วันอาทิตย์, เมษายน 12, 2558

อาเพสเหตุเกิดที่ มธ.




อาเพสเหตุเกิดที่ มธ.

กิจกรรม ‘ดำหัวผู้เฒ่า เยาวชนก็เช่นกัน’ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ซึ่งกำหนดจะทำกัน ณ ลานปรีดี ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีอันต้องติดกัก เนื่องจากประตูมหาวิทยาลัยถูกปิดล็อค มีป้ายเขียนบอกว่า “บุคคลภายนอกห้ามเข้า”



เนื่องจาก “ได้รับแจ้งจากหัวหน้ารปภ.ประตูท่าพระจันทร์ ว่าเป็นคำสั่งจากทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้งดใช้พื้นที่ในมหาลัยในการทำกิจกรรม พร้อมระบุด้วยว่ามีการกำชับมาจากทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่ากิจกรรมนี้มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง และกิจกรรมนี้ที่อ.ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) เป็นหัวขบวนนำในการจัดกิจกรรม ถือเป็นการใช้สิทธิ์ส่วนตัวของการเป็นอาจารย์ ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตจากทางมหาวิทยาลัย”

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1428732907)



ทั้งนี้ “คนที่ทำเรืองเล็กเป็นเรื่องใหญ่ ออกคำสั่งห้ามจัดงานสงกรานต์ธรรมศาสตร์ครั้งนี้ คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ชื่อเล่น ‘ใหญ่’) รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร

เขาเป็นอดีตผู้ช่วยหัวหน้าข่าวนสพ. อาซาฮีชิมบุน (朝日新聞) สมัยที่ โอว่า โอซามุ (大和 修) เป็นหัวหน้าสำนักงานประจำกทม. บนถนนชิดลม ‘นครินทร์’ ตอนนั้นตกข่าวหลายชิ้น เพราะทั้งวันเอาแต่นอนและเชลียร์เจ้านาย!!” Sa-nguan Khumrungroj



ขณะที่ทางเชียงใหม่ กิจกรรมแบบเดียวกันที่วัดอุโมงค์ นำโดย ศจ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ สามารถดำเนินไปได้ในสถานที่กำหนด

“ซึ่งนายนิธิกล่าวเปิดงานโดยกล่าวถึงประเด็นทางสังคมที่มีมายาวนานและเป็นปัญหาในสังคมไทยมาโดยตลอด จนกระทั่งผ่านมาหลายยุคและส่งต่อสู่คนหลายรุ่น ความขัดแย้งของคนกลุ่มต่างๆ ได้ทำให้อนาคตของสังคมไทยมืดมน จึงได้ขออโหสิกรรมและแสดงความเสียใจที่คนรุ่นของตนได้ส่งมอบมรดกอันมืดมนทางประชาธิปไตยให้กับคนรุ่นใหม่ต้องรับทอดต่อไป” บีบีซีไทย - BBC Thai

แต่ก็ไม่วายมีพระสงฆ์สามสี่รูปเข้าไปขอให้ยุติ

“ตลกขื่นๆ ของการแสดงออกของพระ (หรือนักวิชาการ) ที่อ้างว่า ‘ไม่เกี่ยวการเมือง’ อย่างกรณีที่พระมาขอให้ อ.นิธิ ยุติกิจกรรมรดน้ำดำหัวขอขมาเยาวชน อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นคุณค่าความเสมอภาค ประชาธิปไตย มันก็คือการที่พระกำลัง ‘เล่นการเมือง’ แบบหนึ่งนั่นเอง

เป็นการเมืองที่คัดค้านกิจกรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และเป็นการเมืองที่แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีไทยไปกันไม่ได้กับคุณค่าหรือวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เน้นความเสมอภาค ประชาธิปไตย” สุรพศ ทวีศักดิ์ (เครดิตภาพ Chetawan Thuaprakhon)




ทางด้านท่าพระจันทร์ มีการกล่าวถึงงานนี้กันขรม

Kasian Tejapira เขียนสำนวนเสนาะถึงเบอนาร์ด พ่อค้าถั่วคนเก่าแก่ของ มธ. ท่าพระจันทร์ ในวันที่ประตูปิดห้ามเข้า

เบอนาร์ด@ธรรมศาสตร์

หากธรรมศาสตร์อยู่ยั้ง ยืนยง
เบอนาร์ดก็อยู่คง ชีพด้วย
หากเบอนาร์ดยืนงง แบกถั่ว แกร่วเฮย
ธรรมศาสตร์อมกล้วย อดกลั้นกลืนขม

