วันจันทร์, เมษายน 06, 2558

ฝรั่งขนเงินหนีหุ้นไทย โกยปันผล7หมื่นล้าน ผวาการเมือง-ศก.



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2558

โบรกฯเตือนปลาย เม.ย.-พ.ค. ตลาดหุ้นผันผวนรุนแรงอีกรอบ จับตาหลัง บจ.จ่ายปันผล ผู้ถือหุ้นต่างชาติเตรียมขนเงินกลับกว่า 7 หมื่น ล. กดดัน "บาทอ่อน" สัญญาณสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ก.ย.นี้ฝรั่งเทขายหุ้นต่อ สภาธุรกิจตลาดทุนชี้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน "วูบหนัก" จากปัจจัยเสี่ยง "เศรษฐกิจ-การเมือง"

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 1 เม.ย. 2558 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิกว่า 10,660.16 ล้านบาท และหลังจากประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทำให้คาดหมายว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นจะดีขึ้น โดยวันที่ 2 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 762.48 ล้านบาท ด้วยมูลค่าซื้อขายรวม 43,331.25 ล้านบาท

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนประจำเดือนเมษายน 2558 ต่อดัชนีความเชื่อมั่นในอีก3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.-มิ.ย.) พบว่า ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 78.90 จากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 118.64 หรือลดลง 33.5% เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าทิศทางการซื้อขายในตลาดจะค่อนข้างซบเซา โดยปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนมากที่สุด คือ สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาก็คือ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล, สถานการณ์ต่างประเทศ และปัจจัยการเมือง

ผวาต่างชาติขนเงินปันผลออก

นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าแม้ในช่วงเดือน เม.ย. ภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกแต่สัญญาณความผันผวนรุนแรงของตลาดหุ้นไทย คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ เนื่องจากมีแรงกดดันจากปัจจัยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นบริษัทข้ามชาติ จะทยอยรับเงินปันผลตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค.ของทุกปี ซึ่งการนำเงินออกนอกประเทศจำนวนมากจะมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่า จึงเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนที่วิตกกังวลต่อการอ่อนค่าของเงินบาท เร่งขายหุ้นออกมาก่อนเพื่อล็อกกำไรบางส่วนไว้

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลของฝ่ายวิจัยของ บล.กสิกรไทยระบุว่า ในปีนี้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยประกาศจ่ายปันผลรวมกว่า 2.17 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินปันผลของผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะนำเงินปันผลออกนอกประเทศประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท จึงมีโอกาสที่จะกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ

ตปท.ชิงขายหุ้นหนี "บาทอ่อน"

นายกิจพลกล่าวว่า นอกจากนี้ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่คาดจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ยังถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเตรียมปรับพอร์ตลงทุนล่วงหน้าประมาณ 3-5 เดือน น่าจะเริ่มเห็นตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป จึงอาจส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้นอ่อนตัวลงอย่างมาก มีแนวโน้มที่ดัชนีจะปรับลดลง แต่ไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 1,440 จุด

"สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ยังคงมีทิศทางผันผวนรุนแรง แม้ช่วงเข้าสู่เดือน เม.ย. ดัชนีอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 1,540-1,560 จุด ถือว่าให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ จากปัจจัยหนุนของตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่น่าจะออกมาดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ แต่หลังจากช่วงปลายเดือน เม.ย.ถึงเดือน มิ.ย. คาดว่าภาพรวมตลาดหุ้นน่าจะออกแนวเป็นลบมากขึ้น" นายกิจพลกล่าว

นายกิจพลแนะนำว่า นักลงทุนควรฉวยโอกาสในช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในการปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ โดยการ "ขายหุ้น" ออกมาเพื่อ "ลดพอร์ต" การลงทุน และถือเงินสดมากขึ้น สัดส่วนประมาณ 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด จากเดิม 30% เพื่อรับมือกับความผันผวนข้างหน้าในช่วงปลายเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2558

ปัจจัยการเมืองกลับมาร้อนแรง

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ยังถูกกดดันจากปัจจัยการเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้า แม้ว่าจะมีการยกเลิกใช้กฎอัยการศึกและเปลี่ยนมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 อาจทำให้ดูภาพภาวะการเมืองมีโอกาสกลับมาร้อนแรงมากขึ้น

"อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อ Sentiment การลงทุน จึงต้องติดตามว่าการใช้มาตราดังกล่าวจะกระทบต่อภาคธุรกิจมากน้อยแค่ไหน" นายประกิตกล่าว

ส่วนทิศทางฟันด์โฟลว์หลังการยกเลิกกฎอัยการศึกมองว่า การที่จะดึงให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติกลับเข้ามาได้มากหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ปรากฏสัญญาณการไหลเข้ามาอย่างชัดเจน แต่ในทางตรงกันข้ามยังเห็นแรงขายสุทธิออกในวันที่ 1 เม.ย.กว่า 2.2 พันล้านบาท ซึ่งอาจเป็นเพราะจุดสนใจหลักของนักลงทุนมองข้ามไปดูที่สถานการณ์ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งแล้ว

