วันศุกร์, ตุลาคม 02, 2558

"เสียงหัวเราะ" บ่อนเซาะอำนาจได้จริงหรือ?




"หัวร่อต่ออำนาจ" หนังสือเจาะอารมณ์ขันแบบสันติวิธีฉายเบื้องหลังปัญหาอำนาจไม่ชอบธรรม

โดย ธงชัย ชลศิริพงษ์
มติชนออนไลน์
วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ในห้วงที่สังคมไทยกำลังพูดถึง "สันติวิธี" ดร.จันจิรา สมบัติพูนสิริ เป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่สร้างงานออกมาจนได้รับความสนใจจากนักอ่าน โดยเฉพาะหนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาสดๆร้อนๆ ในชื่อว่า "หัวร่อต่ออำนาจ"

เพราะเหตุใดอารมณ์ขันจึงมีพลังทางสังคมที่มากพอจะสั่นคลอนผู้มีอำนาจได้มติชนออนไลน์ชวนอ่านบทสัมภาษณ์อาจารย์สาวคนนี้เพื่อขบคิดกับ"อารมณ์ขันแบบสันติวิธี"







ทำไม "เสียงหัวเราะ" ถึงบ่อนเซาะฐานอำนาจได้?

ที่จริงแล้ว เสียงหัวเราะโดยตัวมันเองมีหน้าที่หลายอย่าง มันไปบ่อนเซาะฐานอำนาจของผู้ปกครองได้ มันไปค้ำจุนฐานอำนาจก็ได้ มันอาจทำให้คนรักกันหรือเกลียดกันก็ได้ แต่สิ่งที่สนใจนำมาศึกษาคือ "เสียงหัวเราะของกลุ่มคนที่ต้องการทำลายหรือบั่นทอนความชอบธรรมของผู้ปกครอง"

จะศึกษา "เสียงหัวเราะ" แบบนี้ ได้จากไหน ?

ใช้วิธีการศึกษาจากกลุ่ม(การประท้วง)สันติวิธี เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้เสียงหัวเราะเพื่อความบันเทิง และอย่างที่ทราบว่าอารมณ์ขันเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงอยู่แล้ว เพราะถ้าการประท้วงไม่สนุก คนก็ไม่มาเข้าร่วม

ถ้าจะยกตัวอย่างกลุ่มที่ชัดที่สุด ก็คือ "เซอร์เบีย" เนื่องจากเซอร์เบียประท้วงกันมาเป็นสิบๆปี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผู้คนเบื่อหน่าย ขับไล่มากี่ปีรัฐบาลก็อยู่เหมือนเดิม ทีนี้คนที่คิดจะใช้อารมณ์ขันก็เริ่มคิดว่า "ความเบื่อนี้น่ากลัว" เพราะพอคนเบื่อ คนก็ไม่มีความหวัง พวกเขาจึงคิดวิธีการที่แปลกใหม่ คือใช้อารมณ์ขันล้อเลียน เสียดสี และตั้งคำถามกับรัฐบาล ต้องการให้ผู้คนทั้งหลายตื่นขึ้นจากความเฉยชา โดยตั้งคำถามว่า "การที่รัฐบาลอยู่ในอำนาจเป็นเพราะพวกเรา ไม่ใช่เพราะรัฐบาล พวกเราต่างหากที่สนับสนุนคนพวกนี้ให้อยู่ในอำนาจ" เมื่อคนเริ่มตั้งคำถาม รัฐบาลก็เริ่มขาดความชอบธรรม

พวกเขาใช้เสียงหัวเราะในแคมเปญเลือกตั้งขนาดใหญ่ของประเทศจากเดิมที่เซอร์เบียเป็นสังคมปิดแต่กลุ่มนี้สามารถผลักให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งได้โดยการใช้อารมณ์ขันช่วยขจัดความกลัวและความเบื่อให้กับผู้คนในสังคมอารมณ์ขันจึงเป็นการเปิดทางให้กับการประท้วงรูปแบบอื่นๆ

ในประเทศไทยมีแบบนั้นบ้างไหม?

