วันเสาร์, เมษายน 04, 2558

มาตรฐานปลอดภัยการบิน ไทยต่ำกว่าเขมร–ลาว–พม่า


The No Country Left Behind (NCLB) campaign highlights ICAO’s efforts to assist States in implementing ICAO Standards and Recommended Practices (SARPs).

ที่มาเรื่อง ไทยรัฐออนไลน์
3 เม.ย. 2558

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ กว่า 760 เที่ยวบิน จาก 3 สายการบินในไทย ถูก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สั่งห้ามบินเข้าประเทศ เพราะไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยการบิน จากการออกใบอนุญาตชุ่ยๆของ กรมการบินพลเรือน ที่ไม่ถูกต้องตามกฎมาตรฐานความปลอดภัยสากลของ ICAO องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

และที่ กรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม ทำให้ประเทศไทย อับอายขายขี้หน้าไปทั่วโลกก็คือ มาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินของไทยต่ำกว่า เขมร ลาว พม่า แบบไม่เห็นฝุ่น ถือเป็นการบ่อนทำลายมาตรฐานประเทศไทยอย่างยับเยิน

ผลการตรวจสอบ มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของ ICAO ใน กลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า สิงคโปร์ มีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง 98.9% เกือบเต็ม 100 รองมา มาเลเซีย ได้ 81% แม้จะมีเครื่องบินตกทะเล เครื่องบินถูกยิง เครื่องบินหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนถึงวันนี้ก็ยังหาซากไม่พบก็ตาม บรูไน พม่า ลาว ก็ยังสอบผ่าน ได้มาตรฐานความปลอดภัยถึง 65% ที่สอบตกมีเพียง 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ได้ 54.1% กัมพูชา ได้ 40.2% และ ประเทศไทย บ๊วยสุดได้เพียง 35.6% อธิบดีอยู่ได้ยังไง

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีคมนาคม เปิดเผยด้วยตัวเองว่า ไอซีเอโอได้เตือนไทยมาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ กระทรวงคมนาคม และ กรมการบินพลเรือน ก็เฉยไม่มีใครสนใจ ยังตะบี้ตะบันออกใบอนุญาตสายการบินเพิ่มอีกถึง 42 สายการบิน แล้วก็อ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่พอ มีแค่ 11 คน มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เลยไม่มีเวลาตรวจสอบ

แต่ก็หลับหูหลับตาออกใบอนุญาตไปอีก 40 กว่าสายการบิน ผมคิดว่าเรื่องนี้ รัฐบาลไม่ควรปล่อยเลยตามเลย แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะใช้ อำนาจ ม.44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว

สั่งลัดขั้นตอนแก้ไขปัญหาทุกอย่างภายใน 1 เดือน แต่ ป.ป.ช. ก็ควรจะต้องไปตรวจสอบย้อนหลังทั้ง รัฐมนตรี และ อธิบดีกรมการบินพลเรือนทุกคน มีการ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือ มีการทุจริตคอร์รัปชันออกใบอนุญาตการบินหรือไม่ ทำไมจึงปล่อยปละละเลยขนาดนี้มานานถึง 10 ปี ทั้งๆที่ ICAO มีหนังสือเตือน ก็ยังฝืนออกใบอนุญาตเพิ่มอีกกว่า 40 สายการบิน

เครื่องบินที่นำมาบิน เท่าที่เคยเห็น เป็นเครื่องบินรุ่นเก่าโกโรโกโส อายุหลายสิบปี สายการบินอื่นเขาปลดระวางแล้ว แต่เช่ามาบินในราคาถูก และขายตั๋วถูกจนน่าแปลกใจ แล้วเอาชีวิตผู้โดยสารไปเสี่ยง ก็สมควรแล้วที่จะถูกต่างชาติแบน

วันนี้ องค์กรการบินพลเรือนญี่ปุ่น มีหนังสือแจ้งเป็นทางการไปยัง กรมการบินพลเรือนไทย แล้วว่า ได้รับแจ้งจาก ICAO ว่า กรมการบินพลเรือนไทยมีความบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย จึงให้ระงับการเพิ่มหรือเปิดเส้นทางบินใหม่ เปลี่ยนแปลงเส้นทางบินหรือเปลี่ยนขนาดเครื่องบิน นับจากวันที่ 24 มีนาคมเป็นต้นไป

เกาหลีใต้ และ จีน แม้จะยังไม่ได้แจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่องค์กรการบินพลเรือนเกาหลีใต้และจีน ก็ไม่อนุญาตให้สายการบินจากไทย เพิ่มเที่ยวบิน เปิดเส้นทางบินใหม่ ทั้งแบบเช่าเหมาลำและแบบบินประจำแค่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สามประเทศที่แบนสายการบินจากไทย เพราะไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ก็ส่งผลต่อเที่ยวบินของ 3 สายการบินของไทย ถูกยกเลิกกว่า 760 เที่ยวบิน ผู้โดยสารได้รับผลกระทบกว่า 150,000 คน (คิดเที่ยวบินละ 200 คน)

เช่น ญี่ปุ่น แบน 3 สายการบิน ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไม่ได้รับอนุญาตให้บินไปฮอกไกโดตลอดฤดูตั้งแต่มีนาคมถึงกันยายนราว 100 เที่ยวบิน นกสกู๊ต และ เอเชีย แอตแลนติค (เพิ่งเคยได้ยินชื่อ) ไม่อนุญาตบินช่วงเมษายน 27 เที่ยวบิน เกาหลีใต้ แบน 2 สายการบิน คือ นกสกู๊ต และ เอเชีย แอตแลนติค 35 เที่ยวบิน ส่วน จีน แบน 3 สายการบินราว 300 เที่ยวบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย, โอเรียนท์ไทย และ สกายวิว แอร์เวย์ (เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกัน)

ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากความชุ่ยของ กรมการบินพลเรือน ทั้งนี้ น่าจะมี “ผู้โดยสาร” และ “สายการบิน” ที่ได้รับความเสียหาย ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายให้เข็ดกันเสียบ้าง ไม่ควรปล่อยให้ลอยนวล ที่สำคัญ ป.ป.ช. ไม่ควรนิ่งเฉยรอใครไปแจ้งความ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

ooo

ล่าสุด

MOU แห้ว เจแคปยังไม่อนุมัติเครื่องบินเช่าเหมาลำไทยเข้าญี่ปุ่น


กรมการบินพลเรือน ยังไม่สามารถลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมการบินเรือนของประเทศญี่ปุ่นหรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ตามที่กำหนดไว้ได้ โดยต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดของร่าง MOU ร่วมกัน รายละเอียดเป็นอย่างไรไปติดตามกับ วุฒินันท์ นาฮิม ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีทีเกาะติดกับเรื่องนี้กัน