วันอาทิตย์, พฤษภาคม 10, 2558

เปิดเว็บประชามติ NGOs นักวิชาการ นักการเมือง กมธ.ยกร่างฯ ย้ำอนาคต ปชช.ต้องเป็นผู้ตัดสิน




ที่มา ประชาไท
Sat, 2015-05-09

เปิดที่มาเว็บไซต์ประชามติ หลากความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ แต่มุ่งสู่จุดร่วมเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนด และตัดสิน

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2558 เวลา 15.30 น. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักข่าวไทยพับลิก้า ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดงานเปิดตัวเว็บไซต์www.prachamati.org ที่ร้านบราวน์ชูการ์ เดอะ แจ๊ส บูทีค ใกล้แยกผ่านฟ้า ถ.พระสุเมรุ โดยภายในงานมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย อาทิ นักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม (NGOs) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสื่อมวลชน

ที่มาของเว็บไซต์ประชามติ พื้นที่แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ภายในงานเริ่มต้นด้วยการเปิดเวทีให้ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ประชามติ ได้เล่าถึงที่มาในการก่อตั้งเว็บไซต์นี้ขึ้น โดยจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw และผู้ผลักดันคนสำคัญที่ทำให้เกิดเว็บไชต์ประชามติ กล่าวว่า เบื้องหลังความเป็นมาของเว็บไซต์นี้มาจากความคิดที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ประชามีพื้นที่อิสระที่จะแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลกระทบระยะยาวต่อประชาชน และที่สำคัญคือในเรื่องของการแก้ไขถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยาก การที่จะให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าจะผ่าน หรือไม่ผ่านมีความสำคัญ

“เว็บไซต์ประชามติ จริงๆ แล้วเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่า ถ้าเขาไม่ทำประชามติ อย่างน้อยเราจะทำประชามติในเว็บไซต์นี้...เราต้องการฟังความเห็นของประชาชนว่าควรจะมีการทำประชามติหรือไม่ คำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่ง่าย หลายๆ ฝ่ายขณะนี้บอกว่าควรทำประชามติ แต่การทำประชามติมันก็ขึ้นอยู่กับว่าทำในเงื่อนไขอะไรบ้าง ที่ผมเห็นมีทั้งคนสนับสนุนและคนค้านจากทั้งสองซีกของการเมืองสี เราก็เลยเปิดเว็บนี้เป็นพื้นที่ให้แสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย” จอน กล่าว

จอนกล่าวต่อว่า ในเว็บไซต์ประชามติจะมีการหยิบเอาประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญมาให้ประชาชนโหวตว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นนั้นๆ แต่ก็คิดว่าตอนนี้หลายคนอาจจะยังไม่มั่นใจที่จะเข้าไปโหวตเพราะว่า การโหวตนั้นต้องแสดงตัว โดยต้องล็อคอินผ่านเฟซบุ๊ก ถ้าไม่แสดงตัวมันก็กลายเป็นโหวตที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ว่าเราได้ออกแบบซอฟต์แวร์ ที่ไม่สามารถที่จะตามได้ว่าใครโหวตอย่างไร ซอฟต์แวร์จะทำหน้าที่เพียงแค่บันทึกว่า ใครโหวตแล้วบ้าง

“ผมอยากจะเชิญชวนให้คนเข้ามาโหวตในเว็บนี้ คนยิ่งเข้ามามากเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังเท่านั้น” จอน กล่าว

ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว ไทยพับลิก้า กล่าวว่า หากมองในมุมของสื่อออนไลน์ การทำเว็บไซต์ประชามติ เป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะปรับวิธีคิดของการทำข่าวของนักข่าวเองให้เป็นเนื้อเดียวกันกับโลกออนไลน์มากขึ้น อย่างเว็บไซต์ ไทยพับลิก้า แม้จะก่อตั้งมาระยะหนึ่งแล้ว ก็ยังมีความเป็นหนังสือพิมพ์บนเว็บไซต์อยู่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าจริงๆ โลกออนไลน์มันเปิดให้คิดประเด็นข่าวได้มากมายหลากหลายกว่าแค่ว่าเขียนขึ้น เป็นชิ้นข่าว มันไม่ใช่เพียงตอบโจทย์ประชาชนอย่างเดียว แต่มันเป็นการช่วยยกระดับของนักข่าวเองด้วย ให้มองเห็นประเด็นต่างๆ และได้ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“โลกออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตทุกวันนี้ไปแล้ว ตื่นมาเปิดไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เวลาคนจะคุยอะไรก็แล้วแต่ ทั้งการเมือง ไม่การเมือง มันก็อยู่ในโลกออนไลน์อยู่แล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นใหญ่ แล้วก็กระทบกับทุกคนโดยธรรมชาติ ตามปกติเราก็แสดงออกในพื้นที่ของแต่ละคน แต่ถ้าปล่อยให้แสดงออกเป็นธรรมชาติ ก็จะไม่เห็นการรวบรวมความคิดเห็นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ พลังมันก็จะไม่เกิด แล้วพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการรวบรวมความเห็นของคนจำนวนมากก็คือพื้นที่ ออนไลน์ ถ้าย้อนไปสัก 10 ปีก่อน เราอาจไม่มีพื้นที่ขนาดนี้มาให้แสดงความคิดเห็น จึงเป็นที่มาของเว็บไซต์ประชามติ” สฤณี กล่าว

