วันจันทร์, เมษายน 06, 2558

สุรชาติ วิเคราะห์ "บิ๊กตู่" ในกับดักอำนาจ หลังตัดสินใจใช้มาตรา 44 กับ14วิกฤตการเมืองไทย



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2558

สัมภาษณ์พิเศษ
สุรชาติ วิเคราะห์ "บิ๊กตู่" ในกับดักอำนาจ "หนีรูรั่วลำหนึ่งไปสู่รูรั่วอีกลำหนึ่ง" กับ14วิกฤต

ในที่สุด "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อปลดชนวนแรงกดดันทั้งใน-นอกประเทศ ทว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ที่ให้อำนาจแบบครอบจักรวาลแก่ "พล.อ.ประยุทธ์" ในฐานะหัวหน้า คสช.

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ "สุรชาติ บำรุงสุข" นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงกองทัพมาช้านาน ให้อ่านใจนายกฯ และทำนายอนาคตหลังจากตัดสินใจใช้มาตรา 44 พล.อ.ประยุทธ์จะต้องแบกรับอะไรต่อจากนี้

- ปัจจัยอะไรที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วหันมาใช้ มาตรา 44

เนื่องจากแรงกดดันจากต่างประเทศมีมาก ต้องยอมรับว่าในโลกปัจจุบันประเทศที่มีรัฐประหารและใช้กฎอัยการศึกแทบจะไม่มีเหลือในโลก เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกย่อมเป็นที่ถูกจับตามองว่า ระบบการเมืองของประเทศนั้นไม่สามารถเดินอยู่ในสภาวะปกติได้ แล้วมันโยงกับปัญหาเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ เป็นผลจากบริษัทประกันชีวิตไม่รับประกันในประเทศที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ในบริบทอย่างนี้แรงกดดันจากต่างประเทศมันมาจากหลายส่วน ไม่ใช่เพียงเรื่องของแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้น

อีกส่วนหนึ่งการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในเวทีระหว่างประเทศกดดัน เนื่องจากมองว่ากฎหมายฉบับนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะมันผูกโยงกับการใช้ศาลทหาร ไม่ว่ารัฐบาลไทยจะแก้ตัวว่ารัฐไม่มีความประสงค์ใช้กฎอัยการศึกกลั่นแกล้งบุคคล หรือลิดรอนเสรีภาพ แต่คิดว่าพูดอย่างนี้ขายไม่ได้ในเวทีระหว่างประเทศ เพราะโดยตัวของกฎหมายย่อมเป็นคำตอบอยู่ในตัวเองว่า กฎอัยการศึกมีความจำกัดในเรื่องเสรีภาพของบุคคล และยิ่งถูกใช้กับการนำพลเรือนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างถูกฟ้องร้องในศาลทหาร คิดว่าแรงต่อต้านกฎอัยการศึกและศาลทหาร ไม่ได้มาจากฝ่ายที่ยืนตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้น แต่กลุ่มการเมืองและกลุ่มสังคมหลายกลุ่มมองไม่ต่างจากทรรศนะที่ต่างประเทศมองเรา

เมื่อตัดสินใจจะปรับจากกฎอัยการศึกไปเป็นมาตรา 44 คงจะเป็นความเข้าใจผิดที่เชื่อว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วใช้ มาตรา 44 จะทำให้ต่างประเทศลดแรงกดดันกับประเทศไทย หรือรัฐบาลไทยลง เอาเข้าจริง ๆ เราไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า มาตรา 44 เบากว่ากฎอัยการศึก เนื่องจากในสังคมไทยมีข้อวิจารณ์อยู่พอสมควรว่า มาตรา 44 อาจเป็นยาแรงมากกว่ากฎอัยการศึกเสียอีก คิดว่าต่างประเทศจะยิ่งจับตามอง เพราะมาตรา 44 ให้อำนาจกับรัฐบาลค่อนข้างเบ็ดเสร็จ เท่ากับว่านายกรัฐมนตรี ผู้ใช้อำนาจมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจทุกฝ่าย ตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร ที่เป็นโครงสร้างของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียอีก ถ้าเป็นอย่างนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ภาพของรัฐบาลทหารไทยมีความเป็นรัฐบาลทหารแบบเบ็ดเสร็จมากขึ้น