ส่วน Kasidit Ananthanathorn หนึ่งใน ‘ผู้น้อย’ ที่ได้รับเชิญชวนไปร่วมงานเขียนความเรียงขนาดสั้นสะท้อนความจริง สะเทิ้นอารมณ์

“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจากทางผู้จัดงาน ให้มากล่าวในฐานะของ 'เยาวชน' ในงานวันนี้

แม้ว่าเราจะไม่ อาจเข้าไปจัดกิจกรรมที่ลานปรีดี พนมยงค์ได้ แต่ที่ตรงนี้ก็มีความสำคัญไปไม่น้อยกว่ากัน เพราะนี่คือ ‘ถนน ๑๖ สิงหา’ ที่ระลึกของวันสันติภาพไทย ซึ่งจะครบ ๗๐ ปีในปีนี้

ครูดุษฎี พนมยงค์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีความภาคภูมิใจอย่างมากในงานสำคัญ ๒ ชิ้น คือ (๑) การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร และ

(๒) การรักษาเอกราชของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยขบวนการเสรีไทย

กล่าวได้ว่า งานชิ้นหลังของท่านสำเร็จผล ทำให้เรามีสันติภาพ เอกราชและอธิปไตยมาตราบเท่าทุกวันนี้ หากแต่งานชิ้นแรก คือ การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทย ยังหาสัมฤทธิ์ผลไม่

ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง 'ความรับผิดชอบของผู้ใหญ่' เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ว่า

"ผู้ใหญ่ทำปัญหาไว้ให้เยาวชนในรุ่นเขา ผู้ใหญ่เอะอะก็จะรบราฆ่าฟันกัน ทำสงครามกัน ผู้ใหญ่สร้างปัญหาทางสังคมไว้มาก ทำให้คนมั่งมีเกินไป คนจนเกินไป ... ผู้ใหญ่เคียดแค้นกัน แต่พวกเขาให้เยาวชนรักกัน และผู้ใหญ่พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง เยาวชนจึงหมดที่พึ่ง เสื่อมศรัทธาสิ้นนับถือ"

ความขัดแย้งในทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ฮีโร่ในเหตุการณ์เดือนตุลาหลายคนกลายเป็นตัวตลก ทำให้หนังสือที่เขียนไว้ในอดีตของนักวิชาการผู้ทรงภูมิกลับย้อนแย้งมาเป็นเครื่องประจานความโกหกตอแหลของตนเอง ทำให้ความผิดปกติกลายเป็นความปกติ และทำให้เยาวชน ‘เสื่อมศรัทธาสิ้นนับถือ’ กับผู้ใหญ่หลายๆ คน อย่างน้อยๆ ก็เพราะ ‘ผู้ใหญ่เคียดแค้นกัน แต่พวกเขาให้เยาวชนรักกัน และผู้ใหญ่พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง’

น่าเสียดาย ที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่รู้สึกผิดปกติหรือละอายกับสิ่งที่ตนกระทำอยู่ กลับมีแต่ผู้ใหญ่ที่ทำงานสานต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้

เมื่อผู้จัดเชิญให้ผมมาเป็นตัวแทน ‘เยาวชนกล่าวอโหสิ’ จึงขออโหสิกรรมให้ผู้ใหญ่เหล่านั้นที่ไม่ได้มาร่วมงานด้วย

กษิดิศ อนันทนาธร
(แก้ไขปรับปรุงจากการพูดสดๆ หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝั่งท่าพระจันทร์ ริม ‘ถนน ๑๖ สิงหา’)

และอีกรายที่ไม่อาจละเลยเนื้อถ้อยโดย สศจ. เสียได้ Somsak Jeamteerasakul คน มธ.ที่เพิ่งถูกกีดกั้นออกไปจากพื้นที่ เขียนถึงเหตุอาเพสไว้สะใจ สะท้านตำนาน

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ บางครั้งปิดประตูช่วงวันหยุดยาวจริง แต่ไม่เคยปิดตาย คือ เปิดประตูเล็กให้ใครก็ได้เดินเข้าออกตามปกติ ไม่มีการตรวจบัตรหรือบังคับว่าต้องเป็นบุคคลากรมหาลัยแต่อย่างใด - ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็เพราะตอนนี้ผู้บริหารมหาลัยเป็นพวกไม่มีกระดูกสันหลังและลิ้นยาว (ไม่มีกระดูกสันหลัง เลยคอยหมอบคลานเข้าหา ลิ้นยาวคือไว้เลียท็อปบู๊ตทหาร) ครับ”