วันจันทร์, พฤศจิกายน 10, 2557

เห็นข่าวการจุดกระแสข้อเสนอการจัดตั้ง "อภิรัฐมนตรีสภา" แล้ว อดนึกถึง "สภาองคมนตรี" (Grand Council) ในสมัยราชวงศ์ชิงไม่ได้


ที่มา FB Worapong Keddit

เห็นข่าวการจุดกระแสข้อเสนอการจัดตั้ง "อภิรัฐมนตรีสภา" แล้ว อดนึกถึง "สภาองคมนตรี" (Grand Council) ในสมัยราชวงศ์ชิงไม่ได้

สภาองคมนตรี หรือ จวินจีชู่ ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง ในยุคนั้นสภานี้ทำหน้าที่เสมือน "สภาความมั่นคงแห่งชาติ" คือรับผิดชอบภารกิจการจัดการปัญหาชายแดนที่ซีเป่ย(ดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน)โดยเฉพาะ มี "จางถิงอวี้" ราชบัณฑิตผู้ลือนาม เป็นเลขาธิการสภาคนแรก

ลุถึงรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง สภาจวินจีชู่ขยายบทบาทหน้าที่มากขึ้น จากที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงอย่างเดียว ก็มีหน้าที่เกี่ยวข้องการพิจารณา อภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอนโยบายด้านอื่นๆของราชสำนักมากขึ้น นัยว่าเพื่อเป็นการลดอำนาจ "สภาที่ปรึกษาเชื้อพระวงศ์และมุขอำมาตย์" ซึ่งเป็นองค์กรที่มีมาตั้งแต่ยุคต้นราชวงศ์ชิง ที่กุมอำนาจมานานลง

สภาองคมนตรีเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งในรัชมัยเจียชิ่ง เนื่องจาก "เหอเซิน" ขุนนางกังฉินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค อำมาตย์คนโปรดของจักรพรรดิเฉียนหลง พระบิดาของเจียชิ่งนั้น กุมอำนาจและมีบารมีอยู่ในสภาองคมนตรีมานาน หลังจากเฉียนหลงเสด็จสวรรคต เจียชิ่งก็ทรงกำจัดเหอเซิน และเพื่อ "ตัดรากถอนโคน" ขุมกำลังของเหอเซินโดยเด็ดขาด จึงทรงทำการ "ปฏิรูป" สภาองคมนตรีเสียใหม่ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร ให้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับของสภา ในส่วนการตรวจสอบและลงโทษสมาชิกสภา เป็นต้น

จนกระทั่งถึงยุคที่นางพญา "ซูสีไทเฮา" ขึ้นมาครองอำนาจ นางก็สามารถครอบงำ "สภาองคมนตรี" แห่งนี้ ถึงขนาดว่า ข้อเสนอใดๆที่จะถูกส่งให้สภาแห่งนี้พิจารณา จะต้องผ่านมือพระนางก่อนนะครับ และพระนางก็จะเป็นผู้ "วินิจฉัย" เองว่า ข้อเสนอใดที่ "สมควร" ส่งให้สภาองคมนตรีพิจารณาต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสภานี้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อจักรพรรดิกวงสวี่ทรงรับข้อเสนอของคังโหย่วเหวยและเหล่าบัณฑิต ทำการปฏิรูปประเทศ นำไปสู่ "การปฏิรูปร้อยวัน" ในครั้งนั้นได้ทรงแต่งตั้งให้เหล่าบัณฑิตหลายคนดำรงตำแหน่งในสภาองคมนตรี เพื่อผลักดันการปฏิรูปนี้ให้สำเร็จ แต่ท้ายสุดก็ประสบความล้มเหลวหลัง "การรัฐประหารอู้ซวี" ในปี ค.ศ.1898 นั้นเอง

หลังสิ้นรัชกาลกวงสวี่ พร้อมๆกับการสิ้นพระชนม์และอำนาจของนางพญาซูสีไทเฮา กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูป(รวมไปถึงการปฏิวัติ)ทางการเมืองรุนแรงมาก ราชสำนักชิงจึงจำเป็นต้องทำการ "ปฏิรูป" โดยการร่างรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศแบบตะวันตก ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุด "ปูยี 1" ที่ถือได้ว่า เป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรกของราชวงศ์ชิง ก็มาจาก "สภาองคมนตรี" แห่งนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เนื่องจากสมาชิกสภานี้ส่วนใหญ่คือบรรดาเชื้อพระวงศ์และอำมาตย์ ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเป็นครั้งสุดท้ายของสภานี้ ก่อนที่จะมันจะถึงวาระสุดท้ายไปพร้อมๆกับราชวงศ์ชิงและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนในที่สุด

(ภาพประกอบ : สำนักงานสภาองคมนตรี ในพระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง)