วันพฤหัสบดี, มกราคม 08, 2558

บทสัมภาษณ์ TCIJ: ณัฐนันท์ วรินทรเวช: คำขวัญวันเด็กต้องไม่มีคำว่า ‘ระเบียบวินัย’


ที่มา เวป TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ
05 มกราคม 2558

บางครั้งความเป็นเด็กก็ไม่เกี่ยวกับอายุโดยตรง ต่อให้คุณอายุ 30 คนที่อายุ 50 ก็สามารถมองคุณเป็นเด็กได้ แต่ถ้าคุณอายุแค่ 17 ไม่ชอบทำอะไรเหมือนคนอื่น ไม่ชอบเดินอยู่ในเส้นที่ผู้ใหญ่ขีดไว้ให้โดยไร้เหตุผล คุณจะยิ่งกลายเป็นเด็ก ‘เด็กก้าวร้าว’ ‘เด็กเหลือขอ’ ฯลฯ ถ้าวัดกันด้วยไม้บรรทัดของผู้ใหญ่ TCIJ น่าจะกำลังสนทนากับเด็กเหลือขอ เพราะเธอเป็นเด็กที่ไม่ยอมเชื่อฟังผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ไม่ยอมถกเถียงกับเธอด้วยเหตุผล

ถ้าคุณคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่-ไม่ใช่แค่ความหมายในเชิงอายุ แต่ในเชิงความรู้สึกของตัวคุณเองด้วย-ที่ผ่านโลกมามากและเข้าใจมันดีทุกซอกมุม ทั้งเห็นว่าผู้อาบน้ำร้อนทีหลังควรจะเดินตามรอยทางที่คุณผ่านมาแล้ว คุณก็ไม่ควรอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพราะอาจทำให้หงุดหงิด

ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี วันเด็กไม่ต่างจากพิธีกรรมที่ผู้ใหญ่จัดขึ้นเพื่อบอกเด็กๆ ว่า พวกหนูเป็นคนสำคัญ เป็นอนาคตของชาติ เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ทหารเปิดค่าย ทำเนียบรัฐบาลเปิดประตู สวนสนุก ขนมหวาน และคำขวัญวันเด็ก แต่หลังฉากปรากฏการณ์เหล่านี้คือเครื่องมือหนึ่งในการกำกับเด็กให้อยู่ในร่องในรอยที่ผู้ใหญ่ต้องการ

นี่ไม่ใช่คำพูดของเรา แต่เป็นคำพูดของ ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และอีกบทบาทหนึ่งของเธอคือเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ถ้ายังนึกไม่ออก เด็กนักเรียนที่ไปยืนถือป้ายคัดค้านค่านิยม 12 ประการที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการคือเธอและเพื่อนๆ ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเธอและเพื่อนๆ ก้าวร้าว ไม่ก็ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเขี้ยวลากดินที่ลากเธอให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ...ก็เป็นสิทธิ์ที่ใครจะคิด

‘เด็กดี’ ของเธอเป็น ‘เด็กดี’ คนละความหมายกับผู้ใหญ่ส่วนมากอยากให้เป็น เพราะมันไม่ใช่เด็กที่เชื่อในค่านิยมที่ผู้ใหญ่บอกให้เชื่อ แต่ต้องเป็นเด็กที่พร้อมจะตั้งคำถามและถกเถียงด้วยเหตุผลต่อสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกให้เชื่อ ทว่า ในสภาพสังคมที่ผู้ใหญ่ไม่เคยฟังเด็กเช่นนี้ คำถามคงไม่ต่างอะไรกับการยั่วยุอัตตาของบรรดาผู้ใหญ่ให้ระเบิด

ทำใจนิ่งๆ ฟังบทสนทนาของเยาวชนวัย 17 คนนี้ ที่สะท้อนความต้องการของเด็กและเยาวชนคนหนึ่ง แล้วจะเข้าใจว่า ทำไมเธอจึงคิดว่าคำขวัญวันเด็กไม่ควรมีคำว่า ‘ระเบียบวินัย’ บางทีวันเด็กครั้งต่อๆ ไป อาจไม่ใช่วันเด็กของผู้ใหญ่ แต่เป็นวันเด็กของเด็กจริงๆ เสียที

TCIJ: ยังจำได้หรือเปล่าว่าไปงานวันเด็กครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่และบรรยากาศเป็นยังไง

ณัฐนันท์: มีสองกรณี หนึ่งคือเราไปทำกิจกรรมกับสองเราไปแบบเด็กๆ ไปพักผ่อน ถ้าเป็นกิจกรรมเราก็ไปทำกิจกรรมวันเด็กเมื่อต้นปี 2557 แต่ที่ไปพักผ่อน ครั้งล่าสุดน่าจะหลายปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ไปกับคุณพ่อ คุณแม่ แต่พอขึ้นมัธยมต้นก็ค่อนข้างยุ่งๆ เลยไม่ค่อยได้ไป ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่รู้สึกว่าเป็นเด็กแล้ว ไม่ค่อยอินเท่าไหร่ อีกส่วนหนึ่งคือเรียนเยอะมาก เวลาว่างน้อยลง

