วันจันทร์, พฤศจิกายน 16, 2558

การอ้าง ‘จริยธรรมโพล’ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การเรียกร้องให้พุทธเป็นศาสนาเดียวของชาติไทย น่าละอาย





ก่อการโหดโดยไอซิสในกรุงปารีสเมื่อวันศุกร เป็นที่เขย่าขวัญ สะเทือนใจต่อคนที่รักสันติภาพทั่วโลก

จำเพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา ที่กำลังถกเถียงกันอย่างหนักในทางความคิด หลังจากมีผู้ถือเพศบรรพชิตจำนวนหนึ่งออกหน้ารณรงค์ให้กำหนด ‘พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ’ ไว้ในรัฐธรรมนูญที่ คสช. จัดให้คณะของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำการร่างอยู่นี้

โดยเมื่อผู้อยู่ในสถานะสงฆ์องค์หนึ่งนำลงข้อความทางหน้าเฟชบุ๊ค ชักชวนคนไทยใช้วิธีการสุดโต่งแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จัดการกับขบวนการแยกดินแดนในภาคใต้ ด้วยการไปเผาม้สยิดหนึ่งหลังต่อทุกๆ ชีวิตที่สูญเสียจากการก่อการร้าย

แน่นอนว่าแนวคิดเช่นนั้นผิดพลาดอย่างหนักหน่วงกับหลักศาสนาทุกศาสนา ไม่เฉพาะศาสนาพุทธ หากจะมีใครจาบจ้วงว่าพระสงฆ์ที่เสนอวิธีเช่นนั้นประพฤติตนไม่ควรแก่ผ้ากาสาวพัสตร์ ก็อาจพูดได้โดยมิพักต้องตรวจสอบกับการตีความพระวินัยแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับที่มีความแตกต่างระหว่างบริบทความร้ายแรงในความขัดแย้งบริเวณสามจังหวัดภาคใต้ของไทย กับก่อการร้ายนานาชาติของมุสลิมเหี้ยม ‘จิฮัด’ ในกลุ่มไอซิส (หรือ IS และ ISIL) อันทำให้คนบริสุทธิ์เสียชีวิต ๑๒๙ รายเมื่อสองวันที่แล้วในประเทศฝรั่งเศส และ ๔๓ รายในเลบานอนสองวันก่อนหน้านั้น หรือก่อนนั้นอีกก็มีคนตาย ๑๔๗ รายที่คีเนีย

แต่ทว่าปรากฏการณ์พระไทยแสดงความเห็นทางสาธารณะเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อต้านมุสลิมแยกดินแดนในภาคใต้ เป็นพัฒนาการที่น่าเป็นห่วง ชวนให้หวาดระแวงว่าจะเป็นการชักศึกเข้าบ้านโดยมิบังควร

การวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า แม้ทางการจะพยายามบ่ายเบี่ยงยัดเยียดความผิดให้กับเครือข่ายของรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งถูกยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร แต่ความจริงก็ปรากฏว่าเกิดเพราะการดำเนินนโยบายผิดพลาดของรัฐบาลชุดนี้ ที่ช่วยเหลือประเทศจีนจับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ส่งกลับไปให้รัฐบาลจีนทำการข่มเหง

และล่าสุดยังมีความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่การเรียกร้องให้พุทธเป็นศาสนาเดียวของชาติไทย ด้วยการอ้าง ‘จริยธรรมโพล’ อย่างไม่ละอาย




พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ให้ข่าวว่า “จะมีการรวบรวมรายชื่อผู้ที่สนับสนุนให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติให้ได้ ๑ ล้านรายชื่อ โดยกำหนดสิ้นสุดการรวบรวมรายชื่อช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้”

พร้อมกันนั้น สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ‘จริยธรรมโพล’ เป็นเวลา ๑ เดือน ได้เรื่องว่า

“ร้อยละ ๙๓.๖ เห็นด้วย ที่จะให้มีการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนร้อยละ ๖.๔ ไม่เห็นด้วย”

(http://www.dailynews.co.th/education/360442)

การอ้างอิงดังกล่าว ที่นำผลสำรวจในวงจำกัดมาบดบังข้อโต้แย้ง เพื่อการรวบรัดจัดตั้งลัทธินิยมสวมหัวผู้คนทั้งประเทศ สร้างความงมงายให้เป็นปมความขัดแย้งต่อไปยิ่งขึ้น