- แม้การใช้มาตรา 44 แล้วใครทำผิดก็ให้ขึ้นศาลทหาร 3 ชั้น เหมือนขึ้นศาลปกติ ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

ไม่แน่ใจว่าจะช่วยแก้ภาพลักษณ์ได้ เพราะประเด็นอยู่ที่พื้นฐานของอำนาจ เนื่องจากพื้นฐานอำนาจมาตรา 44 ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ต้นกำเนิดของมาตรา 44 มาจากมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจพิเศษแก่นายกฯในขณะนั้น แต่วันนี้เงื่อนไขการเมืองและสังคมแตกต่างจากยุค 2501 อย่างมาก เพราะขณะนั้นเป็นยุคที่รัฐบาลทหารสามารถมีอำนาจได้มาก เนื่องจากเงื่อนไขของสงครามเย็น หรือสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ มหาอำนาจหรือรัฐบาลต่างประเทศอาจไม่จับตามอง ส่วนปัจจุบันที่รัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรา 44 ที่คล้ายกับมาตรา 17 ต่างประเทศไม่ได้อยู่ในสถานะแบบเดิมที่มองว่าภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์เป็นปัญหาหลักแล้วยอมหลับตาให้เรา มาตรา 44 จะยิ่งถูกจับตามองมากกว่าการใช้กฎอัยการศึก

- พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่า ปัจจุบันก็มีภัยความมั่นคงกับรัฐบาลและ คสช.อยู่ เป็นเหตุผลที่ฟังได้ไหม

ปัญหาความมั่นคงที่พูดกันอาจแบ่งเป็น 2 ระดับ คือปัญหาความมั่นคงในยุคจอมพลสฤษดิ์ที่สู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ หลายฝ่ายยอมรับว่านั่นคือภัยความมั่นคงในระดับที่เป็นตัวรัฐ แต่ปัจจุบันปัญหาความมั่นคงเป็นปัญหาของตัวรัฐบาลมากกว่าเป็นปัญหาตัวรัฐ ซึ่งเกิดจากเสียงคัดค้าน ถ้ายิ่งใช้มาตรา 44 ก็ยิ่งถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจพิเศษเพื่อลิดรอนเสรีภาพทางการเมือง มากยิ่งกว่ากฎอัยการศึก เป็นเสมือนหนีเสือปะจระเข้ อาจหนีเสือตัวใหญ่ไปปะกับจระเข้ตัวใหญ่กว่าเดิมเสียด้วย

- สถานการณ์ภัยความมั่นคงที่เกิดกับตัวรัฐบาล มีความสมเหตุสมผลพอที่จะใช้มาตรา 44 หรือไม่

ฝั่งรัฐบาลก็คงเข้าใจดีว่าเมื่อมีแรงกดดันให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ทางทหารก็ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องนั้น โดยเชื่อว่าเอากฎอัยการศึกออกไปแล้วใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ แต่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ มันก็มีมาตรา 44 ให้นายกฯใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในสภาพอย่างนี้สุดท้ายเป็นเหมือน (นิ่งคิด) กับดักใหญ่ เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลทหาร หรือตัวนายกฯใช้อำนาจนี้ มันก็เหมือนกับดักทางการเมืองที่ผูกโยงตัวนายกฯ เข้ากับการถูกจับตามอง หรือผูกโยงนายกฯ กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

- เมื่อกฎอัยการศึกใช้ไม่ได้ มาตรา 44 ยังถูกคัดค้านว่าไม่ควรใช้ ในสถานการณ์การเมืองที่แหลมคมแบบนี้ อาจารย์พอมีทางออกให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่