ส่วนวันเด็กเมื่อต้นปี 2557 ไปทำกิจกรรมในนามกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เราเอาดอกไม้ไปมอบให้ทหารที่ค่ายทหาร เพราะช่วงนั้นกระแสการรัฐประหารค่อนข้างมาแรง แต่พลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ออกมาแถลงว่าจะไม่ทำรัฐประหาร เราจึงไปมอบดอกไม้เพื่อเป็นการขอบคุณ แต่ว่าก็เกิดรัฐประหารขึ้น ตรงนี้รู้สึกแย่เหมือนกัน แต่กิจกรรมวันนั้นกระแสตอบรับค่อนข้างดีค่ะ เป็นการสะท้อนเสียงจากเด็กๆ ว่า เด็กๆ ไม่ต้องการรัฐประหารและเราขอบคุณทหาร เพราะประชาธิปไตยก็เป็นหลักการหนึ่งของกลุ่มเรา




TCIJ: มุมมองต่อวันเด็กในปัจจุบันกับอดีตแตกต่างกันมั้ย

ณัฐนันท์: ต่างค่ะ สมัยก่อนงานวันเด็กก็สนุกดี รัฐบาลจัดงานให้เด็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรามองเห็นสัญญะที่ซ่อนอยู่ในงานวันเด็กและคำขวัญวันเด็ก เช่น สัญญะว่าทำไมรัฐต้องกำหนดคำขวัญวันเด็กขึ้นมา แล้วถ้าสังเกตดูดีๆ คำขวัญวันเด็กจะมีคำซ้ำๆ ที่เอามาจัดเรียงใหม่ เป็นการปลูกฝังค่านิยมเดิมๆ สิบปีผ่านก็ยังเหมือนเดิม โดยส่วนตัวจึงมองวันเด็กเป็นการเมืองมากขึ้น แทนที่จะเป็นงานสนุกสนาน แต่ในวัยเด็กเราไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้

TCIJ: เราบอกว่าวันเด็กคือความพยายามสร้างค่านิยมซ้ำๆ ให้เด็กของรัฐ แล้วกลุ่มเรายังไปทำกิจกรรมถือป้ายคัดค้านค่านิยม 12 ประการ ทำไมจึงต้องต่อต้านค่านิยมเหล่านี้

ณัฐนันท์: จริงๆ แล้ว คำว่าค่านิยมไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป มันเป็นสิ่งที่ประชาชนปฏิบัติเป็นประจำจนกลายเป็นวิถีปฏิบัติที่สืบต่อกันทั่วไป แต่ต้องแยกระหว่างค่านิยมที่เกิดจากประชาชนจริงๆ กับค่านิยมที่รัฐพยายามจะปลูกฝัง ซึ่งค่านิยมที่รัฐพยายามจะปลูกฝัง ถ้ามันมากเกินไปก็จะกลายเป็นการครอบงำ โดยเฉพาะกับเยาวชน เห็นได้จากการที่โรงเรียนปลูกฝังอุดมการณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งถ้าเราศึกษาจะพบว่า ค่านิยมที่ได้รับการปลูกฝันในแต่ละยุคจะเปลี่ยนไปตามรัฐและรูปแบบการปกครอง

การที่รัฐพยายามปลูกฝังอุดมการณ์ให้นักเรียนสามารถมองได้สองด้าน ด้านหนึ่งคือรัฐพยายามใช้นักเรียนเป็นเครื่องมือหรือเปล่า เช่น ตอน 6 ตุลาคม 2519 ที่ปลูกฝังว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งชั่วร้าย ซึ่งเราเห็นผลเสียของมันมากมาย กับอีกด้านคือต้องการปลูกฝังนิสัยบางอย่างให้เป็นกระแสหลักของสังคม การที่รัฐพยายามจะปลูกฝังค่านิยมก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ที่สำเร็จส่วนใหญ่มักเป็นค่านิยมทางการเมืองที่รุนแรงและน่ากลัว เช่น ค่านิยมว่าเราต้องเคารพผู้ใหญ่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นรากฐานของโซตัสและเราก็ได้เห็นความรุนแรงจากระบบนี้ หรือการสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องสงสัยก็เป็นอีกหนึ่งที่ผู้ใหญ่พยายามจะปลูกฝัง แทนที่จะสอนให้คิด วิเคราะห์เอง การที่รัฐบังคับให้ท่องค่านิยมโดยถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็สะท้อนถึงการสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องสงสัยที่รัฐพยายามจะปลูกฝังให้อยู่แล้ว

TCIJ: ถ้าอย่างนั้นเด็กดีในความหมายของเราต้องเป็นอย่างไร

ณัฐนันท์: เด็กดี ง่ายที่สุดต้องรู้จักการตั้งคำถามและสงสัย ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะถูกส่งผ่านมาจากใคร จากผู้ใหญ่ จากเพื่อน หรือจากสื่อ เราไม่ได้หมายความว่าต้องต่อต้านทุกอย่าง แต่ต้องรับอย่างมีวิจารณญาณ ต้องตั้งคำถามก่อนว่ามันถูกหรือเปล่า จากนั้นก็นำมาคิดตามตรรกะ ตามเหตุผล และกลั่นกรองจนกว่าจะได้ข้อสรุปว่าเป็นสิ่งที่น่าจะถูก เป็นสิ่งที่ควรยอมรับ เราต้องคำถามกับตัวเองตลอดเวลา ไม่ใช่แต่กับภายนอก ต้องมีการตรวจสอบว่าตัวเองใช้ตรรกะวิบัติหรือเปล่า ตัวเองยึดติดอยู่กับอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งมากเกินไป จนส่งผลเสียต่อตัวเองหรือเปล่า