ในส่วนของ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื้อหาที่ทางสถาบันพยายามจะทำเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคือ การสร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่สารามรถถกเถียงกันได้ หรือประชาธิปไตยแบบถกแถลง เพราะช่วงที่ผ่านมา 10 ปี สภาพการการเมืองไทยเป็นไปในลักษณะของการ “สวนเสวนา” คือเป็นการด่าทอ สวนกันไปมา ฉะนั้นจึงยังไม่มีพื้นที่ซึ่งสามารถพูดคุยกันได้อย่างเป็นปกติ และในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้ที่คนทุกคนจะเห็นตรงกันหมด เมื่อมีความไม่เห็นด้วยจึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่คนจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้พยายามจัดทำเวทีต่างๆ ที่รวบรวมความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย รวมทั้งประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งโดยพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยต้องมีการมีส่วนร่วมเป็นอันดับแรก ซึ่งวิธีที่จะทำให้เรารู้ว่าคนทั้งประเทศต้องการหรือไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้คือ การทำประชาติ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่สามารถนับได้

“แม้จะบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนมาแล้ว แต่อย่าลืมว่าความเป็นตัวแทนประชาชนมันไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด ดังนั้น การทำประชามติจึงควรจะเกิดขึ้น แต่ตอนนี้เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ จึงต้องมาทำผ่านเว็บไซต์ประชามติ อย่างน้อยผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้” เอกพันธุ์ กล่าว



 หลากความคิด หลายความเห็น เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ

หลังจากที่ผู้ร่วมก่อตั้งได้เล่าถึงที่มาของเว็บไซด์แล้ว ได้มีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ ซึ่งประกอบไปด้วย นักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม กรรมาธิการยกรร่างรัฐธรรม ฯลฯ

วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า เนื้อแท้ของการทำประชามติ ต้องเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น สิ่งที่คิดว่าหลายท่านเห็นตรงกันคือ รัฐธรรมนูญยังมีปัญหาอยู่ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ระบุว่าในการแก้ไข รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ แล้วถามว่าแล้วตัวรัฐธรรมนูญ 2558 เอง ไม่ทำประชามติหรือ พร้อมชี้ว่า ขนาดรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังมีการทำประชามติ

สังคมไทยต้องพรัอมเดินหน้าไปด้วยกัน หากเราอยากจะเดินหน้าไปด้วยกัน ต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 รายประเด็น หากประเด็นไหนไม่ผ่าน ก็ให้ ครม. คสช. ใช้มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขรายประเด็นไป โดยมองว่า เรื่องที่ดีอยู่แล้วคือ การแก้ปัญหาประชานิยม ส่วนประเด็นที่คิดว่าควรแก้คือ ประเด็นที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา แสดงความเห็นว่า ในส่วนตัวที่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ เห็นว่าประเด็นเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะได้รับบริการสาธารณะสุข ซึ่งถึงว่าเป็นเรื่องที่ใช้ได้ เพราะมีการพูดถึงหลักประกันสุขภาพ ระบบหลักประกันทางรายได้ให้กับประชาชน ประเทศไทยลดความเหลือมล้ำไม่ได้ หากไม่มีการกระจายรายได้ แล้ววิธีที่ดีที่สุดคือการจัดรัฐสวัสดิการ

นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเพิ่มอำนาจราชการ ขณะที่ทุนก็ยังอยู่ตัวรอดต่อไป แต่ประชาชนเองเพียงเพียงฟอร์นิเจอร์เท่านั้น เป็นสร้างสภาวะรัฐซ้อนรัฐ ในเรื่องประชามติ อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ตามมาตรา 46 ผู้ที่มีอำนาจในการแก้ไขได้คือ ครม. และ คสช. ซึ่งตนคิดว่า ทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีทางยอมให้มีการทำประชามติแน่นอน ฉะนั้นเว็บไซต์นี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ภาคประชาชน ที่จะทำให้การเมืองและเสียงของประชาชนมีความหมาย

ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ kapook.com เห็นว่า วันนี้ไม่จำเป็นที่จะตั้งมาตั้งคำถามกันว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการทำประชามติ เพราะเมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญเราไม่สามารถเขียนอะไรใส่กระดาษแล้วเอาไปประกาศใช้ เราอาจจะเรียกสิ่งนั้นว่ารัฐธรรมนูญก็ได้ แต่มันไม่มีความเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะโดยหลักการแล้วประชาชนต้องแสดงให้เห็นว่า ยินยอมเพราะใจ อยู่ใต้การปกครองของรัฐธรรมนูญ

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำประชามติ พร้อมเสนอให้เว็บประชามติ เลือกประเด็นในรายมาตราที่หลากหลาย ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นว่าจะเอา หรือไม่เอา มาตราใดบ้าง ในทางการเมืองจริงอยู่ว่า คสช. เป็นผู้ตัดสินใจ แต่ในทางสังคมประชาชนต้องเป็นผู้กำหนด โดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบางประเด็นที่ภาคประชาชนผลักดันเรียกร้องจน สามารถเข้าไปอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญได้ เช่น ยอมรับเรื่องรัฐสวัสดิการ การปฎิรูประบบภาษีเพื่อที่จะนำเงินมาใช้เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญ แต่ว่ากระแสของรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ถูกบดบังด้วย ประเด็นเรื่องที่มาของอำนาจ ซึ่งอาจจะทำให้โอกาสบางอย่างหายไป ฉะนั้นการลงประชามติเป็นเรื่องจำเป็น แล้วหวังว่าเว็บนี้จะทำให้เห็นว่าประเด็นที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคน จะต้องทำให้ประชาชนเป็นผู้กำหนด และตัดสินใจ

บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กล่าวว่า การลงปะชามติ เป็นเรื่องของการปกครองในระบบประชาธิปไตย แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าไม่เห็นว่าควรมีการลงประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ แต่เพื่อความลอมชอม ถ้าจะให้มีการลงประชามติ ไม่ควรมีเพียงแค่การให้เลือกว่า รับ หรือไม่รับ แต่ต้องมีการให้เลือกว่า ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ขึ้นมาใช้

ธนาธร ทนานนท์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความเชื่อโยงกับประชาชนตั้งแต่ต้น ขณะที่ในเนื้อหาเองก็มีปัญหา ทั้งในเรื่องการแยกระหว่าง สิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชน เรื่องของการยกร่างกฎหมายพบว่าขั้นตอนการมีส่วนรวมของประชาชนน้อยลงไปมาก เหมือนกับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน



จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับบนี้ หากไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญจะทำให้ประชาชนไม่สามารถกำหนดได้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ไม่สามารถกำหนดได้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร เราจะได้รัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่มีความสามารถ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องตอบสนองต่อความต้องกรของประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับพัฒนาการทางการเมืองใน 10-20 ปีที่ผ่านมา และจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งที่มากกว่าเดิม ทางออกของสังคมประชาธิปไตยคือ การที่จะต้องแก้รัฐธรรมนี้เมื่อบังคับใช้แล้ว แต่ก็จะพบว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว มีการเลือกตั้งแล้ว มีรัฐบาลแล้ว รัฐบาลถูกล้มโดยองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ ประชาชนอยากแก้รัฐธรรมนูญก็จะแก้ไม่ได้ เพราะว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนออกแบบไว้เพื่อไม่ให้แก้อีกได้

ฉะนั้นหมายความว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีการแก้ไขในสารสำคัญ เรากำลังจะเดินไปสู่ สังคมที่มีความขัดแย้งมากกว่าเดิม และไม่มีทางออก ที่บอกว่า 5 ปีค่อยแก้นั้น 5 ปีที่ว่าจะมีรัฐประหารอีกกี่ครั้งก็ยังไม่รู้