ถ้าจะให้ชัดก็คือ "กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง" พวกเขาใช้อารมณ์ขันในเชิงยุทธศาสตร์ คือตั้งใจใช้อารมณ์ขันเป็นหลัก ยกตัวอย่างในหนังสือมีบทหนึ่งเรื่อง "การประท้วงแบบไม่ประท้วง" ซึ่งเกิดขึ้นหลังการปราบปรามปี 2553 โดยบรรยากาศในช่วงนั้นกลุ่มผู้ประท้วงมีความรู้สึกหวาดกลัวต่อ พรก.ฉุกเฉิน ประกอบกับความกลัวจากการถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐ การประท้วงในสภาวะนี้จึงเกิดความโกรธได้ง่าย ซึ่งความโกรธมันอาจทำให้หลายคนเลือกไปใช้หนทางอื่นได้ แต่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงเลือกใช้ "อารมณ์ขัน" เพื่อเปิดพื้นที่ไปสู่การประท้วงในสภาวะที่จำกัด และทำให้เห็นว่าในสภาวะแบบนั้น เรายังสู้ต่อได้ ยังมีช่องทางอื่นในการแสดงความไม่พอใจ และแสดงความโกรธต่อรัฐบาลในขณะนั้นได้

การประท้วงของ "กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง" เป็นรูปแบบที่ก้าวพ้นไปจากรูปแบบเดิม เช่น ต้องไปอยู่บนถนน มีคนมาชูป้าย หรือมาตะโกน โดยพวกเขาเลือกใช้การจัดกิจกรรม "เต้นแอโรบิค" ซึ่งการเต้นแอโรบิคมันมีอยู่แล้วในกรุงเทพฯ ฉะนั้น การหยิบยกเอาการเต้นแอโรบิคมาเป็นประเด็นในการประท้วง ก็เป็นการทำให้กิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันเป็นการประท้วง คือเปลี่ยนจากการประท้วงแบบเดิมให้เป็นการเต้น ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนการเต้นให้เป็นการประท้วง การเต้นแอโรบิคจึงเป็นวาระทางการเมือง

และความเพี้ยนของกิจกรรมนี้ ยังมีการแต่งหน้าเป็นผี เป็นตัวประหลาด แล้วก็ประกาศว่ามีคนตาย คือเป็นการผสมเอาความสนุกและความเศร้าไว้ด้วยกัน กิจกรรมแบบนี้จึงเป็นการใช้ "อารมณ์ขัน" เพื่อต่อสู้กับเบื้องหลังความเศร้า ความหดหู่ และการอับจนทางเลือกของสังคม

"อารมณ์ขันแบบสันติวิธี" จึงเป็นการสร้างความหวัง?

ในแง่หนึ่งใช่ เพราะการทำแบบนี้เป็นเหมือนการสร้างโลกคู่ขนานอีกใบขึ้นมาเพื่อให้คนจินตนาการ เช่น ในหลายที่มีการจัดกิจกรรมแบบคาร์นิวาล (งานเฉลิมฉลองขนาดใหญ่) มีทั้งที่เป็นคอนเสิร์ต เป็นพาเหรด พวกนี้ก็จะแต่งตัวแบบบ้าๆบอๆ มีกลอง มีการเต้นต่างๆนานา ซึ่งการทำแบบนี้มันทับซ้อนกับภาพความจริงทางสังคมอีกภาพหนึ่งคือ ความยากจนของสังคม สงคราม หรือรัฐบาลปราบปรามโหด

กิจแบบนี้มันทำให้รู้ว่า ความสนุกบนโลกนี้ยังมีอยู่ และเราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างสรรค์โลกใบใหม่ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้เองคือหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของ "อารมณ์ขัน" ที่ทำคนจินตนาการถึงความเป็นจริงชุดอื่นๆ และพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้เราพ้นไปจากสภาพแย่ๆในทุกวันนี้




"อารมณ์ขันแบบสันติวิธี" กำลังวาดภาพสังคมให้เป็นอย่างไร?

ถ้าเรามองความเป็นจริงในสังคมไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราใช้สันติวิธีกันโดยไม่ได้คิดถึงวิสัยทัศน์ เป็นการประท้วงเพียงแค่แย่งชิงอำนาจ คือมีการยกระดับขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป้าหมายเพียงเพื่อต้องการล้มรัฐบาล ทีนี้พอล้มรัฐบาลได้ จะไปไหนอย่างไรต่อก็ไม่รู้ ซึ่งหลายๆประเทศก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน คือเป็นการประท้วงที่ไม่รู้จะไปไหนต่อ เพราะว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ระยะสั้นในการล้มรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามแล้ว