TCIJ: ทุกวันนี้ตั้งคำถามอะไรกับตัวเองบ้าง

ณัฐนันท์: ก็ตั้งคำถามบ่อยค่ะ โดยส่วนตัวเป็นคนชอบการดีเบตและการถกเถียงมาก ส่วนใหญ่ในเฟสบุ๊คก็เยอะค่ะ ถกเถียงเรื่องเพศก็มี เกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม เรื่องการศึกษา เรื่องการเมือง เรื่องความเชื่อต่างๆ เรื่องศาสนา เราตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ตลอดเวลา เราเชื่อว่าการถกเถียงแลกเปลี่ยนมันช่วยพัฒนาความคิดของตัวเองได้ เพราะถ้าความคิด ความเชื่อเราหยุดนิ่ง มันจะไม่ก่อให้เกิดพลวัตร การที่เราเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ไม่ตั้งคำถามกับตัวเองอย่างสม่ำเสมอจะเป็นการเสียโอกาสของตัวเอง

ส่วนตัวก็มีเถียงกับตัวเองว่า เอ๊ะ ที่เราเชื่อ มันถูกหรือเปล่า เราอ่านหนังสือ แล้วก็คิดว่า ถ้าเราเชื่อตามหลักการนี้มันถูกหรือเปล่า ถ้าเป็นหลักการนี้ มันถูกมั้ย เป็นคนชอบอ่านปรัชญาก็เลยเป็นคนที่ค่อนข้างเถียงกับตัวเองบ่อย ล่าสุดเถียงกับตัวเองเรื่องการศึกษา บางทีก็รู้สึกสงสัยว่า เราควรจะมีความหวังกับประเทศไทยดีหรือเปล่า เราควรจะหนีไปจากประเทศไทยหรือว่าสู้ต่อ เรายังมีความหวังกับกระบวนการศึกษาอยู่หรือเปล่า เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาแว่บหนึ่ง

TCIJ: เวลาพูดถึงปัญหาเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่มักจะมองผ่านมุมมองของผู้ใหญ่ ถ้าให้มองผ่านมุมมองของเราล่ะ

ณัฐนันท์: สถานการณ์เด็กและเยาวชน โดยส่วนตัวมองว่าเด็กไม่ได้รับการรับฟังจากผู้ใหญ่เพียงพอ มันเป็นช่องว่างระหว่างรุ่น ซึ่งผู้ใหญ่มักจะอยู่ในเจเนอเรชั่นเอ๊กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์ แต่นักเรียนทุกวันนี้เป็นเจนวายกับเจนแซด ช่องว่างมันต่างกันมาก ทำให้คนแต่ละยุคมีนิสัยเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน กลายเป็นว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็ก แต่แทนที่จะพยายามเข้าใจเด็กและพยายามชักจูงเด็กให้เข้าใจผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่กลับกลายเป็นพ่อแม่ที่รักลูกผิดทาง รักลูกด้วยการออกกฎ รักลูกด้วยการล้อมรั้วให้ลูก ว่าลูกต้องเป็นหนึ่ง สอง สาม สี่ ตามทัศนะของคนยุคเจนเอ๊กซ์กับเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งทัศนคติของคนแต่ละยุคมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การบังคับให้เด็กอยู่ในกรอบของผู้ใหญ่ทุกประการ ทำให้เด็กเกิดความกดดัน บางคนปรับตัวไม่ได้ ทำให้กลายเป็นเด็กมีปัญหา สิ่งหนึ่งที่เป็นกำแพงกั้นไม่ให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กคือวัฒนธรรมอาวุโสหรือโซตัส เพราะโซตัสสอนให้เราเคารพคนที่มีอาวุโสกว่า โดยไม่ตั้งคำถามและไม่เรียกร้องเหตุผลมากมายในการเชื่อฟังคำสั่ง ตรงนี้เป็นปัญหามาก เพราะมนุษย์ต้องการความเป็นเหตุเป็นผลในใจอยู่แล้ว คือต้องการให้ทุกอย่างมันเมคเซ๊นส์

แต่เมื่อเราต้องเชื่อฟังสิ่งที่ไม่เมคเซ๊นส์ สุดท้ายเขาก็จะเชื่อฟังกฎแค่ต่อหน้า แต่ลับหลังเขาไม่ทำ เพราะไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมต้องทำ เพราะมันเป็นตรรกะที่ไม่เมคเซ๊นส์ในสายตาของเด็ก พอเด็กๆ ต้องการจะโต้แย้ง ก็มองว่าเด็กก้าวร้าว แทนที่จะคุยกันด้วยเหตุผลกลายเป็นบอกให้เด็กเงียบ ตรงนี้กลายเป็นสร้างความห่างระหว่างเจเนอเรชั่นให้กว้างขึ้นไปอีก

TCIJ: เราเห็นเด็กจำนวนหนึ่งที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เสพและค้ายา ทะเลาะวิวาท กระทำรุนแรง ข่มขืน สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่?

