วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 12, 2559

คำต่อคำ "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ศาลรัฐธรรมนูญพลาด ! กรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมา




"วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ "คำต่อคำ ศาลรัฐธรรมนูญพลาด !


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

หมายเหตุ - ส่วนหนึ่งการสัมมนาหัวข้อ "การรักษาดุลยภาพทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย" ที่โรงแรมนาน่ารีสอร์ท แอนด์สปา จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม

วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมา ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวบ้านเมืองกำลังวุ่นวาย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บุกบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ หากขณะนั้นบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลและฝ่ายค้านจับมือกัน บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น เชื่อว่าตุลาการเสียงข้างมากคงจะใช้ดุลพินิจไม่สั่งยุบพรรค เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะนั้นบ้านเมืองวุ่นวาย หาทางออกไม่เจอ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องวินิจฉัยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ยืนยันว่าการวินิจฉัยครั้งนั้นไม่ได้เป็นไปตามกระแสหรือตามอำนาจที่ใครกล่าวหา ทั้งนี้ก่อนการพิจารณาครั้งนั้นศาลได้มีการย้ายสถานที่ในการพิจารณาวินิจฉัยจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (เดิม) เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของมวลชนที่มาปิดล้อมศาลเพื่อไม่ให้พิจารณาคดีดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นไปตามมาตรา 68 หรือไม่นั้น กว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติรับคำร้องใช้เวลาถกเถียงกันนานถึง 2 ชั่วโมงกว่า ตอนแรกถ้าไม่รับ สบาย ถ้ารับ เป็นเรื่อง แต่ก็กัดฟันรับไว้ก่อน เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง ไต่สวนและไม่มีไรก็จบ แต่ยอมรับว่าบางครั้งศาลก็ทำงานชุ่ยเกินไป สังเกตได้ว่าช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับก็ด่าคนรับทันที ไม่เห็นว่าจะด่าคนยื่น พอศาลอาญารับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญยื่นฟ้องแกนนำ นปช.กลับด่าคนยื่น นี่คือสองมาตรฐานชัดเจน

เราคำนึงถึงสังคมว่าไม่ควรมานั่งฟังคำวินิจฉัยของศาล แต่บางครั้งคำวินิจฉัยนั้นเข้าใจยาก เหมือนอย่าง "สุกเอาเผากิน" ดังนั้น คำวินิจฉัยต้องมีการอ่านในวันนั้น และเจ้าหน้าที่ก็ต้องยกร่างคำวินิจฉัย ณ วันนั้น ต้องเร่งทำคำวินิจฉัย ทำให้มีข้อผิดพลาดได้ง่าย อย่างคำวินิจฉัยในคดีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีจัดรายการอาหาร "ชิมไปบ่นไป" จึงมีข้อผิดพลาด หลังจากนั้น ผมจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง ต้องมีคำวินิจฉัยที่มีความจริงยุติก่อน และค่อยตามด้วยข้อกฎหมาย แต่ที่ผ่านมากลับนำเอาข้อกฎหมายขึ้นมาวินิจฉัยก่อน แล้วค่อยมาเป็นถกเถียงในเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจึงไม่ต้องการเอาแบบ "สุกเอาเผากิน" และเมื่อได้มติเสียงข้างมากในห้องประชุม ก็เอาคำวินิจฉัยมาปรับปรุงและนำมาเขียนเป็นร่างคำวินิจฉัย ซึ่งจะดูเนียนกว่าเดิมและเร็วขึ้นด้วย เพราะหลังจากอ่านคำวินิจฉัยผู้ร้องและผู้ถูกร้องสามารถมาคัดลอกคำวินิจฉัยได้อีก 15 วันถัดมา ตรงกับวิธีการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอ่านได้ทันและเร็วขึ้น เพราะมีการเตรียมการล่วงหน้า แต่ไม่ใช่เป็นการฟันธงไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะมีการเขียนคำวินิจฉัยไว้หลายๆ แบบ หากผลคำวินิจฉัยที่มีการถกเถียงกันออกมาเป็นอย่างไร ค่อยนำร่างที่ร่างไว้มาเขียนเป็นคำวินิจฉัย แต่ในบางครั้งคนเราหรือแม้กระทั่งตัวตุลาการแต่ละท่านมีความเข้าใจในคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีทีมโฆษกไว้ตอบคำถามสื่อมวลชน เพื่อให้หายข้อข้องใจ แต่สื่อมวลชนต้องพยายามที่จะเข้าใจ

- กรณีข้อครหาว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นตุลาการภิวัฒน์

กรณีนี้หากไม่มีใครทำผิดกฎหมาย จะไม่มีคดีเข้ามาให้ศาลพิจารณา ผมก็พร้อมตกงาน แต่ปรากฏว่ามีการทำผิดกันมาเรื่อยๆ ยิ่งถ้าคนทำผิดเป็นคนของตัวเองก็อยากให้ศาลวินิจฉัยให้ชนะ แต่ถ้าไม่ใช่ก็อยากให้แพ้ อีกทั้งมีการกล่าวหาว่าการพิจารณาของศาลมีการตั้งธงมาก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วกว่าที่จะตัดสินได้ ใช้เวลานานมากพอสมควร ดังนั้น อย่ามองว่าศาลเป็นพวกของคนนี้เป็นพวกคนนั้น

การยื่นร้องประเด็นน้ำท่วม ของแจก ต้องบอกว่าเวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน จะหวังให้ทุกคนทำถูกต้องตามเงื่อนไขไม่ไหวหรอก เราก็จำหน่ายคำร้องหมดทั้งคู่ เมื่อจำหน่ายเขาก็ว่าเราทั้งนั้น ไม่มีใครพอใจ จริงๆ ถ้าไม่มีใครทำผิด ก็ไม่ต้องทำหน้าที่ ก็สบาย เพราะฉะนั้นจะทำผิดกันทำไม สังคมอยากทำผิด แต่ไม่อยากถูกลงโทษ สังคมไทยเป็นอย่างนี้

