วันอังคาร, พฤษภาคม 12, 2558

"ความเป็นพลเมืองจึงถูกสงวนไว้สำหรับเสรีชนจำนวนน้อยเท่านั้น"


(คัดมาจากบทความโดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เรื่อง 'สำนึกพลเมืองของชนชั้นนำไทย' ตีพิมพ์ครั้งแรกที่
โลกวันนี้วันสุข ฉบับ ๕๑๓ วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘)


ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ประชาชังร่างแรกที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ ก็คือ เรื่อง ความเป็นพลเมืองซึ่งถูกใส่เข้ามาเป็นครั้งแรก โดยการเติมเข้าไปในหมวดที่ ๒ มาตรา ๒๖ มีข้อความว่า ประชาชนชาวไทยย่อมมีฐานะเป็นพลเมือง

จากนั้นก็เติมเรื่องหน้าที่ของพลเมืองเข้าไปในมาตรา ๒๗ เติมเรื่องสิทธิพลเมืองอีก ๑ หมวด ตั้งแต่มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๖๔ โดยแยกสิทธิพลเมืองออกจากสิทธิมนุษยชน และยังมีมาตราอื่นที่แทรกเรื่องพลเมืองไว้อีกหลายมาตรา

และยิ่งกว่านั้นก็คือ การกำหนดให้มีการตั้ง สมัชชาพลเมือง’ (มาตรา ๒๑๕) ที่ยังมีขอบข่ายอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจน แล้วยังให้มีการจัดตั้ง สภาตรวจสอบภาคพลเมืองให้มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัดในการตรวจสอบ การกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัด’ (มาตรา ๗๑)

กล่าวโดยสรุปแล้ว ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ได้ประกาศใช้ เรื่อง ความเป็นพลเมืองจะเป็นเรื่องใหญ่ประการหนึ่ง ที่ส่งผลต่อการเมืองไทยต่อไป

แต่ปัญหาที่ยังไม่ชัดเจนคือ อะไรคือความเป็นพลเมือง และมีความแตกต่างอย่างไรกับความเป็น ราษฎรหรือความเป็น ประชาชนตามที่เคยใช้กันมา

ซึ่งในเรื่องนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงโดยย้อนไปถึงอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัยว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงพูดถึงประชาชนว่าเป็น ไพร่ฟ้าหน้าใสสังคมไทยจึงมี ไพร่ฟ้าคู่กับ เจ้าฟ้าเสมอมา จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ คณะราษฎรที่ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลง ไพร่ฟ้ามาเป็น ราษฎรแต่ราษฎรนั้นหมายถึง คนที่ตามคนอื่นโดยผู้ปกครองจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งและบังคับบัญชา ราษฎรเป็นผู้ทำตาม นักการเมืองจึงชอบ เพราะราษฎร สั่ง บังคับ และ บัญชาได้และชี้แจงต่อไปว่า ประชาธิปไตยที่บอกว่าเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชน จึงเป็นแค่นาทีเดียวตอนหย่อนบัตรแล้วต้องรออีก ๔ ปี นี่คือความเป็นราษฎร

ดังนั้น นายบวรศักดิ์จึงย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องกล่าวถึงการยกระดับ ราษฎรให้เป็น พลเมืองเพื่อให้ พลเมืองเป็นใหญ่โดยขยายความว่า ความเป็นพลเมืองไม่ได้ผุดขึ้นทันที มันต้องสร้าง จึงต้องกำหนดว่า รัฐต้องมีหน้าที่ปลูกฝังความเป็นพลเมืองแก่ประชาชน โดยจัดให้มีการศึกษาอบรมในทุกระดับ ทุกประเภท และทุกกลุ่มอายุ เพื่อสร้างความเป็นพลเมือง การปฏิรูปการศึกษาที่จะมีขึ้น ต้องสอดคล้องกับการปลูกฝังความเป็นพลเมือง

และจากการดำเนินงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการชี้ว่า ไม่ใช่ว่าประชาชนทุกคนจะเป็นพลเมืองได้ แต่การเป็นพลเมืองจะต้องมี ความสำนึกพลเมืองคือ ต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง สังคม และเคารพกฎหมาย เสียภาษีให้ชาติและท้องถิ่น รับฟังคนอื่น เป็นสำนึกรับผิดชอบส่วนตัว พร้อมกับมีจิตสาธารณะติดตามการทำงานการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติและด้วยความเป็นพลเมืองในลักษณะนี้ ก็จะนำมาซึ่งการควบคุมและตรวจสอบนักการเมือง การตั้งสมัชชาพลเมืองจึงมีความหมายเช่นนี้ และจะนำไปสู่การตั้ง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเพื่อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป

ก่อนอื่น คงต้องทำความเข้าใจว่า แนวคิดดั้งเดิมของความเป็นพลเมืองในโลกตะวันตก เริ่มตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน ซึ่งถือความเป็นพลเมือง (citizenship) เป็นสิทธิพิเศษ เพราะทาส สตรี และ คนต่างด้าวจะไม่ได้สิทธิความเป็นพลเมือง  

ความเป็นพลเมืองจึงถูกสงวนไว้สำหรับเสรีชนจำนวนน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุโรปเข้าสู่สมัยใหม่ สิทธิพลเมืองได้พัฒนามาเป็นสิทธิของประชาชน หรือเป็นสถานภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองในทางกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น ความเป็นพลเมืองโดยรวมจึงไม่ถือว่ามีความแตกต่างอย่างใดกับความเป็นประชาชน

ในกรณีของไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อมีการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ สิทธิของราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกก็คือสิทธิพลเมือง ที่กำหนดให้ราษฎรมีสิทธิทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภา และต่อมาเมื่อระบอบประชาธิปไตยพัฒนาสมบูรณ์มากขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นอย่างน้อย สิทธิของประชาชนก็ชัดเจนมากขึ้น โดยการเลือกพรรคการเมืองที่นโยบายที่น่าสนใจด้วยเสียงมากที่สุด เพื่อไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ และสิทธิของประชาชนก็ดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้จนถึงเมื่อเกิดการรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ ได้นำมาซึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญ และการละเมิดสิทธิของประชาชน โดยตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารที่ไม่มีการยึดโยงกับสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ คณะรัฐประหารยังได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลยเช่นกัน

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดของนายบวรศักดิ์ จึงเป็นคณะกรรมการที่ละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมา ก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญอันพิกลพิการไร้สาระ ผลาญเงินภาษีอากรของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์

และข้อเสนอเรื่อง ความเป็นพลเมืองนี้เอง เป็นประจักษ์พยานแห่งความเหลวไหลเช่นนี้

ทั้งนี้คงจะต้องเข้าใจว่า ในระบบประชาธิปไตยทั่วโลก การที่ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองไหน ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชน เช่นในสหรัฐฯ ไม่ว่าประชาชนจะเลือกพรรครีพับลิกัน หรือพรรคเดโมแครต ก็ถือว่าเป็นสิทธิ และไม่เคยถือว่าเป็น ประชาธิปไตยนาทีเดียวแต่อย่างใด เพราะประชาชนย่อมเห็นว่าการเลือกพรรคนั้นจะให้ประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนได้ดีกว่าใน ๔ ปีข้างหน้า

การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทย-เพื่อไทยด้วยคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก ก็เพราะเห็นว่าพรรคไทยรักไทย-เพื่อไทยเสนอนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมกว่าพรรคอื่น และประชาชนเห็นว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคนี้ แต่การเลือกของประชาชนไม่ต้องใจชนชั้นนำ

ดังนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างชุดนี้จึงถือไปเสียว่า การที่ประชาชนพากันไปเลือกพรรคเพื่อไทยด้วยคะแนนเสียงจำนวนมาก หมายถึงว่าประชาชนไม่มีคุณภาพ ไม่ยอมเลือก คนดีแต่กลับเลือกเพราะไปตามนักการเมือง (ชั่ว) จึงต้องยกระดับประชาชนไปสู่ความเป็นพลเมือง โดยมีสมมตฐานว่า ถ้าประชาชนไทยเป็น พลเมืองแล้ว จะไปตรวจสอบข้างเดียวสำหรับนักการเมืองพรรคเพื่อไทยและกลุ่มอื่นนอกเหนือจากพรรคประชาธิปัตย์

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้เป็นการเกินจริง เพราะจะเห็นได้ว่าการตรวจสอบทางการเมืองที่มีขึ้นในระยะ ๘ ปีที่ผ่านมา คือการยกเว้นไม่ตรวจสอบพรรคประชาธิปัตย์เสมอ การตั้งสมัชชาพลเมืองหรือสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จึงมิได้มีขึ้นเพื่อจัดการกับพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด

สรุปแล้ว ถ้าจะเสนอให้ยกระดับเรื่องความเป็นพลเมือง ควรยกระดับชนชั้นนำมากกว่าประชาชน โดยการยกระดับให้ชนชั้นนำไทยมีจิตใจประชาธิปไตย ใจกว้าง เคารพเสียงข้างมาก ให้ยอมรับการแก้ปัญหาการเมืองกันตามระบบตามกติกา ไม่ใช้วิธีนำรถถังมาก่อรัฐประหาร ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่กวาดล้างจับกุมประชาชน

ถ้าชนชั้นนำไทยยกระดับจิตใจไปสู่ความเป็นพลเมืองเช่นนี้ ประเทศไทยก็จะมีระบบการเมืองประชาธิปไตยอันยั่งยืนเช่นอารยะประเทศ ไม่มีระบบอันล้มลุกคลุกคลานเพราะการรัฐประหารอีกต่อไป