วันจันทร์, พฤษภาคม 18, 2558

คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับโรงพยาบาลเอกชนที่คิดค่ารักษาพยาบาลจนคุณจ่ายไม่ไหว?




คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับโรงพยาบาลเอกชนที่คิดค่ารักษาพยาบาลจนคุณจ่ายไม่ไหว?

ปีที่แล้วพ่อผมเสียชีวิต นอนอยู่โรงพยาบาลหนึ่งอาทิตย์ ผมจ่ายค่ารักษาพยาบาลล้านกว่าบาท บางคนคงบอกว่า ผมมีตังค์จะมาบ่นทำไม?

แต่เรื่องนี้ใครจะรู้ อาจเกิดขึ้นกับตัวคุณหรือคนที่คุณรักก็ได้

ต้นตอของค่ารักษาพยาบาลโอเวอร์จนคุณแทบอยากจะลาตาย คือ

1. “ระบบผูกขาด" โรงพยาบาลเอกชนทุกวันนี้ กลายเป็นธุรกิจผูกขาดเหมือนร้านสะดวกซื้อ หมอเจ้าของสายการบินใช้เงินในตลาดหลักทรัพย์ กลืนโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาอยู่ในเครือเดียวกัน ทำให้ยากที่จะเกิดการแข่งขัน เมื่อไม่เกิดการแข่งขัน ไม่มีทางเลือก ก็ขึ้นราคาได้ตามใจชอบ

2. “ระบบประกันสังคม" ผูกขาเราไว้กับโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลรัฐมีไม่เพียงพอ เมื่อไปโรงพยาบาลเอกชนก็แบ่งตึก แบ่งยา แบ่งหมอ ระหว่างผู้เอาประกันกับคนที่จ่ายเงินเต็ม โรงพยาบาลที่ไหนอยากจะได้ผู้ป่วยประกันสังคม เพราะรัฐจ่ายผลตอบแทนต่อหัวน้อยมาก

3. “ระบบแพทย์" อาชีพหมอกลายเป็นธุรกิจ กว่าจะจบหมอมามันยากลำบาก ทั้งสอบเข้า ทั้งเรียน ทั้งค่าใช้จ่าย เมื่อจบออกมาจึงเก็บอุดมการณ์หมอไว้ในลิ้นชัก ขอหาเงินก่อน

4. “ระบบประกันชีวิต" บริษัทประกันและโรงพยาบาลเอกชน ร่วมมือกันกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลกับเงื่อนไขและเบี้ยประกัน จนกระทั่งทำให้คนธรรมดาไม่มีทางเลือก เมื่อไม่มีประกันก็ต้องจ่ายราคาเต็มที่แพงหูฉี่

5. “ระบบรัฐ" ไม่เคยช่วยเหลือประชาชน แต่กลับซ้ำเติม ไม่รู้ว่า "แพทยสภา" มีไว้ทำอะไร? กระทรวงสาธารณสุขและกรมการค้าภายใน บอกไม่มีกฎหมายควบคุมค่ารักษาพยาบาล คนเข้าโรงพยาบาลก็ตัวใครตัวมัน

เมื่อโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอ กว่าจะได้เตียงก็ต้องนอนอยู่ข้างทางเดินจนไม่รู้อนาคต ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็หวานหมู ยืนกอดอกรอเหยื่อรายต่อไป

ถามจริงๆว่า ถ้าเป็นคนในครอบครัว เมื่อไม่มีทางเลือก ก็ต้องยอมจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเอกชนที่ราคาแพงหูฉี่ใช่หรือไม่?

หากรัฐบาลอยากจะแสดงผลงานให้ประชาชนเขาชื่นชมยกย่อง นอกจากจะคิดขายล็อตเตอรี่ 80 บาทขาดตัว และโยกย้ายข้าราชการปราบปรามคอรัปชั่น ควรจะใช้ ม.44 ควบคุมค่ารักษาพยาบาลของ “นายทุนเข็มฉีดยาหน้าเลือด” ตามโรงพยาบาลเอกชนด้วย

ประชาชนคนไทยเขาจะร้อง “อนุโมทนาสาธุ” อยากอยู่กี่ปีก็อยู่ไปเถอะ อยู่ตลอดชาติก็ยังได้

ชูวิทย์ I'm No.5