ศก.ฟื้นช้า-กินบุญเก่าได้อีก 2 ปี

ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้าในช่วงที่ผ่านมา นายประกิตกล่าวว่า ยังอาจส่งผลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงไตรมาส 1/2558 ออกมาไม่ดีนัก ซึ่งกดดันให้นักวิเคราะห์ต้องปรับลดประมาณการลง และจะกดดันภาวะตลาดหุ้นไทยลดลงได้ จึงแนะนำให้นักลงทุน "ทยอยลด" พอร์ตการลงทุนลงเหลือ 30% และถือเงินสดราว 70% โดยคาดว่าดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,480- 1,530 จุด

ด้านนายกิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า ปัจจัยที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ในการบริหารประเทศ ไม่ได้เป็นปัจจัยบวกหรือลบต่อนักลงทุนต่างชาติที่จะเทขายหุ้นไทย แต่คิดว่าน่าจะเป็นผลจากที่ประเทศไทยเป็นคนป่วยของเอเชีย รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยจีดีพีปี 2557 ที่เติบโตเพียง 0.7% เป็นภาพสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ ถึงแม้ราคาน้ำมันลดลงมาก แต่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตอีก จนทำให้ภาคส่งออกดูมืดมน ซึ่งเวลานี้ก็หวังเพียงกลจักรของภาครัฐบาลที่จะใช้จ่ายช่วยเศรษฐกิจเท่านั้น

"ภายใต้โครงสร้างเศรษฐไทยปัจจุบันนี้ก็คิดว่าไปได้ เพราะกินบุญเก่าได้อีก 1-2 ปี แต่ในมุมนักลงทุน ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นหุ้นตัวหนึ่งของโลก ก็เรียกว่าพื้นฐานไม่ดี และอนาคตในระยะ 3-5 ปี ก็ไม่แน่ใจว่าจะดีหรือไม่ ซึ่งเทียบกับฟิลิปปินส์ที่น่าสนใจลงทุนกว่า ส่วนแรงขายต่างชาติคิดว่าคงเหลือไม่เยอะแล้ว เพราะ 2 ปีก่อนขายไปมาก ซึ่งช่วงนี้ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมองว่าระยะสั้นอยู่แถว 1,530-1,550 จุด ก็จะมีการปรับฐานอีกรอบ หากต่างชาติจะกลับมาซื้อหุ้นไทยอีก ก็คงต้องดูว่ามีสตอรี่อะไรที่กระตุ้นให้ต่างชาติหันมา" นายกิติชัยกล่าว

อุ๋ยเชื่อ ม.44 ดีกว่าอัยการศึก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนา SCB Investment Symposium 2015 ว่า การที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 น่าจะดีกว่ากฎอัยการศึก และทำให้การท่องเที่ยวของไทยค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น และน่าจะช่วยทดแทนการส่งออกที่ติดลบได้บ้าง ซึ่งปีนี้คาดว่าส่งออกไทยไม่ขยายตัว หรือโตแค่ 0% ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มองไปในระยะข้างหน้าเห็นคลื่นลูกใหญ่อาจก่อตัวในตลาดการเงินโลก คือ ความผันผวนจากทิศทางการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การคาดการณ์ของนักเศรษฐกิจศาสตร์ที่ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังปรับตัวเข้าหาจุดสมดุลหลังตกอยู่ในภาวะชะงักงัน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

"ความเสี่ยงจากความผันผวนในช่วงที่ตลาดเงินปรับตัวจะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทุกองคาพยพของเศรษฐกิจต้องเตรียมวางแผนและปรับตัวเพื่อป้องกันและรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ธปท.ก็มีหน้าที่สร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจให้กับนักลงทุน และเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมได้ทันท่วงที ภายใต้กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น" นายประสารกล่าว

นายประสารกล่าวถึงรัฐบาลใช้มาตรา 44 บริหารประเทศว่า คงส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนบางประเทศบ้าง เนื่องจากมาตรา 44 อำนาจจะผูกขาดกับตัวบุคคล ซึ่งจะไม่มีการคานอำนาจในส่วนของสถาบัน ซึ่งบางประเทศอาจไม่คุ้นเคยกับการบริหารประเทศแบบนี้ จึงควรอธิบายให้ต่างชาติเข้าใจถึงกรณีพิเศษและเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น และประเทศไทยกำลังพยายามที่จะดำเนินการเพื่อให้เข้าสู่ระบบที่มีรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยต้องอธิบายถึงกรอบเวลาให้ชัดเจนด้วย

(ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 6-8 เมษายน 2558)