รัฐประหารในปี 2557 เมื่อเทียบกับปี 2549 คนที่มีอำนาจหลังปี 2557 ลำบากกว่า ส่วนหนึ่งในช่วงหลังสังคมไทยเปลี่ยนแปลงเยอะมาก รัฐประหารในยุคเก่า ๆ อาจจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบังคับคน ควบคุมระบบการเมือง คนรุ่นผมผ่านรัฐประหารมาตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ อาจมีความรู้สึกต่อการรัฐประหารในแบบหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตหลังจากปี 2535 โดยเฉพาะที่เป็นนักศึกษา วัยรุ่น ไม่เคยมีชีวิตที่ผ่านเงื่อนไขการรัฐประหารจริง ๆ ไม่เคยเห็นสภาพที่รัฐบาลทหารมีอำนาจควบคุมอย่างเข้มแข็ง ดังนั้นคนในยุคใหม่เชื่อว่ามีทรรศนะต่อการรัฐประหารที่ไม่รู้สึกกลัว ในทางกลับกันอาจรู้สึกว่าการรัฐประหารไม่จำเป็นเสียด้วย โดยสภาพแบบนี้ การรัฐประหารในปี 2557 เกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทยที่ใหม่ จะเห็นอย่างหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมของฝ่ายอนุรักษนิยม ทหารนิยมทั้งหลาย ถ้าเชื่อว่ารัฐประหารเป็นเครื่องมือในการควบคุมระบบการเมืองได้ ผมคิดว่ารัฐประหารในปี 2549 ให้คำตอบชัดว่า โลกการเมืองไทยปัจจุบันนั้นรัฐประหารควบคุมการเมืองไม่ได้

ขณะเดียวกันเรายังเริ่มเห็นแรงต่อต้านวันนี้ก็ต่างจากสมัยก่อน ๆ การต่อต้านรัฐประหารของคนรุ่นผมอาจอยู่ในรูปของการแจกใบปลิว ชักชวนคนให้เข้ามาร่วมชุมนุม แต่ในรูปปัจจุบันมันผ่านการสื่อสารสมัยใหม่ เช่น โซเชียลมีเดียทั้งหลาย กลายเป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าไปดูอาหรับสปริง เราเห็นค่อนข้างชัดกรณีอียิปต์ เครื่องมือในการโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารัก คือ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นั่นเป็นตัวอย่างคิดว่าวันนี้ทหารเผชิญกับการต่อต้านในรูปแบบที่ทหารไม่คุ้นเคย โลกออนไลน์ทำให้รัฐบาลทหารกลายเป็นตัวตลก เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลทหารกลายเป็นตัวตลก มันจึงโยงกับเรื่องคนไม่กลัว คนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สมควรได้รับการยอมรับ ในช่วงหลังจะเห็นว่ารัฐบาลทหารกลายเป็นตัวตลก ผู้นำทหารกลายเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อการล้อเลียน สิ่งที่เราเห็นชัดในโลกออนไลน์มันไม่ใช่การต่อสู้ หรือเรียกร้องประชาธิปไตยในแบบเดิม แต่อย่างน้อยบทเรียนจากอียิปต์อาจมองเห็นสังคมไทยในปัจจุบันที่ใกล้เคียงในอีกมุมหนึ่ง

- รัฐบาลทหารจะรับมือกับแรงกดดันของเครื่องมือใหม่ ๆ ได้หรือไม่

คิดว่าสังคมไทยวันนี้เป็นอะไรที่จับตาดู เรายังเดินไปไม่ถึงจุดเริ่มต้นของอาหรับสปริงแบบในอาหรับ หรือตูนิเซีย แต่อย่างน้อยวันนี้หลายปัจจัยที่เกิดกลายเป็นแรงกดดันสำหรับทหารอย่างมาก การยึดอำนาจครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคโลกสมัยใหม่ แรงกดดันที่รัฐบาลทหารเผชิญกำลังกลายเป็นแรงกดดันในรูปแบบใหม่ ๆ ที่รัฐบาลทหารในอดีตไม่เคยเผชิญ คิดว่ารัฐประหาร 2549 อยู่ในรูปแบบการกดดันแบบเก่า ๆ

- ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ใช้ มาตรา 44 มาแก้ปัญหาจะกลายเป็นการติดกับดักหรือไม่

ยิ่งหันกลับไปใช้มาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ใช้เมื่อไหร่ก็จะเป็นปัญหาเมื่อนั้น และอาจนำไปสู่การใช้มากขึ้น ยิ่งใช้มากขึ้นก็จะเป็นจุดที่เฝ้าจับตาว่า ทหารไทยกำลังเพิ่มความเบ็ดเสร็จมากขึ้น เมื่อนั้นจะกลายเป็นการขยายวงการต่อต้านที่มากขึ้น