ณัฐนันท์: สิ่งเหล่านี้เป็นเคสที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงมาก แต่โดยส่วนตัวแล้ว คนเหล่านี้ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกวิธี สิ่งที่ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัวทั้งนั้น ซึ่งมองว่าการที่เลี้ยงดูด้วยความเข้าใจจะทำให้คนเรามีความเป็นเหตุเป็นผลและใช้เหตุผลวิเคราะห์เป็นว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร มากกว่าที่จะล้อมกรอบว่าต้องทำหนึ่ง สอง สาม สี่ แต่สุดท้ายก็ทำให้เกิดปัญหา มันก็มีความเป็นไปได้สูงค่ะว่า พ่อแม่อาจไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้

ถ้าเราพูดถึงการทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน เพิ่งนึกออกเหมือนกัน คือมันเกี่ยวกับโรงเรียน เราเห็นเด็กอาชีวะตีกัน อย่าว่าแต่เด็กอาชีวะเลยค่ะ เด็กมัธยมเดี๋ยวนี้ก็คลั่งสถาบันของตัวเองจนเกินเหตุ เรียกว่าเอาศักดิ์ศรีของโรงเรียนไปผูกกับศักดิ์ศรีของตัวเอง พอเห็นโรงเรียนคู่อริเดินมาก็ตีกันแล้ว ทั้งที่ไม่รู้จักกัน ตรงนี้เราต้องตั้งคำถามกับอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการปลูกฝังอุดมการณ์ของสถาบันเข้าสู่ตัวนักเรียน มันผิดพลาดหรือเปล่า ผิดพลาดตรงไหน จนทำให้ความภูมิใจของโรงเรียนที่ควรจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนเกลียดกัน ตีกัน

ในระบบอาวุโสแบบนี้ เด็กไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง

ซึ่งตรงนี้เป็นการล้มล้างความพยายามของเด็กบางคน

ที่พยายามจะเข้าใจผู้ใหญ่ด้วยการพูดคุย 

เราจะเห็นว่าโรงเรียนปลูกฝังอุดมการณ์ด้วยพิธีกรรม เช่น โรงเรียนไหนมีสัญลักษณ์เป็นของรัชกาลที่ 5 ก็จะมีพิธีกรรมในวันปิยะมหาราช ถ้าเป็นบางโรงเรียนที่เคารพคนสำคัญอีกคนหนึ่งก็จะมีพิธีกรรมที่แยกออกไปอีก เราจะเห็นพิธีกรรม การปลูกฝังหลายๆ อย่างที่สะท้อนกลับไปถึง...ถ้าพูดให้แรงเลยคือเป็นระบบฟาสซิสต์ เป็นระบบอำนาจนิยม เป็นการปลูกฝังให้คนไม่ได้ภูมิใจด้วยเหตุผล ไม่ได้ภูมิใจในตัวเอง แต่เป็นคนที่ขาดความเป็นปัจเจกจนต้องยึดเอาอัตลักษณ์ส่วนรวมมาเป็นของตัวเอง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จิตใจของเขาจะเปราะบางมาก พอมีใครไปโจมตีสัญลักษณ์ของโรงเรียนที่เขายึดถือเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง เขาจะรู้สึกว่าโดนเหยียดหยาม มันก่อให้เกิดความคลั่งจนเกินพอดี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการตีกันระหว่างสถาบัน ตรงนี้เราไม่ควรโทษเด็กอย่างเดียว เพราะมันเป็นไปได้เหรอที่เด็กจะเป็นอย่างนั้นทั้งโรงเรียนหรือตีกันทุกรุ่น เป็นไปไม่ได้ ถ้าการปลูกฝังค่านิยมไม่เป็นปัญหาก็คงไม่เกิดปัญหาที่น่าเศร้าอย่างนี้ขึ้น

จริงๆ แล้วมันมีหลายอย่างทั้งจากภายในและภายนอก แต่ว่าการปลูกฝังความคลั่งอุดมการณ์ ส่วนใหญ่จะเป็นปรากฏการณ์แบบแมส เช่น เวลาฮิตเลอร์ปราศรัย คนจะยอมบริจาคเงินให้พรรคของฮิตเลอร์ ทำไมตอนปฏิวัติคอมมิวนิสต์จึงมีกระแสเกลียดชังพวกปฏิกิริยาที่รุนแรงมาก หรือตอน 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มนวพล กระทิงแดง ถึงสะใจเวลาเห็นนักศึกษาตาย เพราะเชื่อว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเราจะเห็นว่าการปลูกฝังความคลั่งเป็นแบบแมสและมาจากข้างบน เป็นสิ่งที่ปลูกฝังคนได้ทีละมากๆ เมื่อปลูกฝังได้แล้วจะเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมคนให้รุนแรงก้าวร้าว เพื่อปกป้องสิ่งที่ตนเองเชื่อ

มันไม่ได้หมายความว่าคนที่ถูกปลูกฝังอุดมการณ์เหล่านี้เป็นคนเลว แต่เป็นเพราะพวกเขาถูกควบคุมไว้ด้วยชุดอุดมการณ์ชุดหนึ่ง ซึ่งมันจะได้ผลในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น อย่างเช่นเรื่อผีคอมมิวนิสต์ได้ตายไปจากสังคมไทยแล้ว แต่อุดมการณ์ที่ถูกปลูกฝังต่อเนื่อง มันก็จะสามารถอยู่ได้เป็นเวลานาน เช่น สถาบันโรงเรียนมีความศักดิ์สิทธิ์ มันไม่ได้หมายความว่านักเรียนคนนั้นไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำตนเอง แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าเขาถูกปลูกฝังมาจากอุดมการณ์นี้

