วันอาทิตย์, ธันวาคม 14, 2557

ผมดูสภาพการทูตของไทยตอนนี้แล้วเศร้าใจมาก ก่อนหน้านี้ไม่นานเราเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่เนื้อหอมมากที่สุดในโลก







ผมดูสภาพการทูตของไทยตอนนี้แล้วเศร้าใจมาก ก่อนหน้านี้ไม่นานเราเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตร และเนื้อหอมมากที่สุดในโลก

เกือบสองปีก่อน ตอนที่ทำงานอยู่กับ สำนักพิมพ์มติชน ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นการส่วนตัวหลายชั่วโมง เกี่ยวกับเคล็ดลับของความสำเร็จทางการทูตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยเฉพาะ

เป็นความกรุณามากที่คุณสุรพงษ์ตอบรับการสัมภาษณ์ด้วยความรู้สึกที่น่าจะเรียกไปทางซาบซึ่งใจ(555+) เนื่องจากนักข่าวเล่นแกตลอดตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง และเล่นมาตลอดจนพ้นตำแหน่ง เหมือนจะพึ่งมีผมนี่ล่ะที่โพสิทีฟกับแก

(และเป็นความกรุณาของเพื่อนผมในกระทรวงต่างประเทศที่เตรียมข้อมูลให้ รมว. เพื่อตอบคำถามของผมด้วย)

บอกตามตรง ตอนที่ผมรู้ว่าแกรับตำแหน่ง รมว. การต่างประเทศตอนแรกผมก็รู้สึกว่า "เอาใครมาเป็นวะ" เหมือนกัน (555+)

อย่างไรก็ตามผลงานด้านการต่างประเทศของกระทรวงที่คุณสุรพงษ์ดูแลอยู่กลับเกินคาดไปไกล

บุคลิกของคุณสุรพงษ์ ถ้าให้ผมพูดคือ แกเป็นคนที่ออกจะพูดเยอะ พูดตรง ทำงานจริงจัง และจงรักภักดีต่อทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เกินกว่านิสัยนักการทูต

การพูดคุยประมาณสองชั่วโมงในครั้งนั้นเป็นประโยชน์กับผมมากๆ รู้สึกว่าถ้าเป็นไปได้ควรจะรวบรวมเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการเยือนต่างประเทศไว้เพื่อให้นักเรียนวิชาการทูตได้ศึกษา เสียดายว่าคงไม่มีโอกาสนั้น

ผมกล่าวแบบสรุปย่อไปเลย สิ่งที่สร้างการทูตแบบยิ่งลักษณ์ขึ้นมีปัจจัยสี่ประการ

1. การปรับทัศนคติทางการทูตใหม่ โดยเปลี่ยนไปมองว่า ทุกประเทศเป็นมิตรเสมอ ทุกคนต่างต้องการสิ่งดีๆให้กับประเทศของตัวเอง แต่ติดบางอย่างอยู่ ทำให้ลังเลใจที่จะบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการออกมา ดังนั้นหน้าที่ของนโยบายการทูตจึงเป็นการละลายน้ำแข็งนั้น

ผมคิดว่าเป็นผลมาจากการใช้แนวคิดแบบเซลล์แมน แทนที่แนวคิดแบบนักการทูต คุณสุรพงษ์พูดถึงประสบการณ์สมัยเป็นเซลแมนเยอะ รวมทั้งบอกด้วยว่าคุณยิ่งลักษณ์เคยเป็นเซลล์แมนมาก่อนเช่นกัน

คุณสุรพงษ์เล่าว่าบางครั้ง การเจรจาที่เคยยากเย็นไม่สำเร็จมาหลายปีก่อนมารับตำแหน่ง กลับสำเร็จลงง่ายๆ ด้วยการที่แกพูดออกไปตรงๆว่า พี่อยากได้อันนี้ใช่มั้ย ผมมีอันนี้นะ เรามาแลกกันมั้ย พอทำแบบนี้คู่เจรจามักจะมีท่าทีฉงน งงงวย แต่ก็ตกลง คุณสุรพงษ์ให้ข้อคิดผมด้วยว่า บางทีนักการทูตก็มีมาดอะไรบางอย่างที่ทำให้เรื่องง่ายๆที่ควรจะคุยกันเสร็จง่ายๆ ไม่จบเสียที ผมได้ยินแล้วก็หัวเราะ