- มาตรา 44 เป็นหลุมพรางอำนาจ

หลังยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ มาตราแบบนี้มีโอกาสใช้น้อย รัฐบาลหลังปี 2519 อาจมีมาตราพิเศษคือมาตราภัยสังคม แต่ยิ่งนานวันรัฐบาลหลัง ๆ จะไม่แตะ เพราะรู้ว่าข้อจำกัดมี รัฐบาลหลังปี 2549 ก็ไม่ได้ใช้ ในรอบนี้ผู้นำทหารอาจมีความรู้สึกว่าอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารวันนี้อยู่ในมือทหารและพยายามผลักดันให้ได้ แต่ในการผลักดันปฏิเสธไม่ได้ว่าจะเผชิญกับแรงต่อต้าน แล้วเมื่อไหร่ที่ใช้อำนาจนี้ไปจัดการกับแรงต่อต้าน มันจะพาไปสู่สภาพกับดักในตัวมันเอง

- พล.อ.ประยุทธ์ประเมินสถานการณ์แบบนี้ออกหรือไม่

ทหารเองไม่ใช่ไม่รู้ว่าสถานการณ์เกิดอะไรทั้งในประเทศไทยและรอบประเทศไทย แต่ปัญหาคือการหนีเสือปะจระเข้ของทหาร เพราะเมื่อรัฐบาลถูกกดดันให้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่เป็นหลักประกันอำนาจในทางกฎหมาย รัฐบาลอาจคิดว่าสละเรือลำเก่าแล้วไปขึ้นเรือลำใหม่ที่เป็นมาตรา 44 แต่ผมคิดว่าสภาพเรือลำใหม่เป็นเรือที่มีรูรั่วไม่ต่างกับกฎอัยการศึก หนีรูรั่วลำหนึ่งไปสู่รูรั่วอีกลำหนึ่ง จะสร้างปัญหาในอนาคตไม่ต่างกัน

- เป็นเพราะรัฐบาลหลังพิงฝาหรือไม่

ถ้าไม่อธิบายในบริบทหลังพิงฝา รัฐบาลชุดนี้เปรียบเทียบกับรัฐบาลหลังปี 2549 แรงกดดันสำหรับรัฐบาลครั้งนั้นน้อยกว่า โดยกรอบระยะเวลาอยู่ไม่นาน แต่หลังปี 2557 น่าเห็นใจที่ผู้นำทหารเผชิญกับแรงกดดัน และแรงกดดันมากขึ้น วันนี้การเมืองรอบ ๆ ประเทศไทยที่มองเราไม่บวกเท่าไหร่ เมื่อไม่บวกเท่าไหร่ รัฐบาลคงประคับประคองตัวด้วยการยกเลิกเครื่องมือที่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการ แล้วหันไปใช้เครื่องมือในรัฐธรรมนูญ แต่หลายคนมองว่าเครื่องมือในรัฐธรรมนูญเบ็ดเสร็จยิ่งกว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ คิดว่ารัฐบาลทำอย่างไรจะพูดให้ต่างประเทศเชื่อได้ว่าเป็นยาแรงน้อยกว่ากฎอัยการศึก เพราะทุกฝ่ายมองด้วยความเห็นที่เชื่อว่าไม่ต่างกันว่าเป็นยาแรงมากกว่ากฎอัยการศึก...

14 วิกฤตการเมืองไทย

ดร.สุรชาติได้สังเคราะห์ 14 วิกฤตที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เผชิญในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วย
1.วิกฤตรัฐธรรมนูญ 
2.วิกฤตพระ 
3.วิกฤตผู้นำ-วิกฤตการนำ 
4.วิกฤตสิทธิมนุษยชน 
5.วิกฤตความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร 
6.วิกฤตกองทัพ กรณีการโยกย้ายภายในกองทัพ 
7.วิกฤตศรัทธา ปัญหาคุณธรรมภายใน สนช. 
8.วิกฤตเศรษฐกิจ 
9.วิกฤตการต่างประเทศ 
10.วิกฤตตุลาการ กรณี 2 มาตรฐานในคำตัดสิน 
11.วิกฤตการปฏิรูปที่ไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน 
12.วิกฤตการจัดการภาครัฐ 
13.วิกฤตความแห้งแล้งในชนบท และ 
14.วิกฤตภาษี