TCIJ: พูดกันว่า-ซึ่งก็เป็นผู้ใหญ่พูดอีกนั่นแหละ เด็กและวัยรุ่นปัจจุบันนี้จัดอยู่ในกลุ่มเจนมีหรือ Generation Me หมายถึงทุกอย่างหมุนรอบตัวฉัน คิดว่าจริงมั้ย

ณัฐนันท์: ไม่ได้มองว่าเจนวายกับแซดจะถูกนับรวมเป็นเจนมี โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าคนเรามีความสนใจในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนยุคไหน แต่ว่าที่อาจจะมากขึ้นเพราะระบบการเมืองของสังคมเปลี่ยนไป ทำให้คนมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น เพราะเรารับเอาอุดมคติของฝรั่งที่มีความเป็นปัจเจกค่อนข้างสูง เมื่อรับตรงนั้นมา คนเจนวายกับเจนแซดอาจจะดูเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นตนเองค่อนข้างสูง มีความอดทนน้อยกว่าคนรุ่นก่อน มีความเป็นปัจเจกสูง แต่ข้อดีคือมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนรุ่นก่อน



การที่เราเรียกโดยรวมว่าเจนมี ดูจะเป็นแง่ลบเกินไป เราก็เห็นคนเจเนเรชั่นใหม่ๆ ทำงานเพื่อสังคม ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า กิจการเพื่อสังคม ซึ่งส่วนใหญ่ริเริ่มโดยคนรุ่นใหม่ เราก็มองได้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้มองแต่ตัวเองอย่างเดียว เขามองคนอื่นเป็นเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้เราคิดว่าคนรุ่นใหม่คิดถึงแต่ตัวเองอาจเป็นเพราะโซเชียล มิเดียที่เราเห็นคนรุ่นใหม่ชอบถ่ายเซลฟี่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะติดโซเชียล มิเดียงอมแงมจนไม่ทำอะไร การเหมารวมว่าเป็นเจนมี ส่วนตัวมองว่าเป็นการมองในแง่ลบเกินไป

TCIJ: ในสายตาเรา ผู้ใหญ่ทุกวันนี้มีปัญหาอะไร

ณัฐนันท์: ปัญหาของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวกับเด็กโดยตรงที่เห็นได้ชัดมากคืออีโก้ การที่นักเรียนไม่กล้าประท้วงในสิ่งที่อาจารย์ทำผิด นักเรียนห้ามเถียงอาจารย์ทั้งที่พูดด้วยเหตุผลกับอีกหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ใช้อำนาจกับเด็กมากเกินไป จนบางทีคล้ายเผด็จการ เช่น เด็กถามว่าทำไมทรงผมต้องตัดเกรียน ผู้ใหญ่ก็จะมองเด็กคนนี้ว่าเป็นเด็กก้าวร้าว ไม่ทำตามกฎ แล้วก็ไล่ให้ไปเรียนโรงเรียนอื่น ตรงนี้สะท้อนอีโก้ของผู้ใหญ่คือไม่ได้ตอบคำถาม

ผู้ใหญ่มีการยึดในระบบ ระเบียบค่อนข้างสูง อนุรักษ์นิยม และอีโก้ พอความเป็นอนุรักษ์นิยมมาบวกกับอีโก้ มันจะกลายเป็นสิ่งที่หยุดการพัฒนาของสังคม เช่น ข้อเสนอให้แช่แข็งประเทศไทยหรือใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับอีโก้

อีโก้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผู้ใหญ่ไทยได้ประโยชน์จากระบบอาวุโส กลายเป็นว่ายิ่งแก่ แทนที่จะทบทวนความคิดตัวเองให้ทันกับโลกมากขึ้น แต่ยิ่งแก่ยิ่งยึดกับความคิดเดิมๆ และเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิดถูกต้องทุกอย่าง มันไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวเยาวชนอย่างเดียว แต่มันส่งผลเสียงต่อทั้งสังคม เพราะว่าการที่ผู้ใหญ่ใช้อีโก้ของตัวเองเบียดบังพื้นที่ของเยาวชน มันเป็นตัวฉุดรั้งพัฒนาการของประเทศ ทุกวันนี้ไม่ใช่สังคมยุคสงครามเย็นแล้ว เป็นสังคมยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคที่ทั้งโลกเชื่อมต่อกัน เราต้องยอมรับว่าเยาวชนใช้เทคโนโลยีเก่งกว่าผู้ใหญ่มาก แต่ว่าการที่ผู้ใหญ่ปฏิเสธทักษะของเด็กๆ และมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระหรือเล่นอย่างเดียว ตรงนี้ทำให้เราสูญเสียบุคลากรหรือแนวคิดดีๆ ในการพัฒนาประเทศไปมาก

TCIJ: เราพูดถึงคำว่าระบบอาวุโสหลายครั้ง อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการไม่ต้องมีเรื่องอาวุโสเลยกับความเคารพกันและกันระหว่างรุ่นเพื่อการอยู่ร่วมกัน

