วันอังคาร, พฤศจิกายน 24, 2558

ทูตสหรัฐฯกังวลกรณีออกหมายเรียกนักวิชาการ กระทบเสรีภาพพื้นที่การแสดงออก




ที่มา เวปประชาธรรม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2558

กลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความความกังวลกรณีที่ตำรวจออกหมายเรียกนักวิชาการ ข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง หลังไทยเคยให้คำมั่นกับสหรัฐว่าจะเปิดพื้นที่แสดงความเห็น ไม่มีการควบคุมตัว ตามที่เซ็นรับรองเรื่องสิทธิกับยูเย็น ด้านเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง และเครือข่ายเครือข่ายพลเมืองสงขลา ออกแถลงการณ์ เรียกร้องยุติการข่มขู่คุกคาม

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 พ.ย.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ ทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์การออกหมายเรียกนักวิชาการ หลังแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร (อ่านข่าว) ระหว่างเข้าร่วมงาน “global entrepreneurship week” ที่เชียงใหม่ จัดโดยสถานกงสุลอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ว่า สิ่งหนึ่งที่ตนพูดกับรัฐบาลสม่ำเสมอ คือ สหรัฐหวังว่ารัฐบาลไทยจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชน ประชาสังคม พูดมากกว่านี้ ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลไทยก็ยืนยันว่าจะไม่มีการจับ หรือควบคุมคนไม่ให้พูด หรือจับคนที่มาชุมนุม

“การเคารพเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐบาลไทยได้เซ็นให้การรับรองไว้กับยูเอ็น เหตุการณ์ที่ออกหมายเรียกนักวิชาการสร้างความกังวลใจให้กับเราอย่างมาก สิทธิในการพูด หรือแสดงออก รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุม จะทำให้เมืองไทยเข้มแข็ง เมื่อผู้คนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน และเก็บเกี่ยวจากมันจะส่งผลต่ออนาคตของประเทศ”

“จากประสบการณ์ของอเมริกา แม้จะเป็นประเทศเพิ่งเกิดใหม่ แต่เป็นประเทศที่ประชาธิปไตยใช้การมานานที่สุด เราคิดว่าเราเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จก็เพราะว่ามีประชาธิปไตย ที่ผู้คนสามารถตัดสินใจได้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ทุกคนเป็นคนเลือกไม่ว่าจะในระดับไหน ระดับล่างมาจนถึงระดับบน เมือง จังหวัด นี่เป็นสิ่งที่อเมริกาเชื่อมั่น และเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็ง” เอกอัครทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวสรุป

อนึ่ง ในวันพรุ่งนี้ 24 พ.ย.2558 เวลา 15:00 ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์และคณะ จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน ที่สภ.ช้างเผือก ซึ่งผู้สื่อข่าวจะติดตามรายงานต่อไป อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะในวงกว้าง รวมถึงมีความเคลื่อนไหวจากหลายกลุ่ม อาทิ เครือข่ายเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ได้ระดมรวบรวมรายชื่อนักวิชาการ พร้อมออกแถลงการณ์ "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน" เรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง หยุดข่มขู่คุกคามคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ

สอง หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง และ

และ สาม หยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องการ

พร้อมกันนั้นได้ประกาศส่งตัวแทนเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขังจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมทั้งจะแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้หยุดการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาในวันนี้(23 พ.ย.58)อีกด้วย

ด้านเครือข่ายพลเมืองสงขลาก็ออกแถลงการณ์ให้ยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการของ 6 นักวิชาการ กรณีการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร โดยเรียกร้องให้ยุติคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ พร้อมระบุว่าจะดำเนินการรณรงค์ในหมู่นักศึกษาและประชาชนเพื่อรวบรวมรายชื่อเพื่อให้ยุติท่าทีเช่นนี้


แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง

ฉบับที่ 6 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน

จากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง เห็นว่าการตั้งข้อหาจำคุกกับคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นการคุกคามให้ยุติการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของคณาจารย์เหล่านั้นเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ ปรารถนาดี และเปิดเผย และถือเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของคณาจารย์ที่ต้องแบ่งปันความคิดและความรู้กับสังคม ขณะเดียวกันคณาจารย์ที่เรียกร้องการปล่อยตัวนักศึกษาและแสดงความเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาที่ยังถูกข่มขู่คุกคามอย่างต่อเนื่อง นักศึกษายังคงถูกสั่งห้ามและตามกดดันในการจัดกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้สั่งให้บรรจุวิชายกย่องเชิดชูทหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพในการศึกษาอย่างสิ้นเชิง

เรายืนยันว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” หากแต่เป็นสถานที่แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง นำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพิ่มพูนสติปัญญาไปรับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปและแก้ไขปัญหาของประเทศ เสรีภาพในการแสวงหาความรู้และแสดงความคิดเห็นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและสังคม

เรายืนยันว่า “ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน” ประชาชนไทยมีความหลากหลายทางความเชื่อและความคิดทางการเมือง หนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้คือเสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง การปฏิบัติต่อประชาชนไทยประดุจผู้ถูกกักกันด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมดภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหูปิดตา บังคับข่มขู่ คุกคามด้วยอำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดเห็นมีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้น และไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสันติสุขได้

เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขังดังมีรายชื่อแนบท้ายจึงขอให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

1. หยุดข่มขู่คุกคามคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ

2. หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง และ

3. หยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องการ

ทั้งนี้ หากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เครือข่ายคณาจารย์จะพิจารณาการเคลื่อนไหวในระดับที่เข้มข้นขึ้นต่อไป



ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค

เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง

23 พฤศจิกายน 2558


แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองสงขลา

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2558

ยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการของ 6 นักวิชาการ กรณีการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

