วันเสาร์, มกราคม 17, 2558

เปิดผัง 12 หน่วยงานใหม่ “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลประยุทธ์


ที่มา Thai Netizen
2015.01.07

สรุปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและไอซีที ทั้งที่จะตั้งใหม่และที่จะปรับปรุงจากเดิม จากข้อมูลเช้าวันที่ 7 ม.ค. 2558 (ดูข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ที่ด้านท้ายของบทความ)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย 10 ฉบับ ตั้ง 12 หน่วยงานใหม่ เปลี่ยนโฉมโครงสร้างการกำหนดและกำกับนโยบายไอซีทีไทย อย่างไรก็ตามยังมีข้อเป็นห่วงเรื่องอำนาจหน้าที่และความรับผิดของหน่วยงานใหม่ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน

นโยบายดิจิทัลภาพรวม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ปรับปรุงโครงสร้างจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเดิม แบ่งส่วนราชการเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ตั้งใหม่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน)

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ปรับลดอำนาจหน้าที่จากกสทช.เดิม รวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เข้าด้วยกันเหลือคณะเดียว และกำหนดให้การดำเนินงานต้องสอดคล้องกับที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาและสอดคล้องกับนโยบายจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ)

ด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่)

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ตั้งใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จากการรวมสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าด้วยกัน)

ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ตั้งใหม่)
คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ตั้งใหม่)

สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ตั้งใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยโอนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่เดิมอยู่กับสพธอ. และจะเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลทั้งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

คณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (ตั้งใหม่)
สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (ตั้งใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยโอนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และเพิ่มเติมงานส่วนอื่น — หมายเหตุ: การแบ่งส่วนราชการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีส่วนราชการหนึ่งชื่อคล้ายกันคือ “สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล”)

ด้านเศรษฐกิจและสังคม

คณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ตั้งใหม่)

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ตั้งใหม่ โดยยกเลิกกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามพ.ร.บ.กสทช.เดิม โดยในโครงสร้างใหม่รายได้จากค่าใบอนุญาต-ค่าธรรมเนียม หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำส่งกองทุนพัฒนาดิจิทัล 50% และที่เหลือนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน)

สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ตั้งใหม่)

ข้อสังเกตเบื้องต้น

หน่วยงานจำนวนมากที่จะจัดตั้งใหม่ ถูกกำหนดให้จัดตั้งเป็น “หน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ”— เป็นที่คาดว่ารายได้ของหน่วยงานจะไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และเป็นไปได้ว่า “เจ้าหน้าที่” ของนิติบุคคลดังกล่าวอาจไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (“มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”)

การปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะถูกดูแลโดยหน่วยงานเดียวกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ — ทำให้มีคำถามถึงการตรวจสอบคานอำนาจเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบหรือตามอำเภอใจ ว่าจะทำได้มีประสิทธิภาพเพียงใดถ้าหน่วยงานดูแลเป็นหน่วยงานเดียวกัน

ยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะกรรมการกสทช.และสำนักงานกสทช.จะมีอิสระจากรัฐบาลเพียงใดในการกำกับกิจการ — เนื่องจากต้องอยู่ใต้กำกับของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

การเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 8 ฉบับ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 ม.ค. 2558 ไม่ได้อยู่ในวาระปกติ และทั้งหมดได้รับมติเห็นชอบภายในวันเดียว

ดูความเห็นส่วนตัวของ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสทช. ต่อประเด็นการปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของกสทช.

คุยเรื่องนี้ต่อได้ที่กลุ่มเฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต

สรุปร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 10 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ สรุปโดย www.thaigov.go.th

ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้ง คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 2 ฉบับ (เห็นชอบ 16 ธ.ค. 2557)

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. กำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจเป็นรองประธานกรรมการ กำหนดให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน คือ ด้าน Hard Infrastructure ด้าน Soft Infrastructure ด้าน Service Infrastructure ด้าน Digital Economy Promotion และด้าน Digital Society and Knowledge

ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีมิติของภารกิจและความรับผิดชอบเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม แบ่งส่วนราชการระดับกรมในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกเป็น 5 ส่วนราชการ ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการเฉพาะด้านจำนวน 5 ด้าน

ร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8 ฉบับ (เป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายเดิม 4 ฉบับ และเสนอกฎหมายใหม่ 4 ฉบับ) (เห็นชอบ 6 ม.ค. 2558)

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (เป็นการโอนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2545)

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะการทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมันคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานกลาง ตลอดจนการให้สำนักงบประมาณ (สงป.) และกระทรวงการคลัง (กค.) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. กำหนดหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (เป็นการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทุนและทรัพย์สิน ของสำนักความมั่นคงปลอดภัย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ไปเป็นของสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้)

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การใช้หรือเปิดเผย และข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งสามารถทำให้ระบุตัวบุคคลนั้นได้ สิทธิของเจ้าของข้อมูล หลักเกณฑ์การร้องเรียน และการให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. …. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ และการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. จัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ให้ยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์ (องค์การมหาชน)

ติดตามร่างกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ได้ที่เว็บไซต์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (senate.go.th) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (parliament.go.th) และ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (soc.go.th)

ค้นหามติรัฐมนตรี | ค้นความเห็นต่อร่างกฎหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา | ค้นหากฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา)