วันพุธ, พฤศจิกายน 18, 2558

ขนาดนายพลตำรวจยังอยู่ไม่ได้ ประสาอะไรกะประชาชน... 'พล.ต.ต.ปวีณ' พร้อมครอบครัวจ่อออกนอกปท. เพื่อความปลอดภัย




'พล.ต.ต.ปวีณ' พร้อมครอบครัวจ่อออกนอกปท. เพื่อความปลอดภัย

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
17 พ.ย. 2558

พล.ต.ต.ปวีณ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ตัดสินใจพาครอบครัวเตรียมเดินทางไปอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย หลังทราบว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ยับยั้งการยื่นหนังสือลาออกจากราชการ...

ความคืบหน้ากรณี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ที่ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ หลังถูกคำสั่งย้ายไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 58 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจาก พล.ต.ต.ปวีณ ทราบข้อมูลว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะไม่ยับยั้งการยื่นหนังสือลาออกจากราชการ จึงตัดสินใจที่จะเดินทางออกนอกประเทศพร้อมกับครอบครัว ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

ด้าน พล.ต.ต.ปวีณ นอกจากเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาแล้ว ยังเป็นพยานปากสำคัญที่จะต้องเบิกคำให้การในศาล เพื่อเอาผิดกับผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาอีกด้วย แต่เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ต้องไปเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. พล.ต.ต.ปวีณ จึงตัดสินใจลาออกจากราชการทันที เพราะคคีค้ามนุษย์โรฮีนจามีการออกหมายจับทหาร ตำรวจ และนักการเมืองท้องถิ่นหลายราย ทำให้กลุ่มผู้ต้องหาเกิดความโกรธแค้น อีกทั้งในคดีนี้มีผู้ต้องหาบางรายที่มีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยหากลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่





ตามที่มีข่าวทางสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุว่า พลตำรวจตรีปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ออกมาเปิดเผยว่าคณะทำงานของเขาถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ซ้ำเขายังถูกย้ายไปปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสมือนถูกลงโทษ ทำให้เกรงว่าชีวิตจะไม่ปลอดภัยนั้น

ที่มา สำนักข่าวอิศรา
29 ตุลาคม 2558

“ทีมข่าวอิศรา” จึงขอสัมภาษณ์พิเศษ พลตำรวจตรีปวีณ และได้รับข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับผลจากการทำคดีที่เชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพลและคนมีสีที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีค้าชาวโรฮิงญา

พลตำรวจตรี ปวีณ กล่าวว่า การเข้ามาทำหน้าที่ในชุดสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา เริ่มจากการที่ผู้บังคับบัญชาเรียกตัวให้เข้ามาทำคดี ซึ่งตัวเขาเองเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ เป็นเรื่องระดับประเทศและระดับโลก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ และได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จึงเข้ามารับหน้าที่และทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ในการคลี่คลายคดีร่วมกับพนักงานสอบสวนในทีม ตลอดจนพนักงานอัยการที่ร่วมทำคดี จนสามารถออกหมายจับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีได้ 153 ราย จับกุมได้ 91 ราย

“ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ มีทั้งในจังหวัดระนอง สตูล สงขลา และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ทั้งยังมีการออกหมายจับข้าราชการทหาร โดยเฉพาะนายทหารระดับสูง เป็นธรรมดาที่เมื่อมีการออกหมายจับกลุ่มคนเหล่านี้ เขาย่อมเกิดความไม่พอใจ แต่ยืนยันว่าการทำคดีของคณะทำงานที่มีทั้งฝ่ายตำรวจร่วมกับอัยการ ทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ และคณะทำงานทุกคนมองเรื่องผลประโยชน์ของส่วนร่วมและผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อสกัดกั้นแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ คณะทำงานทุกคนทำงานกันอย่างตรงไปตรงมา”

พลตำรวจตรี ปวีณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำคดีใหญ่แบบนี้ คือคณะทำงานทุกคนสมควระได้รับการปกป้องดูแลจากภัยหรือผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา

“ตลอดเวลากว่า 5 เดือนของผมและตำรวจทุกคนในคณะทำงานที่ร่วมกันสืบสวนสอบสวนคดี จนทำสำนวนคดีเป็นเอกสาร 2 แสนกว่าแผ่น ออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องไป 153 ราย ทุกคนทำงานอย่างยากลำบาก ไม่ได้กินนอนอย่างสบาย จริงๆ ทุกคนควรจะได้รับบำเหน็จ แต่สิ่งที่ผมได้รับคือถูกย้ายไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ซึ่งตลอดอายุการรับราชการตำรวจของผมจนขณะนี้อายุ 57 ปีแล้ว ยังไม่เคยทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนเลย ไม่มีข้อมูลและไม่เคยทำคดีในพื้นที่นี้เลย การส่งผมลงไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัดจึงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับพื้นที่ตรงนั้น ตรงกันข้ามเหมือนกับส่งผมไปเสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำ ผมเคยขออยู่ที่เดิม แต่ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการโยกย้าย”

พลตำรวจตรี ปวีณ บอกอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาย่อมส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของตำรวจในคณะทำงาน ทุกคนย่อมกังวลว่าจะเกิดอะไรในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายพวกเขาบ้าง แม้กระทั่งตัวเขาเองที่เป็นหัวหน้าทีมยังโดนแบบนี้ แล้วคณะทำงานที่เหลือจะเป็นอย่างไร และสิ่งที่เกิดขึ้นก็อยู่ในสายตาข้าราชการตำรวจทุกคน ถือเป็นกรณีศึกษา หากมีคดีสำคัญแบบนี้ตำรวจคนไหนจะกล้าเข้ามาทำคดี เพราะเมื่อทำแล้วผลที่ออกมา รางวัลก็ไม่ได้ แต่กลับเหมือนถูกลงโทษอีก

ในเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบจากการทำงาน พลตำรวจตรี ปวีณ บอกว่า หลังจากเข้ามาทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา เริ่มรู้ว่าเกิดความไม่พอใจจากกลุ่มผู้ถูกออกหมายจับ สัญญาณที่เห็นได้ชัด คือมีการข่มขู่พยานสำคัญจากลูกน้องของคนมีสีที่ตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งได้มีการแจ้งความเอาไว้และเป็นคดีแล้ว รวมไปถึงการถูกข่มขู่ของทหารนายหนึ่งซึ่งตกเป็นผู้ต้องหากลุ่มหลังที่ถูกออกหมายจับ โดยคนสนิทของคนมีสีอีกคนหนึ่งส่งข้อความข่มขู่ไม่ให้เข้ามอบตัว และหลังจากมีการโอนคดีไปศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ จนถึงขณะนี้ นายทหารอีก 3 นายที่ถูกออกหมายจับก็ยังไม่เข้ามามอบตัวเลย

“ตรงนี้เป็นสัญญาณที่แสดงถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และหากผมต้องลงไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้ววันหนึ่งเกิดระเบิดกับผม เหมือนอย่างที่เกิดกับ พลตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา (อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ถูกลอบวางระเบิดเสียชีวิตเมื่อปี 2553) ใครจะรับผิดชอบ”

พลตำรวจตรี ปวีณ บอกด้วยว่า ในวันที่ 30 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ต้องไปรายงานตัวกับทาง ศชต. เขาคงโทรศัพท์ไปรายงานตัวกับผู้บัญชาการ ศชต. ก่อน และจะไปราชการต่อในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน เพื่อเข้าไปชี้แจงคดีค้ามนษย์โรฮิงญากับคณะกรรมการ หลังจากนั้นคงต้องดูต่อไปว่าทางผู้บังคับบัญชาจะเห็นใจพิจารณาแก้ไขการโยกย้ายให้ลงไปปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้ความเป็นธรรมหรือไม่

“หากผมไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือการดูแลในเรื่องความปลอดภัยที่ดีพอ ทางเลือกสุดท้ายอาจจะต้องลาออกจากราชการเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง” พลตำรวจตรี ปวีณ กล่าวในตอนท้าย

ย้อนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา

สำหรับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เริ่มขึ้นเมื่อมีการพบสุสานและศพชาวโรฮิงญาจำนวนมาก บนเทือกเขาแก้ว บ้านตะโละ หมู่ 8 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนรอยต่อระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งให้ พลตำรวจตรีปวีณ เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน และได้ทำคดีร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพนักงานอัยการ กระทั่งสามารถออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้ 153 ราย จับกุมได้ 91 ราย มีทั้งนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่นในภาคใต้ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และนายทหาร

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ได้มีการสรุปสำนวนคดีพร้อมความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด และนำสำนวนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม

จากนั้นวันที่ 9 ตุลาคม ศาลจังหวัดนาทวีได้อ่านคำสั่งประธานศาลฎีกาให้โอนย้ายคดีค้ามนุษย์ของ สภ.ปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ไปยังศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นแผนกที่ได้เปิดขึ้นใหม่เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว รวมไปถึงความต่อเนื่องในการดำเนินการทางคดี

จากคำสั่งดังกล่าว จึงต้องมีการย้ายผู้ต้องหาในคดีทั้งหมดไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในเรื่องการดำเนินการทางคดีด้วย

สำหรับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา แยกย่อยเป็น 2 คดี คือ คดีหลัก คดีค้ามนุษย์ มีการออกหมายจับผู้ต้องหาไปแล้ว 153 หมาย จับกุมได้ 91 คน ยังหลบหนีอยู่ 62 คน ส่วนคดีฟอกเงินของขบวนการค้ามนุษย์ ออกหมายจับไปแล้ว 79 หมาย จับกุมได้ 40 คน ยังหลบหนี 39 คน

ทั้งนี้ ในส่วนของคดีค้ามนุษย์ซึ่งเป็นคดีหลักนั้น กลุ่มบุคคลที่ถูกออกหมายจับชุดสุดท้ายก่อนพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการ เป็นทหาร 4 นาย คือ พันเอกณัฏฐ์สิทธิ์ มากสุวรรณ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดสตูล (ผอ.รมน.จ.สตูล) ร้อยเอกวิสูตร บุนนาค สังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดชุมพร (กอ.รมน.จ.ชุมพร) ร้อยเอกสันทัด เพชรน้อย สังกัด กอ.รมน.จ.ชุมพร และ นาวาโทกัมปนาท สังข์ทองจีน สังกัดทัพเรือภาคที่ 3

โดย ร้อยเอกวิสูตร ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนไปแล้ว ส่วนทหารอีก 3 นายยังไม่ยอมเข้าพบตำรวจ

ขณะที่คดีฟอกเงิน มีการออกหมายจับผู้ต้องหาชุดสุดท้าย 2 คน คือ นายชลธิชา ไชยมณี อายุ 48 ปี และ นายซอเนียง อานู อายุ 45 ปี ชาวพม่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน โดยทั้งสองคนนี้เป็นผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์ซึ่งเป็นคดีหลักด้วย
...