ณัฐนันท์: ถ้าพูดโดยไม่คำนึงถึงสภาพสังคมในไทยนะคะ แทนที่เราจะเคารพกันที่คนนี้เกิดก่อนเกิดหลัง ทำไมเราไม่เคารพทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งนี้เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่มีระบบอาวุโส ซึ่งไม่ใช่ทุกคนไม่เคารพกัน แต่ทุกคนเคารพกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งนี้น่าจะเวิร์คกว่าสำหรับสังคม

แต่เมื่อพูดถึงสังคมไทย มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะลบล้างระบบอาวุโสไปทั้งหมด เรายังเก็บเกี่ยวข้อดีของมันได้อยู่ เช่น คนไทยอาจจะรู้สึกสบายใจ ถ้าเรียกกันเป็นพี่ เป็นน้อง มากกว่าเรียกคุณกับฉัน ประเด็นสำคัญคือจะทำยังไงไม่ให้ระบบอาวุโสล้ำเส้นไปจนเกิดข้อเสีย คือเรายังเคารพกันในฐานะพี่น้องได้ แต่พี่กับน้องก็ต้องตรวจสอบกันและกันได้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ โดยไม่มีสิ่งใดมาเป็นปราการกั้น สิ่งที่เราควรทำคือการสนับสนุนการมีเหตุผลมากกว่าการนำปราการเรื่องอายุมากั้นระหว่างกัน

ความเป็นพี่น้อง ถ้าเรามองในแง่หนึ่งก็สามารถลดเจเนอเรชั่น แก็ป ได้นะ นำไปสู่การเข้าใจกันมากขึ้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอาอายุมาเป็นตัวปิดกั้นการรับฟัง มันจะสะท้อนกลับทันทีเลยนะ แทนที่จะเป็นการสร้างความใกล้ชิด มันจะกลายเป็นปราการกั้นไม่ให้แลกเปลี่ยนความคิดกัน

TCIJ: สรุปแล้วเด็กไม่เข้าใจผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็กกันแน่ หรือทั้งคู่

ณัฐนันท์: จริงๆ มันทั้งคู่ค่ะ แต่ว่าปัญหาอยู่ที่ว่านอกจากผู้ใหญ่จะไม่เข้าใจเด็กแล้ว ยังไม่ฟังเด็กด้วย เพราะว่าในระบบอาวุโสแบบนี้ เด็กไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง ซึ่งตรงนี้เป็นการล้มล้างความพยายามของเด็กบางคนที่พยายามจะเข้าใจผู้ใหญ่ด้วยการพูดคุย เป็นการตัดช่องทางสื่อสารโดยสิ้นเชิง

TCIJ: จำคำขวัญวันเด็กปี 2558 ได้หรือเปล่า

ณัฐนันท์: จำไม่ได้ค่ะ แต่จำได้ว่ามีคีย์เวิร์ดว่า คุณธรรม ใฝ่ความรู้หรือใฝ่เรียนรู้สักอย่าง รู้สึกจะมีสามัคคีด้วยหรือเปล่า

TCIJ: แบบนี้แล้วยังควรมีวันเด็กต่อไปหรือเปล่า

ณัฐนันท์: จริงๆ มันก็เป็นสีสันนะ น่ารักดี แต่การที่ให้อำนาจการกำหนดคำขวัญวันเด็กกับนายกฯ คนเดียว ส่วนตัวมองว่า...ถ้าเราเสนอให้ประชาชนโหวตได้จะดีกว่ามั้ย หรือให้ประกวดมันจะเป็นการสร้างสีสันที่ดีกว่าหรือเปล่า เพราะการให้นายกฯ ออกคำขวัญ ถ้ามองในมุมเด็กๆ เลย มันก็ซ้ำๆ กัน จริงๆ แล้ว ถ้าพูดตามมุมมองของวัยรุ่นคือไม่มีวัยรุ่นคนไหนอินกับคำขวัญวันเด็ก เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ทำแล้วก็ฟินกันเอง

มันเหมือนเป็นการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มองว่าเด็กจะอินไปกับคำขวัญด้วยหรือเปล่า แล้วเด็กจะยินดีน้อมรับแนวคิดที่อยู่ในคำขวัญเป็นของตัวเองหรือเปล่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสติ๊กเกอร์ไลน์ มันแสดงความพยายามของรัฐที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยและเข้าใจเยาวชนมากขึ้น แต่สติ๊กเกอร์ ถ้าวิจารณ์โดยรวมแล้ว มองว่ามันเจาะตลาดเยาวชนไม่ได้ เป็นแนวเดียวกันกับคำขวัญ สุดท้ายก็ไม่มีใครสนใจ รัฐต้องทบทวนวิธีการแล้วล่ะว่าจะทำยังไงให้แนวคิดมันทันสมัยมากขึ้น

TCIJ: ให้เราลองตั้งคำขวัญวันเด็ก

ณัฐนันท์: วันเด็กปี 2556 เราจัดกิจกรรมสร้างคำขวัญผู้ใหญ่เนื่องในโอกาสวันเด็ก เราได้คำขวัญที่ชนะการโหวตว่า ‘หยุดครอบงำความคิดอ่าน หยุดกล่าวอ้างด้วยระเบียบวินัย หยุดกดขี่ด้วยความเป็นไทย ประชาธิปไตยต้องให้เด็กได้วิพากษ์วิจารณ์’