สมฤทธิ์ ลือชัย เป็นนักกิจกรรมทางศาสนาคนหนึ่งที่พยายามทัดทานกระแสเบี่ยงเบนจากวิถีธรรมไปสู่การหลงใหลในพิธีกรรมของศาสนาพุทธเถรวาทในประเทศไทย ได้เคยแสดงข้อโต้แย้งไว้ว่า

“หลังต่อต้านเรื่องศาสนาประจำชาติและเสนอให้ยุบมหาเถรสมาคม เพราะไม่มีประโยชน์และกลับจะเป็นโทษเสียด้วยซ้ำ ถูกถามกลับว่า ‘นับถือศาสนาอะไร?’ ตอบตรงๆคือนับถือพระธรรม-พระวินัยที่พระพุทธเจ้าสอนครับ

คำว่า ‘พุทธศาสนา’ เกิดหลังสมัยพุทธกาล และพุทธที่บรรดาพวกท่านจะให้เป็นศาสนาประจำชาตินั้นจึงเป็นคนละพุทธกับผม พุทธที่ผมนับถือสอนให้ผมละเลิกอัตตา ไม่แสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์ใดๆจากศาสนา ใจกว้างต่อเพื่อนมนุษย์ เพราะนี้คือหลักสำคัญที่พระเจ้าอโศกจารึกไว้ว่า ‘ถ้าทำร้ายศาสนาอื่นก็เท่ากับทำร้ายศาสนาของตน’”

“แกนนำเรื่องนี้คือกลุ่มที่เก่งในเรื่องการจัดการ อาทิ จัดบิณฑบาต ๑,๐๐๐ รูป เป็นพวกเดียวกันกับมหาวิทยาลัยพุทธโลก ล่าสุดก็คือโครงการหมู่บ้านศีล ๕ แต่แปลกทำไมไม่เสนอโครงการวัดศีล ๕ บ้างล่ะ เพราะพระที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้ล้วนใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จอย่าง hate speech ที่มีต่อชาวมุสลิม ขนาดศีล ๕ ยังไม่ผ่านแล้วจะมาปกป้องพุทธศาสนาได้อย่างไรครับหลวงพี่”

ปรากฏการณ์พระไทยออกมาแสดงความคิดในทางเหยียดศาสนาอิสลามนี้เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากกระบวนการสงฆ์พม่านิยมความรุนแรง ที่มีชื่อองค์กรในภาษาพม่าว่า ‘มา บา ตา’ คำย่อจาก ‘สมาคมรักชาติแห่งเหมียนหม่า’ โดยมีพระวิราธุ ผู้นำการรณรงค์ต่อต้านชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่าอย่างรุนแรงถึงขั้นยกพวกไปไล่ตีถึงในหมู่บ้าน

องค์กรมา บา ตา นี้รณรงค์ก่อนการเลือกตั้งต่อต้านพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจี อ้างว่าถ้าพรรคนี้ได้ชัยชนะแล้วจะทำให้พม่าถูกยึดครองโดยชาวมุสลิม ทั้งที่ในทางตรงข้าม ก่อนการเลือกตั้งนางซูจีได้รับการวิพากษ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติบางแห่งว่า เธอทำเมินเฉยกับโชคชะตาของชนชาวโรฮิงญา เพราะเห็นว่าองค์กรพุทธต่อต้าน

อย่างไรก็ดี หลังเลือกตั้งเมื่อปรากฏว่าพรรคเอ็นแอลดีชนะอย่างท่วมท้น พระระดับนำในองค์กรมา บา ตา ประกาศขู่ห้ามทำการแก้ไขกฏหมายว่าด้วยสถานะพลเมือง และเรื่องเชื้อชาติกับศาสนาอย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นพวกตนจะก่อการเผชิญหน้า

(http://www.myanmar-now.org/news/i/…)




ในสถานการณ์ที่ขบวนการไอซิสเหิมเกริมขยายก่อการร้ายกว้างขวางขึ้นในลักษณะทั่วโลก เป็นผลให้บรรดาชาติตะวันตก โดยเฉพาะในกลุ่มสนธิสัญญาเนโต้ เริ่มที่จะให้ความสำคัญหันมาพิจารณาใช้กำลังทหารทำสงครามกวาดล้างขบวนการไอซิสที่ส้องสุมอยู่ในพื้นที่ประเทศอิรักและซีเรียอย่างจริงจัง

คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์คนหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูง และจัดว่าเป็นผู้ที่เสนอแนวคิดในทางเสรีนิยมด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ล่าสุดนายรอเจอร์ โคเฮ็น เขียนบทความชื่อ ‘To Save Paris, Defeat ISIS’ แสดงความเห็นสะท้อนความรู้สึกที่ว่าต้องจัดการกับไอซิสแบบตาต่อตาด้วยกำลังทหารจึงจะได้ผล
(http://www.nytimes.com/…/op…/to-have-paris-defeat-isis.html…)
แม้แต่ในการโต้วาทีของผู้เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในฝั่งพรรคเดโมแครทเมื่อวันศุกรที่ผ่านมา แคนดิเดททั้งสามให้ความเห็นคล้องจองกันว่า ปัญหาไอซิสต้องจัดการอย่างเด็ดขาดกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้ทุกคนไม่ลืมที่จะย้ำว่า เป้าหมายคือขบวนการมุสลิมหัวรุนแรง หรือพวกจิฮาดิสต์ ไม่ใช่อิสลามทั่วไป

ในทางกลับกันก็ปรากฏแถลงการณ์ของสหภาพปราชญ์มุสลิมนานาชาติ และสมาคมยุวชนมุสลิมในประเทศไทย ประณามการการก่อการร้ายและเข่นฆ่าสาธารณะของขบวนการไอซิส และประกาศยืนยันว่า “การก่อการร้ายไม่มีในอิสลาม”

ในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าปัญหาจากขบวนการก่อการร้ายนานาชาติเช่นไอซิส และอัลไคด้า ยังไม่มากเท่าในภาคพื้นทวีปยุโรป และการเหยียดผิว หยามศาสนา หมิ่นมุสลิม โดยกลุ่มประชากรที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ยังมีอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีความพยายามในภาคส่วนที่เป็นเสรีนิยมในการเรียกร้องให้ยึดมั่นหลักความเสมอภาคหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา

การรณรงค์ให้ยกเลิก ลบล้าง และนำออกซึ่งสัญญลักษณ์ของการกดขี่ทางเชื้อชาติและศาสนาเพิ่มขยายมากขึ้นในช่วงปีนี้ การยกเลิกชักธงของกองทัพฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมืองอเมริกัน ที่กลายเป้นสัญญลักษณ์ของการเหยียดผิวและกีดกันชนผิวดำเกิดขึ้นในนครหลวงของมลรัฐภาคใต้หลายแห่ง




ในนครลอส แองเจลีส มีคดีความสำคัญในเรื่องนี้ผ่านการไต่สวนขั้นสุดท้ายเข้าสู่การพิจารณาตัดสินในศาลรัฐบาลกลาง เกี่ยวกับตราลัญจกรของนคร ที่เมื่อปีที่แล้วคณะกรมการเมืองได้ลงมติให้เพิ่มเติมไม้กางเขนลงบนจั่วภาพโบสถ์มิสชั่นโบราณ อ้างว่าเพื่อให้ภาพสมบูรณ์ทางประวัติศาสตร์

แต่มตินี้ได้รับการคัดค้านและยื่นฟ้องต่อศาลให้ถอดภาพไม้กางเขนออกจากตราเมืองโดยองค์การปกป้องรักษาสิทธิมหาชน (Civil Liberty Union) ด้วยเหตุว่าไม้กางเขนจะแสดงถึงการลำเอียงยกย่องศาสนาคริสเตียนเหนือศาสนาอื่น ผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนา ทุกศาสนามีความเสมอภาคกันหมด

ไม่ว่าผู้พิพากษาจะตัดสินอย่างไรยอมรับความสำคัญของภาพไม้กางเขนเป็นสัญญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือว่าตีตกเพราะขัดกับหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนา เพียงการยื่นฟ้องร้องต่อต้านตามกระบวนการศาลก็ถือว่าน่าชื่นชมพอสำหรับมาตรฐานการดำรงชีวิตในสังคมที่พัฒนาแล้ว