ในขณะที่หากเราต้องการใช้"อารมณ์ขันแบบสันติวิธี"เพื่อสร้างสังคมแบบยูโทเปีย(สังคมในอุดมคติ)มันก็ชวนให้เราคิดถึงว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตเราดีขึ้น วิธีการแบบนี้มันจึงนำไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งของสังคมการเมือง เพราะมันได้ตั้งคำถามใหญ่ว่า อีกหน่อยลูกหลานคุณจะอยู่ในสังคมแบบไหน คุณอยากให้ลูกหลานอยู่ในสังคมที่เป็นธรรม อยากให้ลูกหลานอยู่ในสังคมที่โปร่งใสไม่ใช่สังคมที่คดโกง หรือที่เป็นสังคมประชาธิปไตยใช่หรือไม่

ฉะนั้น สังคมในอุดมคติของสันติวิธีจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญ เพราะหากสันติวิธีไม่ใช่แค่วิธีการ ไม่ใช่แค่การประท้วงเท่านั้น เราจะคิดถึงอนาคต เราจะคิดถึงเป้าหมายที่ไปไกลกว่าแค่การเปลี่ยนแปลงอำนาจในปัจจุบันได้อย่างไร

มองอย่างไรในแง่การใช้ "สันติวิธี" ของสังคมไทย?

คิดว่าสังคมไทยมีศักยภาพ อย่างเช่น กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงที่ได้กล่าวไป การที่มีคนทำมันก็หมายความว่ามีคนคิดถึงมัน และถึงแม้ว่ากลุ่มนี้จะหยุดไป แต่เราก็ยังเห็นกลุ่มที่ใกล้เคียงกันมีอยู่ประปราย ... และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ

แต่ด้วยบริบททางสังคม ณ ขณะนี้ มันจึงทำได้ยากขึ้น เพียงแต่ว่าเวลาที่คุณจะถูกจับ คุณต้องหวังผลทางความคิด เพราะว่าตอนนี้สังคมกำลังสนับสนุนอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ปัญหาของอำนาจนี้จึงไม่ใช่ตัวมันเองเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาคือพวกเรา หลายคนยังคงสนับสนุนอำนาจที่ไม่ชอบธรรมนี้อยู่ ฉะนั้น ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เริ่มรู้สึกว่าอำนาจนี้ไม่ชอบธรรมอีกต่อไป ในสถานการณ์แบบนี้ การประท้วงด้วยความรุนแรง จึงอาจนำไปสู่การสร้างความไม่พอใจ และสนับสนุนอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในมุมหนึ่งด้วย

แต่หากเราใช้ "อารมณ์ขันแบบสันติวิธี" ในสถานการณ์แบบนี้ มันจึงคล้ายกับการสะกดจิต เพราะมันไม่ได้บอกว่าอีกฝ่ายหนึ่งแย่ แต่มันได้บอกทางอ้อมว่า ลองตั้งคำถาม ลองส่องกระจกดูว่า เบื้องหลังของปัญหาคือเรา เพราะเรายังเคารพเชื่อฟัง เรายังทำให้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมยังคงอยู่

มองสังคมไทยตอนนี้อย่างไร?

คิดว่าคนในสังคมตอนนี้กำลังเบื่อ ไม่ได้ถึงกับสยบยอมหรือชื่นชอบซะทีเดียว แต่เบื่อ คือไม่รู้จะทำอะไร เพราะฉะนั้น โจทย์ทางการเมืองในมุมสันติวิธี โดยเฉพาะความขำขัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำลายความเบื่อตรงนี้ เพราะการใช้อารมณ์ขันแบบสันติวิธีคือการต่อสู้กับการไร้หนทาง

อย่างในหนังสือ "หัวร่อต่ออำนาจ" ก็ฉายภาพของวิกฤติแห่งการไร้ความหวังทางสังคม ซึ่งการไร้ความหวังนี้ มันร้ายแรงพอๆกับความกลัว คือทำให้คนยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ความขำขันมันไม่ใช่ยาวิเศษในตัวเอง แต่มันเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู้อย่างสร้างสรรค์

และการต่อสู้อย่างสร้างสรรค์นี้เองจึงทำให้สมองไม่ตีบตันด้วยทางเลือกที่มากขึ้นและมีความหวังว่าโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงไปได้มันอาจไม่ใช่เรื่องของวันรุ่งขึ้นแต่เราจะต้องมองยาวๆเราอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหน หากจะเป็นประชาธิปไตย แต่ยังใช้ความรุนแรง ก็คงไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ดีนัก นี่คือจุดสำคัญของหนังสือเล่มนี้