แต่ถ้าให้คิดคำขวัญวันเด็กเอง คิดหนักเหมือนกันนะ เพราะไม่เคยตั้ง แต่ถ้าให้เป็นคีย์เวิร์ดแทน ต้องมีคำว่าตั้งคำถาม ต้องมีคำว่าวิเคราะห์ ต้องไม่มีคำว่าอาวุโส แล้วก็ไม่มีคำว่าระเบียบวินัย และควรจะมีคำว่าประชาธิปไตย

ทำไมต้องตัดคำว่า ระเบียบวินัย ออก ไม่ใช่จะให้คนทำตัวเป็นมนุษย์ป้าทำอะไรก็ได้นะคะ แต่คำว่าระเบียบวินัย ไม่ใช่แค่คุณต้องต่อแถวเข้าคิว รักษาสมบัติของสาธารณะ ไม่ใช่แค่รู้จักสิทธิของตัวเองและผู้อื่น แต่มันกลายเป็นว่าบางครั้งบางคราวคุณต้องปฏิบัติตามกฎที่นอน-เซ๊นส์ ตั้งคำถามไม่ได้ กฎมันเป็นอย่างนี้และคุณต้องปฏิบัติตาม แล้วคุณก็เรียกว่าระเบียบวินัย แต่ระเบียบวินัยคือข้อตกลงของสังคม ไม่ใช่การเคารพข้อตกลงของผู้มีอำนาจ จึงเห็นว่าควรตัดออกไปจากคำขวัญวันเด็กที่เราจะเห็นแทบทุกปี

ส่วนเรื่องการตั้งคำถามที่คิดว่าควรใส่ เพราะมันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก จริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งใหม่เลยนะคะ รัฐบาลบอกว่าอยากให้เด็กมี Critical Thinking แต่เด็กแค่จะตั้งคำถามยังทำไม่ได้เลย มันเป็นการแสดงความย้อนแย้งของรัฐบาล

TCIJ: ความคิด ความเชื่อทั้งหมดที่เราพูดก็คือที่มาของการตั้งกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท?

ณัฐนันท์: ใช่ค่ะ เราชอบแนวคิด Education for Liberation ของอดัม เคิร์ล มันเป็นการศึกษาที่จะขัดกับการศึกษาในปัจจุบันของไทยโดยสิ้นเชิง ของเคิร์ลเป็นการศึกษาที่เคารพในความเป็นมนุษย์ ต้องไม่มีระบบอาวุโส แล้วต้องเป็นการศึกษาที่เห็นคุณค่าของปัจเจก เห็นว่าทุกคนมีความแตกต่างกัน จึงควรสนับสนุนความสามารถเฉพาะด้านของแต่ละคนที่อยากจะพัฒนา ซึ่งการศึกษาในปัจจุบัน เราใช้คำว่าความเหลื่อมล้ำมาสร้างการศึกษาแบบอุตสาหกรรม คือการใช้ข้อสอบวัดมาตรฐาน แล้วก็เป็นข้ออ้างในการบังคับนักเรียนให้เป็นนักทำข้อสอบ เราจะเห็นว่าชีวิตนักเรียนไทยมีแต่การสอบๆๆ โดยเหตุผลเบื้องหลังการสอบ เขาอ้างว่าเพื่อจะสร้างความเท่าเทียมในนักเรียนแต่ละกลุ่มที่มีพื้นหลังไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ได้มาคือการศึกษาแบบอุตสาหกรรม ไม่ใช่การขจัดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้แล้ว ยังไปตัดความสามารถ ความถนัด สิ่งที่สนใจของเด็กลง การศึกษาแบบอุตสาหกรรมไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนพัฒนาทักษะที่อยากจะพัฒนาจริงๆ แต่คุณมายัดแปดวิชาหลักลงไป แล้วบอกว่าทุกคนต้องทำได้ดี ต้องผ่านแปดวิชา เหมือนเอาช้าง ยีราฟ ปลาทองมาวิ่งแข่งกัน แล้วก็หาว่าใครวิ่งได้เก่งที่สุด คนที่วิ่งไม่ได้ก็ถูกคัดออกจากระบบ การศึกษาไทยมีเด็กที่หลุดออกไปจากระบบระหว่างทางเยอะมาก สิ่งนี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับการศึกษาในยุคใหม่

การศึกษาแบบอุตสาหกรรมเป็นการศึกษาแบบศตวรรษที่ 20 คือไม่ใช่การศึกษาของศตวรรษนี้แล้ว แต่เราก็ยังเห็นการศึกษาไทยที่สอนเมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อนยังไง ตอนนี้ก็ยังสอนแบบนั้น ตอนนี้ควรจะปรับเปลี่ยนใหม่ กลุ่มเราจึงเห็นว่าการศึกษาเพื่อความเป็นไทหรือ Education for Liberation เป็นสิ่งที่น่านำมาปรับ เราจึงนำเสนอไอเดียนี้ให้เห็นว่ายังมีระบบการศึกษาที่ไม่ใช่แบบปัจจุบันนี้อยู่นะ เป็นการศึกษาที่น่าจะดีกว่า น่าจะนำมาปรับใช้มากกว่า