เครือข่ายพลเมืองสงขลาขอให้ คสช.หยุดคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารสืบเนื่องจากการที่มีนายทหารแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่นักวิชาการจำนวน6คน ที่มีการประชุมและแถลงข่าวเพื่อขอให้มหาวิทยาลัยมีเสรีภาพทางวิชาการ โดยไม่ถูกคุกคามจากฝ่ายความมั่นคง เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และต่อมาได้มีนายทหารไปแจ้งความและมีหมายเรียกเพื่อดำเนินคดี ซึ่ง2 ใน 6 นักวิชาการนั้นคือ อาจารย์จรูญ หยูทอง และ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ แห่งมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลาซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีบทบาทในการทำงานเคียงข้างภาคประชาชนเสมอมา

เครือข่ายพลเมืองสงขลาขอแสดงความเบื่อหน่ายกับ คสช. ที่ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างไม่เข้าเรื่อง นำอำนาจที่มีอยู่มาใช้ในการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ แทนที่จะไปทำในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูป การปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนก็ไม่กล้า แต่กลับหนุนการพัฒนาของทุนใหญ่โดยไม่สนใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำก็แก้ไขด้วยวาทกรรมการปราบโกงก็อึมครึมโดยเฉพาะกรณีของอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนถึงความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจและการข่มขู่คุกคามด้วยกลไกรัฐในการกดการทวงถามความจริงความถูกต้องจากประชาชนเครือข่ายพลเมืองสงขลาขอให้ คสช.ยุติการคุกคามเสรีภาพของนักวิชาการทั้ง 6ท่านในทันที พร้อมทั้งกล่าวขอโทษต่อความผิดพลาดในการใช้กลไกรัฐแจ้งความคุกคามเสรีภาพดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต

และทางเครือข่ายพลเมืองสงขลาจะดำเนินการรณรงค์ในหมู่นักศึกษาและประชาชนเพื่อรวบรวมรายชื่อและเรียกร้องให้ยุติการคุกคาม 6นักวิชาการและขอให้มีเสรีภาพอย่างน้อยก็ในรั้วมหาวิทยาลัยต่อไป

รายชื่อผู้เข้าร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองสงขลา

1. นพ.สุภัทรฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ
2. ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรชัย นาคสีทอง มหาวิทยาลัยทักษิณ
4. อาจารย์ปรเมศวร์ กาแก้ว มหาวิทยาลัยทักษิณ
5. ดร.พรไท สิริสาธิตกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ
6. ผศ.ดร.สุธิพร บุญมาก มหาวิทยาลัยทักษิณ
7. ผศ.ดร.อดิศร ศักดิ์สูง มหาวิทยาลัยทักษิณ
8. อาจารย์เจษฎา ทองขาว มหาวิทยาลัยทักษิณ
9. อาจารย์ชุลีพร ทวีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
10. อาจารย์สิทธิพร ศรีผ่อง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
11. อาจารย์กัลวดี เรืองเดช มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
12. อาจารย์มานะ ขุนสีช่วย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
13. อาจารย์ภัทรมน กาเหย็ม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
14. อาจารย์จารุณี คงกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
15. อาจารย์ลลิดา ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
16. อาจารย์อภิชาติ จันทร์แดง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
17. อาจารย์วิทยา อาภรณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
18. ผศ.ดร.เมตตา กูนิง คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
19. อาจารย์สุวรา แก้วนุ้ย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทาง

วัฒนธรรมภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

20. อาจารย์ตรีพิพัฒน์ บัวเนี่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
21. อาจารย์สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
22. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

23. นพ.อมร รอดคล้าย อาจารย์พิเศษสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาตใต้
24. เภสัชกรชโลม เกตุจินดา สมาคมผู้บริโภคสงขลา
25. นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการ สงขลาฟอรั่ม
26. นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
27. นายปิยะโชติอินทรนิวาส สื่อมวลชนและนักวิชาการอิสระ
28. ผศ.ดรประภาส ปานเจี้ยง นักวิชาการ
29. ว่าที่ร.ต.พร้อมศักดิ์ จิตจำ ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน
30. นางสาวศุภวรรณ ชนะสงคราม โครงการอาหารปันรัก
31. นายณขจร จันทวงศ์ สื่อมวลชน
32. ประนอบ คงสม เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนสงขลา
33. นางณัฑฐวรรณ อิสระทะ โรงเรียนสิทธิชุมชุนเขาคูหา
34. นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจเพื่อการเยียวยา

ผู้ประสบเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้

35. นายประสิทธิชัย หนูนวล ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน
36. นางสาวจิราพร อาวะภาค มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
37. นายสามารถ สุขบรรจง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
38. นายนฤชา ชนะถาวร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม
39. นายถนอม ขุนเพ็ชร์ สื่อมวลชนอิสระ
40. นางลัดดา จันทร์ศรี ภาคพลเมือง
41. นายกนกพลเล่าตระกูล ภาคพลเมือง
42. นางธัญกร แซ่โง้ว ภาคพลเมือง
43. นางจันทิมาชัยบุตรดี ภาคพลเมือง
44. นายสุไลมานหมัดยุโส๊ะ ภาคพลเมือง
45. นางสุไรด๊ะห์โต๊ะหลี ภาคพลเมือง
46. นายเอกนิยมเดชา ภาคพลเมือง
47. นางสะฝีเย๊าะ นิยมเดชา ภาคพลเมือง
48. นางสะปิน๊ะสังข์แก้ว ภาคพลเมือง
49. นายเจะหมัดสังข์แก้ว ภาคพลเมือง
50. นางสาวศิริรัตน์บุญเลื่อง ภาคพลเมือง