็นการตัดสินใจท่ามกลางการมอบดอกไม้และถ่ายรูปกับรถถังของชนชั้นกลาง ท่ามกลางความเงียบใบ้ หรือไม่ก็แอบเชียร์รัฐประหารของปัญญาชน นักเขียน บรรณาธิการ... ผมจำได้ว่าตอนนั้น การตายของนวมทอง ไพรวัลย์ สั่นสะเทือนผมอย่างรุนแรง เป็นเหมือนมือที่ตบผลัวะเข้าที่ใบหน้าในขณะที่ผมกำลังเกือบจะเคลิ้มไปกับคำออกตัวต่าง ๆ นานาเพื่อจะไม่คัดค้านต่อต้านการรัฐประหารของบรรดาปัญญาชน นักเขียน บรรณาธิการ... ล้วนเป็นคนที่ผมเคยนับถือทั้งสิ้น

ความตายของนวมทองเปรียบได้กับมือที่ตบหน้าผมให้ตื่นขึ้นจากความหลอกหลวง หลับใหล หรือแม้แต่กะล่อนของคนเหล่านั้น และทำให้ผมมองพวกเขาใหม่อีกครั้งด้วยดวงตาที่กระจ่างแจ้งกว่าเดิม

การฆ่าตัวตายของนวมทองเป็นการกระทำของ “ผู้ตื่นรู้” ที่ถือครองอำนาจของการปลดปล่อยอย่างแท้จริง เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา และเป็นอดีตทหารชั้นผู้น้อย ไม่ใช่ปัญญาชน นักวิชาการโก้หร่าน นักเขียน กวี ใหญ่คับกะลา พ่นน้ำลายปนน้ำหมึกตอแหลหลอกลวงเทศนาโอ้อวดตัวว่าตื่นว่ารู้และคอยเก็บเกี่ยวอ้าปากรับเศษผลประโยชน์ที่กระเด็นมาเข้าปากตัวเอง

ท่วงทีแห่งการตายของเขาคือหลักฐานว่านวมทอง ไพรวัลย์ไม่ใช่คนสิ้นคิด และไม่ใช่คนไม่รักชีวิต การฆ่าตัวตายของเขาไม่ใช่การปราศจากศรัทธาที่จะมีชีวิตต่อ ไม่ใช่การพยายามวิ่งหนีจากอะไร แต่เป็นการออกไปเผชิญหน้า ออกไปรบ...ก้าวสู่สมรภูมิที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลกกับการปลุกผู้คนและทำลายความปลิ้นปล้อนหลอกลวง ก่อนตายเขาอัดเทปและฝากเพลง “ลูกแก้วเมียขวัญ” ถึงครอบครัว แสดงให้เห็นถึงความอาลัยอาวรณ์อย่างซื่อสัตย์จริงใจ ไม่ต้องการจากผู้เป็นที่รัก ทว่า สมรภูมิรออยู่เบื้องหน้า และเขาต้องออกไปแลกชีวิตกับมัน และนี่คือความหมายมนุษย์ที่ยืนหยัดอยู่บนส้นตีนและศักดิ์ศรีของตน ไม่ใช่ฝุ่นละอองใต้ฝ่าเท้าหรือไม้เถาที่ต้องเลื้อยพันสิ่งอื่น

ลาก่อนเถิดหนาจอมขวัญ
เพลาสายัญพี่จะต้องจากไปทัพ
อยู่บ้านจงหมั่นดูแล ดูลูกดูแม่กว่าผัวจะกลับ
แม้นเสร็จศึกทัพ แล้วพี่จะกลับมาเชย
อยู่บ้านเถิดหนานวลเนื้อ
ผู้ชายพายเรือน้องอย่าได้เชื่อคำเลย
สงวนทรามเชยไว้อย่าให้เปื้อนราคี
อยู่บ้านหมั่นสวดมนต์สวดพร
ก่อนหลับก่อนนอนวอนคุณพระให้ช่วยที
ถ้าแม้นบุญมีแล้วพี่คงได้กลับมา
ไก่แก้วตะโกนแว่วร้อง แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้า
ถึงเวลาแล้วพี่ต้องจากบังอร
จูบลูกเป็นครั้งสุดท้าย โอ้ยอดดวงใจพ่อต้องลาไปก่อน
ขวัญเอยขวัญอ่อนจงสุขสบาย
อยู่บ้านอย่ากวนแม่นัก
ลูกเอ๋ยลูกรักจงอย่าเที่ยวให้ไกล
โรงร่ำโรงเรียนเจ้าจงได้หมั่นเพียรไป
สางแล้วไก่แก้วแว่วมา
ถึงเวลาแล้วที่พ่อต้องจากไกล
ต้องขอลาไปแล้วลูกแก้วเมียขวัญ