วันอาทิตย์, พฤษภาคม 17, 2558

จากหนี้ภาคครัวเรือนสู่ภาวะรัฐไร้เงิน ปัญหาโลกแตกของ คสช.





BY BOURNE
ON MAY 13, 2015
เวป Ispace Thailand

ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่รัฐบาล คสช. ต้องเผชิญอย่างหนักหน่วงที่สุด มากกว่าปัญหาทางการเมือง หรือปัญหาอื่นใดในประเทศนี้ เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อปากท้องของประชาชนมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการว่างงานของแรงงานไทยที่ในเดือนเมษายน 2558 มีจำนวนสูงถึง 3.78 แสนคน โดยเป็นเหตุจากการปรับลดพนักงาน 39.31% นายจ้างปิดกิจการอีก 36.12%





นอกเหนือจากปัญหาแรงงานแล้ว ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญไม่แพ้ปัญหาแรงงาน ปัญหาด้านการลงทุน และการส่งออกแล้ว ก็คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตามข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 10.22 ล้านล้านบาท (84.2% ต่อจีดีพี) เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 9.79 ล้านล้านบาท (82.3% ต่อจีดีพี) ขณะที่ตัวเลขของไตรมาส 4 ปี 2557 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 85% ต่อจีพีดี และมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขของหนี้ภาคครัวเรือนในปี 2558 จะพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 87-88% ต่อจีดีพี





จากตารางจะเห็นว่าแม้แต่ปีที่มีนโยบายรถยนต์คันแรกที่หลายฝ่ายโทษว่าเป็นนโยบายที่สร้างหนี้สินให้กับประชาชนในช่วงปี 2555 นั้นก็ยังไม่ทำให้อัตราของหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นขนาดนี้ ไม่เพียงตัวเลขของหนี้ภาคครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจแล้ว การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 30.4% คิดเป็นมูลค่า 14,238 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีสำหรับภาครายได้ของประชาชน เนื่องจากเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลงอย่างมาก




ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รายงานยอดการให้บริการบัตรเครดิตทั้งระบบในไตรมาสแรกของปีนี้เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีมูลค่าลดลงต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจ ยอดคงค้างหนี้ที่สูงขึ้น และการระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.58) ลดลง 45,328 ล้านบาท หรือลดลง 10.2% โดยมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 398,889 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ของปี 57 (ต.ค.-ธ.ค.57) มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 444,217 ล้านบาท โดยเป็นการลดลงของการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก




ทั้งนี้ ไตรมาสแรกมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในประเทศ 326,360 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 45,302 ล้านบาท หรือลดลง 12.18% เช่นเดียวกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในต่างประเทศ ลดลง 1,731 ล้านบาท หรือลดลง 6.44% ส่วนยอดค้างจ่ายหนี้บัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 25.3% คิดเป็นมูลค่า 8,316 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของประชาชนก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องรายได้ของประชาชนไทยที่ลดลงอย่างชัดเจน และความสามารถในการชำระหนี้สินก็ลดลงอย่างมาก




นอกจากปัญหาเรื่องรายได้และหนี้สินของภาคประชาชนแล้ว ภาครัฐเองก็กำลังประสบปัญหาเรื่องเงินงบประมาณและการหาแหล่งเงินกู้เช่นกัน โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทางประกอบด้วย สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท สายบางใหญ่บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 55,600 ล้านบาท และสายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงินลงทุน 14,000 ล้านบาท ยังไม่สามารถเสนอให้ ครม.ได้ เนื่องจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด หลังกระทรวงการคลังไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้ได้





นี่คือหลักฐานสำคัญว่าเศรษฐกิจของไทยทั้งภาครัฐและภาคประชาชนกำลังประสบปัญหาเรื่องรายได้ และความน่าเชื่อถือ แน่นอนว่าเมื่อประชาชนมีรายได้ลดลง รัฐเองก็ย่อมเก็บภาษีได้น้อยลงเช่นกัน งบประมาณของรัฐย่อมได้รับผลกระทบ โครงการเมกะโปรเจ็กอย่าง การพัฒนาระบบคมนาคม เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือที่เรียกว่าโครงการประชานิยมย่อมเกิดปัญหา เพราะแม้แต่รัฐบาลเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผู้คิดนโยบายดังกล่าว ยังจำเป็นต้องวางแผนเรื่องการหาแหล่งเงินทุนเพื่อจัดทำโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ รัฐบาลทหารที่ถูกต่างชาติคว่ำบาตรย่อมต้องประสบปัญหาเรื่องแหล่งเงินกู้อย่างแน่นอน




กล่าวมาทั้งหมดคือภาพรวมปัญหาเศรษฐกิจไทยในส่วนของรายได้ประชาชน รายได้ภาครัฐ ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งมีผลอย่างมากในเรื่องของความน่าเชื่อถือของประเทศ แน่นอนว่าหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยต้องเสียหายมากขึ้นจากหนี้สินของภาคประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมอัตราการผิดนัดชำระที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวจากรายได้ที่ลดลงของประชาชน ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการว่างงานและผู้ไม่มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น




น่าสนใจว่ารัฐบาล คสช. จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะปากท้องของประชาชนคือระเบิดเวลาที่สำคัญยิ่งกว่าปัญหาการเมือง การสร้างความปรองดอง หรือ การร่างรัฐธรรมนูญ!!!