วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 02, 2558

ส่งออกลด-บริโภคซึมยาว รายงาน SMES กลางปี 58 ดัชนีการค้าตกต่ำทุกสาขา ร่วง-เละต่อเนื่อง




ที่มา เวป ที่นี่และที่นั่น
June 30, 2015

อายุรัฐนาวา คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งผ่านมาครบ 1 ขวบปี ดูเหมือนจะย่ำแย่รวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดเอาไว้

การไล่จับกุมกลุ่มนักศึกษาที่เพียงออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ได้ทำให้ประชาชนได้เห็นภาพของ “เผด็จการเต็มคราบ” ได้ชัดเจนมากขึ้น

ความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ได้ทำให้ผู้คนได้เห็นถึง “อำนาจ” ที่ลักลั่น ไม่เท่าเทียม

ซ้ำร้าย “ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ” ที่ยืดเยื้อยาวนาน มาตลอด 1 ปีที่ คสช.ก่อการรัฐประหาร ก็ได้ส่งผลกระทบกับ “คนไทยทุกคน” อย่างหนักหนาสาหัส

ตั้งแต่เกษตรกร ที่ยังต้องทุกทนกับปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รวมไปถึงแรงงานที่ยังไม่รู้อนาคตในเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ หรือแม้แต่พ่อค้า แม่ขาย นายทุนต่างๆที่ต้องได้รับผลกระทบกับ “ปัญหาเศรษฐกิจยุค คสช.” อย่างทั่วถึง

ล่าสุด “รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำเดือนพฤษภาคม 2558”ที่จัดทำและเผยแพร่โดย “ส่วนวิจัยและวิเคราะห์เตือนภัย สำนักข้อมูลและวิจัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ได้เผยให้เห็นถึงดัชนีเศรษฐกิจภาคการค้าต่างๆ ที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจของกลุ่ม SMEs “ลดต่ำลง” ทุกด้านและทุกระดับ ที่สำคัญเป็นการ “ตกต่ำต่อเนื่อง” อย่างน่าเป็นห่วง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มธุรกิจ SMEs คือกลุ่มปัจจัยหลักหนึ่ง ซึ่งได้ได้รับการยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด

โดย “ภาวะเศรษฐกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านธุรกิจภาคการค้าและบริการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคการค้าและบริการ เดือนเมษายน 2558 พบว่า มีค่าดัชนี 45.2 ปรับตัวลดลงจาก 52.7 ในเดือนก่อน โดยองค์ประกอบปรับตัวลดลง ได้แก่ กำไรและยอดจำหน่าย เนื่องจากผลจากการบริโภคภายในประเทศซึมตัวเนื่องจากเกษตรกรมีรายได้ลดลง และการส่งออกลดลง แต่ทิศทางแนวโน้มดี ขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ค่าครองชีพ การท่องเที่ยว และการลงทุนในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อเปรียบเทียบดัชนีความเชื่อมั่น 4 ภาคธุรกิจ ระหว่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาค การค้าและบริการ (TSSI) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) พบว่า ทั้งดัชนี TSSI BSI TISI และ CCI ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศซึมตัว เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้ลดลงและการส่งออกลดลง นอกจากนั้นประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไทยและปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อการบริโภคและการใช้จ่ายโดยเฉพาะภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขาย ภายในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาพคล่อง

ส่วนภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่าดัชนี (มูลค่าเพิ่ม) เดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ 75.1 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.1 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตมีค่าดัชนีอยู่ที่ 38.8 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีดัชนีอยู่ที่ 40.9

การจัดตั้งและสิ้นสภาพกิจการเดือนเมษายน 2558 พบว่าในส่วนการจัดตั้งกิจการใหม่จำนวน 4,564 ราย ขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.0 ส่วนการยกเลิกกิจการมีจำนวน 925 ราย ขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.5

เมื่อพิจารณาด้านการส่งออกเดือนเมษายน 2558 พบว่า SMEs มีมูลค่าการส่งออก 144,947.12 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเมื่ออยู่ในรูปดอลล่าร์สหรัฐฯ มีทิศทางหดตัวลงร้อยละ 2.7 สำหรับสินค้า สำคัญที่หดตัวสูง ได้แก่ หมวดเครื่องจักร และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และหมวดพลาสติก และของทำด้วยพลาสติก ส่วนตลาดสำคัญมีเพียงประเทศจีน และประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการขยายตัวการ ส่งออก ส่วนตลาดส่งออกที่มีการหดตัวสูง ได้แก่ กลุ่มตลาดอาเซียน และกลุ่มตลาดสหภาพยุโรป (EU-27)

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเอาไว้ว่า “ดัชนี TSSI SMEs ภาคการค้าส่งและค้าปลีก เมษายน 2558 เท่ากับ 44.3 ปรับตัวลดลงจาก 51.3 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงขององค์ประกอบด้านกำไร ต้นทุนและยอดจำหน่าย เป็นหลัก ในส่วนภาคการค้าส่ง อยู่ในระดับลดลงเท่ากับ 44.2 จากระดับ 47.1 ในเดือนก่อน ในส่วนภาคการค้าปลีก อยู่ในระดับลดลงเท่ากับ 44.3 จากระดับ 52.9 โดยสาขาธุรกิจภาคการค้าปรับตัวลดลงทุกสาขา โดยเฉพาะค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค และสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาค การศึกษาส่งผลสถานการณ์ด้านการบริโภคในภาพรวมจึงซึมตัวลง นอกจากนี้ภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นจักรกลหลักในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง”

รวมทั้ง “ดัชนี TSSI SMEs ภาคบริการเมษายน เท่ากับ 46.7 ปรับตัวลดลงจาก 55.0 ในเดือนก่อน จากองค์ประกอบที่ปรับตัว ลดลงโดยเฉพาะดัชนีด้านกำไร การลงทุนและยอดจำหน่าย ส่วนสาขาธุรกิจปรับตัวลดลงทั้งหมด อาทิ บริการขนส่ง การท่องเที่ยว เป็นต้น เนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ส่งผลให้กิจการภาคการขนส่งอาจจะชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลที่ ผ่านมา ผนวกกับการที่เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมยังคงซึมตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ด้านการบริโภค ภายในประเทศ”