2. การให้เกียรติผู้อื่นเสมอไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ ให้เกียรติเขาเหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าเราไว้ก่อน เรื่องนี้ทำให้นักการทูตสายเหยี่ยวที่เชื่อในเรื่องการแสดงพลังอำนาจของประเทศช็อคพอสมควร (น่าจะจำเรื่องที่แกไปไหว้ฮอนัมฮง ในงานต่อสู้คดีเขาพระวิหารได้)

แต่ดูเหมือนว่าพวกเอเชียจะชอบท่าทีแบบนี้ของแก และทำให้แกไปตีซี้ตีเนียนกับเขาได้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของประเทศหนึ่ง(ผมขอสงวนประเทศ)ถึงกับด่าอดีตรัฐมนตรีจากพรรคอื่นของไทยให้แกฟัง

เรื่องนี้ไม่มีปัญหาสำหรับยิ่งลักษณ์ที่เป็นผู้หญิงและอายุน้อยกว่าทุกคนอยู่แล้ว

รวมถึงให้เกียรติให้ความสนใจวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆด้วย ทุกคนชอบเวลานายกฯของไทยสนใจเสื้อผ้า การแสดง ภาษา อาหาร ของเขา

3. การวางเป้าหมายในการประเมินผลทางการทูตใหม่ ให้เป็นสถิติที่วัดผลได้ โดยใช้จำนวนประเทศที่เยือน การประชาสัมพันธ์สินค้าไทย การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

คุณสุรพงษ์อยากให้คุณยิ่งลักษณ์ได้ไปเยือนทุกประเทศบนโลก และอยากให้ผู้นำทุกประเทศในโลกมาเยือนไทย อยากจัก Road show สินค้าและท่องเที่ยวไทยทุกที่บนโลก มองเป้าหมายความรวมมือเพื่อเปิดตลาดการค้าการท่องเที่ยวกับทุกประเทศ

ซึ่งผมคาดว่าเป็นวิธีคิดแบบเซลล์แมนเช่นกัน

(สมัยสองปีของยิ่งลักษณ์มีการเยือนต่างประเทศ42ครั้ง มีผู้นำมาเยือนอย่างเป็นทางการ30คน)

4. บุคลิกเฉพาะของยิ่งลักษณ์ เรื่องนี้สำคัญมากและผมก็ไม่รู้ว่าจะเลียนแบบยังไง

อย่างที่ผมบอกว่าคุณสุรพงษ์อวยคุณยิ่งลักษณ์มาก ดังนั้นคุณสุรพงษ์บอกว่าคุณยิ่งลักษณ์มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้บรรยากาศในการเจรจาผ่อนคลายลง บรรยายว่า "เมื่อบรรยากาศตึงเครียด พอท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ยิ้ม ทุกคนก็จะเริ่มยิ้ม และหัวเราะกัน" ซึ่งผมเชื่อว่าจริง

คุณยิ่งลักษณ์เป็นที่รักในทั้งหมู่ผู้นำ สื่อ(เพราะเอารูปขึ้นแล้วยอดวิวเยอะ) และประชาชนของประเทศที่ไปเยือน

ผมคิดว่าตัวผู้นำต่างๆมองยิ่งลักษณ์เป็น "Little sister" มากกว่า ซึ่งถ้าเป็นนักการทูตสายเหยี่ยวคงจะไม่ชอบ แต่ทางยิ่งลักษณ์กับสุรพงษ์พอใจในลักษณะนี้

ข้อคิดสุดท้ายเกี่ยวกับคุณสุรพงษ์คือ สุดท้ายแกขอบคุณสื่อ(ผ่านผม)ที่ด่าแกเรื่องพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ สิ่งนั้นช่วยทำให้แกได้แรงกดดันที่ต้องทำงานให้ดีเพื่อไม่ให้เป็นอย่างที่สื่อดูถูก "ถึงจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ผมก็พยายามสื่อให้ทุกประเทศเข้าใจว่าผมอยากเป็นเพื่อนกับเขา และตอนนี้ทั่วทั้งโลกก็อยากเป็นเพื่อนกับประเทศไทย"

Harit ปอน