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเกิดในช่วงที่มีความผันแปรทางการเมืองสูง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี 2549 และปี 2550 มีหน้าตาที่ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญมีความคลุมเครือจากทุกฝ่าย ซึ่งปัญหาถ้ามองจากการพัฒนาการเมือง การเมืองไทยในอดีตข้าราชการทหารเป็นใหญ่ การเมืองในระบอบดังกล่าว ข้าราชการประจำทำหน้าที่บริหารประเทศ ควบคุมกลไกนิติบัญญัติ ทำให้กฎหมายต่างๆ ต้องออกโดยข้าราชการประจำ จึงทำให้ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามาเป็นส่วนต่อขยายของกลุ่มข้าราชการ เป็นกลุ่มที่มาพึ่งพิงมาแสวงหาผลประโยชน์ แต่ขณะนี้การเมืองไทยเรากำลังเผชิญกับการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจโดยที่มีพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญ ซึ่งพรรคการเมืองที่มีนโยบายออกมาใหม่ๆ ตลอดจะสามารถระดมฐานคะแนนเสียงได้ด้วยตัวเอง

ศาลรัฐธรรมนูญน่าเห็นใจมากที่สุด เพราะสถานการณ์ท่ามกลางเวลานี้ พรรคการเมืองเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก เพราะฉะนั้น การรักษาดุลยภาพทางการเมืองต้องคำนึงด้วยกัน 2 เรื่อง คือดุลยภาพในแนวราบ หมายถึง การรักษาดุลยภาพระหว่างองค์กรกับองค์กรที่อยู่ในระนาบเดียวกัน และดุลยภาพในแนวดิ่ง หมายถึง การรักษาดุลยภาพในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและสิทธิของประชาชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องอยู่ในดุลยภาพในแนวดิ่ง เพราะมีพรรคการเมืองและมวลชนที่คอยสนับสนุนพรรคการเมือง จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ค่อนข้างจะรักษาดุลยภาพและสภาพแวดล้อมทางการเมืองได้ยากขึ้น ดังนั้น มองว่าองค์กรทางการเมือง สถาบันการเมือง ควรเคารพกติกา ไม่ล้ำเส้นกับองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ

"หลังปี 2540 ศาลรัฐธรรมนูญเกิดเป็นแนวดิ่ง เป็นองค์กรสำคัญที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองและมวลชนที่เป็นผู้สนับสนุนเป็นเหตุที่ทำให้การรักษาดุลยภาพทางการเมืองเป็นไปได้ยาก เพราะความยุ่งยากในการรักษาดุลยภาพทางการเมืองในขณะนี้มาจากพรรคการเมืองที่มีมวลชนเป็นฐานราก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแนวร่วม หรือพันธมิตรของพรรคการเมืองต่างๆ มักจะไม่มีเหตุผลและไม่รับฟังผู้อื่น"

ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีการปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับ ด้วยการเข้าถึงสื่อมวลชนให้มากขึ้น เพราะการตัดสินคดีต้องมีการอธิบายและขยายความเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย ซึ่งตัวตุลาการจะพูดแต่ตัวคำวินิจฉัยอย่างเดียว คนฟังก็จะเข้าใจยาก ดังนั้น น่าจะมีกลไกมาช่วยสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจการพิจารณาคดีมากขึ้น

เจษฎ์ โทณะวณิก

ผู้อำนวยการมหาบัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

การทำหน้าที่ของศาลตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะอำนาจตุลาการเป็นอำนาจ 1 ใน 3 ฝ่ายของระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าไม่ได้มีที่มาในทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกับอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ หากศาลรัฐธรรมนูญต้องการรักษาดุลยภาพในระบอบประชาธิปไตยกับอำนาจอื่นๆ นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องยอมรับกันว่า การทำหน้าที่ของตุลาการเป็นการทำหน้าที่ในทางเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากปฏิเสธหรือยกตัวไว้เหนือการเมือง อำนาจตุลาการจะไม่มีทางคานอำนาจอื่นๆ ได้เลย การสร้างดุลยภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เช่นเดียวกับประชาชนที่มักชอบมองการเมืองเป็นเรื่องสกปรก ไม่อยากเข้าไปข้องแวะหรือไม่อยากยุ่งกับในทางการเมือง แต่ในความเป็นจริง การเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนหลีกหนีไม่ได้ คนทั่วไปมักมองว่าการเมืองคือเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย การเมืองคือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งระบอบประชาธิปไตยนั้น การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นเรื่องที่ต้องมีทุกวัน สิ่งเหล่านี้ถึงจะทำให้การรักษาดุลยภาพทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้

ส่วนรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่ทุกคนต้องเคารพนั้น ยังมีข้อความบกพร่องคือ เป็นกฎหมายที่ไม่เคยเกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้จริง เพราะรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของประเทศไทยมีอายุสั้น ดังนั้นการรักษาดุลยภาพเป็นประเด็นที่สำคัญมาก และประชาชนควรจะต้องเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจังด้วย ว่าประชาธิปไตยคืออะไร รัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างไร ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ประชาชนเปลี่ยนความคิดว่าประชาธิปไตยคือลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งได้ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาดุลยภาพของทุกฝ่ายในทางการเมืองเกิดขึ้นได้

...

เรื่องเกี่ยวเนื่อง...


อีกตัวอย่างของความผิดพลาด ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรที่จะมีอำนาจล้นฟ้า ในรัฐธรรมนูญของ
มีชัย