TCIJ: ช่วยอธิบายหน่อยที่ว่า เด็กไม่ใช่ภาชนะที่ว่างเปล่าให้ยัดเยียดความรู้ โดยไม่เข้าใจในความเป็นมนุษย์

ณัฐนันท์: เคยได้ยินมั้ยคะที่ว่า การศึกษาแบบฝากธนาคาร คือมีความรู้อยู่ชุดหนึ่ง แล้วให้นักเรียนกลืนเข้าไป เราก็พยายามเอาน้ำไปใส่ภาชนะบางอย่าง เทๆๆ ไปเรื่อยๆ ให้มันมีน้ำเพียงพอ แล้วก็จบแค่นั้น คือให้สามารถจำเนื้อหาที่สอนได้ พอเข้าปีการศึกษาใหม่ นักเรียนก็จำเป็นต้องเทน้ำเดิมออก เพื่อจะเทน้ำชุดใหม่ลงไปได้ เป็นการศึกษาแบบซึมซับข้อมูล ไม่ใช่คิด วิเคราะห์ข้อมูลให้มันเกิดความเข้าใจและสามารถนำชุดความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้

ทำไมเราจึงเรียกการศึกษาแบบฝากธนาคาร เพราะมันเป็นการศึกษาที่กำหนดมาว่า นักเรียนต้องรู้ความรู้นี้ๆๆ พยายามจะยัดทุกอย่างเข้าไว้ แทนที่จะสอนวิธีการให้นักเรียนไปหาความรู้เองในอนาคต สอนให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต



TCIJ: ได้ทำอะไรไปบ้างแล้วที่จะผลักดันแนวคิดของกลุ่มให้เป็นจริง

ณัฐนันท์: กลุ่มเรามีการนำเสนอไอเดียให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการร่างนโยบาย 11 ข้อเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทย ตอนที่จะมีการเลือกตั้ง เราก็เสนอให้แก่พรรคต่างๆ ให้นำนโยบายของเราไปปรับใช้ได้โดยไม่ต้องให้เครดิตเรา ก็มีหลายพรรคให้การตอบรับมา มีพรรคพลังราษฎร์ให้ความสนใจมากหน่อย พรรคใหญ่ๆ อย่างเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เราก็ส่งไปให้ แต่ก็ไม่มีการตอบรับที่จริงจัง

แต่การเสนอนโยบายตรงนี้ก็ต้องหยุดชะงักไปเมื่อมีการรัฐประหาร ทำให้ความพยายามผลักดันนโยบายของเราไปถึงภาคการเมืองเป็นสิ่งที่ยากขึ้น

ตอนแรกที่มี สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) ก็คิดเหมือนกันว่าจะส่งไปดีมั้ย แต่มาตัดสินใจกันในกลุ่มว่า การส่งไปตอนนี้ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้จริงๆ เพราะเรามองว่าการจัดเวทีฟังเสียงนักศึกษา เสียงเยาวชน สุดท้าย เราก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเขาจะเอาแนวคิดเราไปใช้จริงๆ หรือจะเป็นแค่สภาตรายางเหมือนสภาที่เขาตั้งขึ้น เราก็เลยขาดความเชื่อมั่นและไม่ได้ส่งไอเดียของเราไป

TCIJ: เวลาคนรุ่นเราพูดถึงเสรีภาพ ผู้ใหญ่มักคิดก่อนเลยว่า ที่พูดๆ มานี่คิดจะทำอะไรตามใจ ทำอะไรก็ได้ล่ะสิ เสรีภาพสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นแบบไหน ถ้าต้องพูดให้ผู้ใหญ่เข้าใจ

ณัฐนันท์: เอาอย่างนี้แล้วกัน สมมติเราอยากทำสิ่งนี้ แต่คุณบอกว่าทำอีกอย่างดีกว่า แทนที่คุณจะบังคับให้เราทำสิ่งที่คุณบอก ทำไมคุณไม่มาถกกับเราดูล่ะว่า สิ่งที่เราอยากทำกับสิ่งที่คุณอยากให้ทำ อย่างไหนดีกว่า เสรีภาพไม่ใช่ไม่มีกฎเกณฑ์เลย ไม่ใช่การทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่อนาธิปไตย แต่เป็นการที่คุณและเราต่างเคารพสิทธิของกันและกัน เรามีเสรีภาพภายใต้การตระหนักรู้ถึงสิทธิของตัวเองและสิทธิของผู้อื่น เพราะการใช้เสรีภาพของผู้ใหญ่ แน่นอนว่าเป็นการใช้อำนาจในนามของความหวังดี แต่บางทีก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ ทางออกที่ดีที่สุดคือการรับฟังกัน การเถียงกันอย่างมีเหตุผล

พูดอย่างสรุปง่ายๆ เลย คือคุณไม่ต้องปล่อยเราทุกเรื่อง แต่ถ้าเราอยากทำอะไร คุณลองมาเถียงกับเราดู ถกกับเราดู ถ้าเหตุผลคุณไม่เมคเซ๊นส์ก็แปลว่าเรามีสิทธิทำ แต่ถ้าเหตุผลคุณเมคเซ๊นส์ เราก็โอเค