วันเสาร์, มกราคม 17, 2558

อาการเศรษฐกิจ บทสรุป จากโรค ′ซึม′ ซึม และ ซบเซา


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558
ข่าวการประกาศย้าย "ฐานการผลิต" โทรทัศน์จอแบนยี่ห้อ LG จากไทยไปยังเวียดนามภายในเดือนพฤษภาคม 2558

อาจเป็นข่าวเล็กๆ

แต่เมื่อประสานเข้ากับการประกาศ "ย้าย" ฐานการผลิตโทรทัศน์จอแบนยี่ห้อซัมซุงจากไทยไปยังเวียดนามภายในปี 2558 อีกบริษัท 1

ก็จำเป็นต้อง "ล้างหู" น้อมรับฟังมากยิ่งขึ้น

รายละเอียดทั้งหมดนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไม่ได้รายงานในวงเสวนา "จิบน้ำชา" ที่บ้านเกษะโกมล ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับทราบอย่างแน่นอน

เพราะ "เล็ก" เกินไป และหากนำเรื่องเล็กไปขยายให้กลายเป็นเรื่องใหญ่อาจถูกแปรเป็นไม่รู้จักกาละ ไม่รู้จักเทศะ

แต่ข่าวนี้เป็น "ความจริง"

เป็นความจริงรับกับวาระที่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" จะเริ่มอย่างสมบูรณ์ในปี 2558 เป็นความจริงที่สิทธิพิเศษทางศุลกากรหรือ GSP หมดสิ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา

การไหวเคลื่อนของ LG ของซัมซุง สะท้อนอะไร

ไม่ต้องรอให้กระทรวงพาณิชย์แจ้งเตือน บรรดาผู้ประกอบการที่เคยเป็นลูกค้าของสหภาพยุโรปก็สำเหนียกรู้มานานแล้ว

บรรดา "เจ้าสัว" ใหญ่ของไทย ไปก่อนแล้ว

เป้าหมาย 1 คือกัมพูชา เป้าหมาย 1 คือเวียดนาม อย่างน้อยที่สุด 2 ประเทศนี้ยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจาก EU

การย้าย "ฐานการผลิต" ของ LG และซัมซุง จึงเป็นเรื่องธรรมดา

แถลงจากประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า

LG ย้ายฐานเพื่อขยายไลน์การผลิตในเวียดนาม

เหตุผลเพราะ 1 เวียดนามมีค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย ขณะเดียวกัน 1 การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

นี่คือ "ด้านกลับ" ของ "ประชาคม" เศรษฐกิจอาเซียน

นี่คือ "แรงสะท้อน" อันเนื่องจากการแปรเปลี่ยนกฎระเบียบทางการค้าจากทั้งอาเซียนและแม้กระทั่งจากสหภาพยุโรป เป็นความสัมพันธ์ยึดโยง ทั้งในส่วนอันเป็นผลดีและเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย

บัญชีย่อมมีทั้ง "รายรับ" และ "รายจ่าย"

หากจับน้ำเสียงจากวงเสวนา "จิบน้ำชา" ระหว่างคณะ คสช.กับระดับบิ๊กของภาคธุรกิจเอกชนก็จะสัมผัสได้ในความเป็นจริง

1 การยอมรับในสภาวะ "ซึม" ทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากคือ การฝากความหวังในการขับเคลื่อนและสร้างความมั่นใจจากรัฐบาล

เป้าใหญ่คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

เป้าใหญ่รองลงมาคือ การเรียกร้องในมาตรการทะลวงท่ออันทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

นี่เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ คสช.

เป็นความรับผิดชอบที่ คสช.เก็บรับมาเป็นบทเรียนจากเรื่องราคา "ลอตเตอรี่" กระทั่งมาถึงการสั่งลด "ราคาสินค้า" โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคและบริโภคว่ามิได้เป็นเรื่องง่ายหากดำเนินไปอย่างสลับซับซ้อน

ถึงงัด "ปืน" ออกมาขู่ก็ไม่ได้ดังใจ

ทั้งหมดนี้มิได้เป็นเรื่องของโวหาร มิได้เป็นเรื่องของความฝันในอากาศ หากแต่เป็นเรื่องของการลงมือทำ

การลงมือ "ทำ" เท่ากับคำตอบ "สุดท้าย"

ยังไม่มีใครบอกได้ว่า สภาวะซึมซึมในทางเศรษฐกิจจะดำเนินไปอีกนานเท่าใด

เพราะบทสรุปสภาวะซึมซึมนี้มาจากทั้งจาก นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีคลัง ทั้งจาก นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อัดแน่นเต็ม "2 หู" ของ "คสช."

(ที่มา:มติชนรายวัน 14 ม.ค.2558)

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โอกาสการส่งออกไทยปี 2558 ขยายตัวได้ 3.1% ปัจจัยหลักคือผลกระทบจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรป (อียู) กว่า 6,200 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังอียูหายไป 848 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.84 หมื่นล้านบาท หากรวมการถูกตัดสิทธิจีเอสพีในแคนาดาและตุรกี จะหายไปรวม 943 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.15 หมื่นล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.40% ทำให้ส่งออกตลาดอียูหดตัว 0.35 และติดลบครั้่งแรกในรอบ 3 ปี

ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น จีน ตะวันออกกลางก็ไม่ได้นัก มีเพียงตลาดสหรัฐ อาเซียน และอินเดีย ที่ยังดีอยู่ ที่น่าห่วงอีกคือส่วนแบ่งตลาดโลกไทยลดลงเหลือ 1.2% สะท้อนขีดความสามารถไทยลดลงมาก ดังนั้น ไทยควรเร่งใช้สิทธิจากข้อตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) ต่างๆ ในอาเซียนให้มากขึ้น และควรย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ เร่งหาแนวทางกลยุทธ์ปรับตัวเช่น การหานวัตกรรมใหม่และพยายามลดต้นทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้แก่สินค้า และควรเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทดแทนตลาดอียูเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเร่งรัดเจรจาเปิดเสรีการค้าไทย-อียู

นายอัทธ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ส่งออกไทยยากขึ้น คืออัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทไทย แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นในอาเซียน 5-9% และอัตราเหมาะสมตอนนี้น่าจะอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