วันอังคาร, ธันวาคม 09, 2557

ดร.โสภณ โต้ บิ๊กตู่ ประเทศไทยกำลังทรุดหนัก ไม่ได้ทะยานเช่นที่ท่านนายกฯ เข้าใจ ขณะที่ กรณ์ ชม ประยุทธ์ เดินศก.ไทย ถูกทาง


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:30:00 น.
บทความโดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

ตามที่ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าใจว่าชาติอื่นถดถอย เปรียบไทยเสือรอทะยานสู่อนาคตนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่ไทยควรปราบการทุจริตดังที่ท่านนายกฯ แนะนำ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศแทนนโยบาย "อัฐยายซื้อขนมยาย"

ผมได้ติดตามข่าวที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวข้างต้น ซึ่งคงเป็นความเข้าใจผิด จึงขออนุญาตเสนอข้อมูลที่แท้จริงจากเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติดังนี้:

ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก (http://data.worldbank.org/country) คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2557 จะเติบโตประมาณ 2.5% และคาดว่าจะเติบโตเป็น 4.5% ในปี 2558 และ 2559 อย่างไรก็ตามโดยที่คาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตต่ำกว่า 2.5% ตามที่ธนาคารโลกคาดการณ์ คือเหลือเพียง 1-1.5% จึงอาจทำให้การคาดการณ์ในปี 2558 และ 2559 อาจจะต่ำกว่า 4.5% ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลกลงไปอีก

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ปรากฏว่าทุกประเทศเติบโตมากกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไนที่เจริญกว่าไทย 6 เท่าและธนาคารโลกไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบให้ อย่างประเทศที่เติบโตช้าที่สุดคือมาเลเซีย ก็เติบโตสูงถึง 4.9% และ 5% ในช่วงปี 2557-2559 นอกนั้นล้วนเติบโตในอัตราที่สูงกว่าไทยอย่างชัดเจนทั้งสิ้น ผลของความไม่ปกติทางการเมืองในประเทศไทยปัจจุบัน คงส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงันไป ดังนั้นความจริงจึงกลายเป็นว่าประเทศเพื่อนบ้านต่างทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ยังไม่แซงไทยเท่านั้น ยกเว้น สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย

ข้อคิดสำคัญประการหนึ่งก็คือ การที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีข้อมูลคลาดเคลื่อน อาจจำเป็นต้องทบทวนทีมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับความเป็นจริงกว่านี้ และอีกประการหนึ่ง นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีที่ต้องการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ประเทศอินโดนีเซียที่เคยล้าหลังกว่าไทย ก็มีคะแนนองค์กรปราบปรามการทุจริตสูงสุด และปราบปรามการทุจริตอย่างได้ผล โดยไม่มีการที่ข้าราชการการเมืองในรัฐบาลไปร่วมประมูลงาน ไม่มีข้อครหาการจัดซื้อแพง หรือการทุจริตอื่นซึ่งแม้ขณะนี้ไม่มีนักการเมืองตามระบอบพรรคการเมืองแล้ว แต่ก็ยังมีการทุจริตเป็นอย่างมาก หากยังมีปรากฏการณ์ตบเท้าอวยพร รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ในวงราชการโอกาสต่าง ๆ ในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง การทุจริตย่อมไม่อาจแก้ไขได้

ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาก็คือการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ มากกว่าการมุ่งเน้นการบริโภคภายในประเทศในทำนอง "อัฐยาย ซื้อขนมยาย" ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการผลิตและการพัฒนาประเทศโดยรวม หากมีการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับการอัดฉีดและเติบโตมากขึ้น โดยโครงการที่พึงพิจารณาก็คือการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนสัมปทาน รถไฟฟ้าสัมปทาน นิคมอุตสาหกรรมนานาชาติ เป็นต้น
ooo

กรณ์ ชม ประยุทธ์ เดินศก.ไทย ถูกทาง เน้นลดค่าใช้จ่ายไม่ใช่เพิ่ม

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
7 ธ.ค. 2557 18:37

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ปชป. ชม นายกฯ ประยุทธ์ เดินเศรษฐกิจไทยถูกทางหลักคือต้องลดค่าใช้จ่ายชาวบ้าน ไม่ใช่เพิ่ม เชื่อได้ผลแน่

วันที่ 7 ธ.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมาเบรก การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 8% ว่า แก้ปัญหาถูกต้องแล้ว เราต้องลดค่าใช้จ่ายชาวบ้านไม่ใช่เพิ่ม ดังนี้...

"นายกฯ กับการเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ

อาทิตย์ที่ผ่านมา ท่านนายกฯ ได้แสดงบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจถึงสามครั้ง ทุกครั้งมีผลทางบวก และสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีนายกฯ คนไหนที่ปล่อยงานทางด้านนี้ได้

ครั้งแรก คือ ที่ท่านออกมาเบรกข้อเสนอเรื่องการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ท่านกล่าวถูกต้องว่า ขณะนี้ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทย คือ ประชาชนขาดกำลังซื้อ ดังนั้น เราต้องลดค่าใช้จ่ายให้ชาวบ้าน ไม่ใช่เพิ่ม

ครั้งที่สอง คือ ท่านออกมาให้ความชัดเจนว่า ท่านจะไม่เพิ่มความเข้มงวดในกฎหมายธุรกิจต่างด้าว โดยที่ท่านกล่าวตามสไตล์ท่านว่า ไทยยังต้องการนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ท่านจะไปสร้างปัญหาทำไม

ครั้งที่สาม คือ การปาฐกถาเรื่อง Digital Economy ซึ่งผมได้มีโอกาสไปนั่งฟังเอง นอกจากท่านพูดได้สนุกมาก (เรียกเสียงหัวร่อได้ตลอด 45 นาที) เรายังสามารถจับวิธีคิดทางด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท่านอย่างชัดเจน

แนวคิดของท่านอยู่ในโลกความเป็นจริงไม่มีการขายฝัน และท่านปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในทุกๆ เรื่อง เช่น

1. ความหมายของ 'เศรษฐกิจพอเพียง' ท่านกล่าวว่า "ใครมีน้อยก็ใช้น้อย ใครมีมากก็ใช้มาก ถ้าใครมีน้อยเราก็ช่วยให้เขามีมาก เขาจะได้ใช้มากๆ"

2. เรื่องการลงทุนท่านพูดถึงโครงการรถไฟเส้นทางหนองคาย-มาบตาพุดว่า "เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง 160 กิโลฯ ต่อชั่วโมง ลองนั่งไปก่อน ถ้านั่งเร็วเกินไปยังไม่ทันได้คุยกันเลยถึงแล้ว ไม่สนุก อยากเร็วก็นั่งเครื่องบินเอา"

3. ส่วนเรื่อง Digital Economy ท่านบอกว่า สนับสนุนเต็มที่ เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ท่านบอกว่า "ประชาชนรู้แต่การผลิต แต่ไม่รู้การค้าขาย ก็เลยยังจนอยู่"

4. ท่านจะพูดถึงประชาชนในทุกเรื่อง ไม่พูดถึงวงเงิน ไม่พูดถึงตัวเลข แต่ก็ไม่ 'ประชานิยม' ตัวอย่างที่ดี คือ ท่านพูดเรื่องปัญหาที่ทำกินว่า "ไม่มีที่ดินมาแจกใครแน่ แต่จะให้ใช้ร่วมกัน เหมือน kibbutz นั่นแหละ ก็ลองทำดู" ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับ 'โฉนดชุมชน' ของคุณอภิสิทธิ์ และเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว เพราะแรงงานเกษตรไทยเป็นแสนๆ คน เคยผ่านชีวิตใน kibbutz ที่อิสราเอล มาแล้วทั้งสิ้น

การสื่อสารสำคัญครับ และที่ผ่านมา การสื่อสารทางเศรษฐกิจยังหลวมไปบ้าง ท่านนายกฯ ลงมาตบให้เข้าที่อย่างนี้ ผมว่าได้ผล