ทางออกในขณะนี้ ถ้าเราเพียงแต่บอกว่าขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรีบแก้ร่างนี้ซะ ก็คงเป็นไปไม่ได้ และ สปช. ก็คงจะเห็นชอบกับร่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ หรือจะให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ต้องมีการลงประชามติ ยิ่งตัดสินใจเร็วเท่าไหร่ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ช่วยกันทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะว่า เมื่อประกาศว่าจะมีการลงประชามติ ประชาชนก็จะออกมาแสดงความคิดเห็น ผู้ร่างก็จะรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้วก็มีการแก้ไขมากขึ้น ซึ่งนี้เป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนมีสิทธิมีเสียงก็จะทำให้อะไรดีขึ้น ช่วยให้บ้านเมืองหลีกเหลี่ยงความวุ่นวายในอนาคตจากรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ได้แสดงความเห็นว่า ตนเพิ่งกลับมาจาก เวที EIA การขุดเจาะปิโตรเลียม ที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งชาวบ้านก็มาเรียกร้องสิทธิในการชุมนุม สิทธิเสรีภาพในการปกป้องพื้นดินของบ้านเขา แต่ก็โดนทหารสั่งสอนว่า ระหว่างสิทธิและหน้าที่ ก่อนที่ชาวบ้านจะมีสิทธิในการออกมาเรียกร้องเสรีภาพ สมควรมีหน้าที่ซะก่อน ชาวบ้านจึงเดินออกจากห้องประชุมกันไปหมด แล้วก็บอกว่า หน้าที่ของเราก็ปลูกข้าวให้คุณกินไง

ต้องยอมรับว่ามนุษย์เรามีเสรีภาพ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำลังบอกเราว่าก่อนที่จะคิดถึงเสรีภาพ ให้คิดถึงหน้าที่ตัวเองซะก่อน ต่อไปอาจไม่เพียงแต่ให้เด็กมาเรียนค่านิยม 12 ประการ ถ้าร่างนี้ผ่านอาจจะมีวิชาหน้าที่พลเมืองให้พวกเราเรียนด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่รับไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญย้อนหลังไปมาก กับการมาถกเถียงกันเพียงแค่เรื่องสิทธิและหน้าที่ ทั้งที่สมควรไปด้วยกัน

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะเคยเป็นวิกฤติของสยามประเทศตั้งแต่สมัย ร.ศ. 103 ต่อเนื่องมาจนกบฏ ร.ศ. 130 กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2475 แต่ในรัฐประเทศชาติสมัยใหม่ก็ยังต้องการรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ความพยายามที่จะหยุดยั้งหรือดึงถอยหลังกลับไปก่อนปี 2475 เป็นความพยายามของกลุ่มคนที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ และน่าสมเพช ขอยืนยันว่า ในความเป็นประชาชนของสยามประเทศ เราจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

ศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน แสดงความเห็นว่า ตนเห็นด้วยกับการทำประชามติ ตนอยากให้เป็นเว็บที่คนสามารถมาแสดงความเห็นของตัวเองได้ในลักษณะที่มากไปกว่าการโหวตเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งเรื่องที่ดี และเรื่องที่ไม่ดี เรื่องที่ไม่ดีคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งจะกลายเป็นการสืบทอดอำนาจ ฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าหากจะมีการทำประชามติเป็นเรื่องๆ ไม่ใช่ทั้งฉบับ แต่ว่าก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรในกรอบเวลาของการร่าง แต่คิดว่าในแง่ของการแก้กฎหมายสามารถทำได้

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ แสดงในความเห็นในฐานะภาคประชาชนว่า โดยขณะร่างหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทำให้เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญทำโดยคน 36 คนไม่ได้ เพราะคนทั้ง 36 คนไม่สามารถตัดสินแทนคนทั้งหมดได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และเมื่อมาถึงช่วงที่ร่างเรื่องการปฏิรูป ก็ยิ่งทำให้รู้อีกว่า สิ่งที่จะมาถึงเป็นเรื่องยากมาก คน 36 และ 250 ไม่สามารถทำหน้าที่แทนได้ ฉะนั้นนี้คือความสำคัญของการทำประชามติ ท้ายที่สุดหากประชามติแล้ว คนไม่เห็นด้วยก็พร้อมจะยอมรับ

ศิริพร ฉายเพ็ชร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ได้แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยกับการมีเว็บไซต์ประชามติขึ้นมา แต่เสียดายที่ชาวบ้านหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซด์เหล่านี้ได้ ตนนึกคำพูดที่ชาวบ้านมักพูดเสมอว่า คนมีความรู้มีอำนาจทำไม่ต้องกดหัวประชาชน ทำไมต้องบอกว่าเราโง่ นั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านเจอ ขณะเดียวกันเราก็เจอเรื่องราวการถูกละเมิดสิทธิแบบนี้เหมือนกัน แต่เรามีช่องทางที่ระบายออกไป เราสามารถแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งเว็บไซด์ประชามติ แต่ชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ กลับไม่มีช่องทางเหล่านี้ อยากจะฝากคณะผู้ก่อตั้งว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้ส่งเสียงได้บ้างว่า เขาต้องการอนาคตแบบไหน